‘สภาผู้บริโภค’ จี้ ‘ผู้ว่าฯกทม.’ เร่งรื้อถอนอาคาร ‘ดิเอทัส’ หลังผ่านไป 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา ‘ศาล ปค.สูงสุด’ ขู่หากไม่ดำเนินการรื้อถอน จะฟ้อง ม.157
..........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเวทีเสวนาถอดบทเรียน ‘10 ปี The Aetas กับการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด’ โดย น.ส.ณัฐวดี เต็งพานิชกุล ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า หลังจากศาลปกครองสูงสุด พิพากษาเมื่อปี 2557 ให้ระงับการใช้อาคาร ‘ดิ เอทัส’ และให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการรื้อถอนอาคารดังกล่าว เนื่องจากเป็นอาคารที่ก่อสร้างโดยผิดกฎหมาย
ปรากฎว่าในขั้นตอนการบังคับคดีนั้น กระบวนการรื้อถอนอาคารมีความล่าช้าอย่างมาก และถูกยื้อเวลาจากฝ่ายเอกชนเจ้าของอาคารมาโดยตลอด โดยเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2565 สำนักงานเขตปทุมวัน ได้นำบริษัท ทำเลไทย ธรรมชาติ จำกัด เข้าพื้นที่ฯเพื่อทำการรื้อถอนอาคาร 2 หลัง ที่ผิดกฎหมายของ ดิ เอทัส แต่ติดปัญหาว่า มีทรัพย์สินอยู่ภายใน จึงแจ้งคำสั่งให้บริษัทเอกชนเจ้าของอาคาร ดำเนินการย้ายทรัพย์สินออกจากอาคารพิพาทภายใน 30 วัน
เนื่องจากฝ่ายเอกชน เจ้าของอาคาร ไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินออกไป และต่อมายังพบปัญหาอีกว่า บริษัทฯเจ้าของอาคารมีการควบคุมการเข้าออกอาคารพร้อมกับกุญแจล็อกประตู และแจ้งว่า “ห้ามทำให้ทรัพย์สินทุกชิ้นภายในอาคารเสียหาย” ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้ยืดเยื้อมาจนถึงวันที่ 22 พ.ย.2566 แต่ผู้แทนเจ้าของอาคารยังคงประวิงเวลา และแจ้งว่าทางบริษัทฯ ยังไม่สะดวกในการส่งมอบพื้นที่ให้กับสำนักงานเขตปทุมวัน และไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด
กระทั่งต่อมาวันที่ 24 พ.ค.2567 สำนักงานเขตปทุมวัน ได้มีหนังสือส่งถึง บริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด ว่า จะดำเนินการเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการรื้อถอนอาคารทั้ง 2 หลังของ ดิ เอทัส ในวันที่ 29 พ.ค.2567 โดยขอให้บริษัทฯ ส่งมอบพื้นที่และบัญชีรายการทรัพย์สินให้กับสำนักงานเขตปทุมวัน แต่สุดท้ายไม่มีความคืบหน้าใดๆ ซึ่งเรื่องนี้ องค์กรผู้บริโภค เห็นว่า หากการรื้อถอนอาคาร ดิ เอทัส ไม่มีความคืบหน้า ก็จะต้องใช้กระบวนการทางกฎหมาย
“องค์กรผู้บริโภคสรุปความเห็นตรงกันว่า หากไม่เป็นไปตามที่รับปาก อาจต้องใช้กระบวนการทางกฎหมาย ยื่นฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เอาผิดผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทุกคน ฐาน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และที่สำคัญ กทม. ต้องแจ้งความดำเนินคดีอาญากับเจ้าของอาคารที่กระทำการผิดกฎหมายด้วย” น.ส.ณัฐวดี กล่าว
ด้าน ศ.เกียรติยศ นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ หนึ่งในประชาชนที่ยื่นฟ้องคดี ดิ เอทัส ซึ่งปัจจุบันอายุ 97 ปีแล้ว กล่าวว่า ตนต่อสู้ในเรื่องนี้มา 20 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ท้อ โดยเมื่อเดือน ก.ย.2548 ได้ร่วมต่อสู้กับผู้เสียหาย 24 คน ในคดีที่สำนักงานเขตปทุมวันปล่อยให้มีการก่อสร้างอาคารที่สูงในซอยร่วมฤดี ที่มีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว ซึ่งผิดกฎหมาย และทำให้ประชาชนเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ได้รับความเดือดร้อนจากการจราจรที่แออัด รวมถึงปัญหาอัคคีภัย
“เมื่อปี 2538 เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้อาคารภายในซอยร่วมฤดี แต่รถดับเพลิงไม่สามารถเข้ามาได้ทันท่วงทีเนื่องจากเป็นซอยขนาดเล็ก มีเพียงรถยนต์วิ่งไป-กลับ 2 เลน เท่านั้น แต่ในที่สุดเขตปทุมวัน กลับปล่อยให้มีการก่อสร้างอาคารที่สูงผิดกฎหมาย ดังนั้น การต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิด้านความปลอดภัยของที่อยู่อาศัย อย่างน้อยก็เป็นบทเรียนที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จึงขอให้ กทม. คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในการอนุมัติโครงการต่างๆด้วย ไม่ใช่เพียงคำนึงถึงผลทางเศรษฐกิจเท่านั้น” ศ.เกียรติยศ นพ.สงคราม กล่าว
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีถือเป็นบทพิสูจน์ว่า คำพิพากษาดังกล่าวจะเป็นแค่กระดาษที่ผู้บริโภคชนะคดี แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่
ขณะที่ผู้แทนหน่วยงานกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มาร่วมเวทีเสวนา ‘10 ปีแห่งบทเรียนดิเอทัส’ กล่าวว่า กทม. ได้เร่งดำเนินการรื้อถอนอาคารทั้ง 2 หลังของดิ เอทัส ที่ผิดกฎหมาย โดยจัดทำบัญชีทรัพย์สินเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่า วันที่ 1 ก.พ.2568 สามารถเดินหน้าได้
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเดือน ก.ย.2551 ศ.เกียรติยศ นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ และประชาชนในซอยร่วมฤดี ได้รวมตัวกันยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตปทุมวัน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครอง กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร โดยปล่อยให้บริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด ผู้ประกอบการโรงแรมดิ เอทัส ก่อสร้างอาคารสูง โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ต่อมาวันที่ 9 ก.พ.2555 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาให้ระงับการใช้อาคารและรื้อถอนอาคารดิ เอทัส เนื่องจากก่อสร้างโดยผิดกฎหมาย แต่ กทม. ยื่นอุทธรณ์ กระทั่งต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2557 พิพากษายืนตามศาลปกครองกลางให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้อำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 สั่งให้รื้อถอนอาคาร ดิ เอทัส ที่ก่อสร้างโดยผิดกฎหมาย
เนื่องจากตาม ข้อ 2 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 33 พ.ศ.2535 ออกตามความในพ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดว่า ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้น ไม่เกิน 30,000 ตารางเมตร ต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินนั้นยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมกับถนนสาธารณะอื่น ที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร แต่ผ่านมา 10 ปี
อย่างไรก็ตาม หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษามาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว แต่อาคารดิ เอทัส ก็ยังไม่ถูกรื้อถอนแต่อย่างใด