'คมนาคม' เตรียมทำหนังสือแจ้ง กทม. ถึงมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย ต้องเป็นจริงในเดือน ก.ย. 68 นี้ เผยคุย 'ชัชชาติ' เบื้องต้นแล้ว ด้าน กทม.พร้อมตอบรับ แต่ไม่แก้สัญญาสัมปทาน ชี้รัฐบาลต้องชดเชยรายได้เท่านั้น มอบ 'กรุงเทพธนาคม' คำนวณตัวเลขแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 จากกรณีที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้กรมขนส่งทางราง (ขร.) จัดทําข้อกําหนดทางธุรกิจ (Business Rule) เช่น เงื่อนไขการเดินทาง การคิดอัตราค่าโดยสาร การจัดแบ่งและชดเชยรายได้ และแหล่งเงินชดเชย เป็นต้น และระยะต่อไปการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเข้าเจรจากับภาคเอกชนที่ได้รับสัมปทานรถไฟฟ้าเพื่อแก้ไขสัญญาสัมปทาน
โดยคาดว่าภายในเดือนสิงหาคม 2568 จะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบ หลังจากนั้น รฟม. จะดำเนินการลงนามแก้ไขสัญญาฯ ดังนั้นกระบวนการต่างๆ จะแล้วเสร็จทั้งหมด ก่อนที่มาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะเริ่มภายในช่วงเดือนกันยายน 2568 นั้น
@รฟม.รับบัญชา ดำเนินการรถไฟฟ้า 'น้ำเงิน-ชมพู-เหลือง' ชี้รัฐต้องได้ประโยชน์เพิ่ม
ล่าสุด นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ รฟม.ฝ่ายปฏิบัติการ ในฐานะรักษาการผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า รฟม.มีสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า 3 โครงการ คือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีชมพู สายสีเหลือง เป็น สัญญาร่วมลงทุน PPP Net Cost ที่เอกชนรับความเสี่ยงเรื่องรายได้ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มและส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นไปด้วย ทำให้ความเสี่ยงของเอกชนลดลง ดังนั้น รัฐควรได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์เพิ่มขึ้นจากที่เอกชนได้รับเพิ่มเช่นกัน จึงต้องมีการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทาน
โดยหลักการแก้ไขสัญญาสัมปทาน จะไม่มีประเด็นการขยายระยะเวลาสัญญา และรูปแบบการร่วมลงทุนเป็น PPP Net Cost (รูปแบบการลงทุนที่เอกชนได้รับสิทธิ์ในการจัดเก็บรายได้และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง ซึ่งเอกชนจะต้องรับความเสี่ยงจากการดำเนินงานทั้งหมด) เหมือนเดิม แต่เป็นเรื่องการเจรจาเรื่องแบ่งผลประโยชน์ กรณีที่เอกชนได้ประโยชน์ก็ต้องแบ่งให้รัฐมากขึ้น ซึ่งสัญญาสัมปทานมีหลายข้อ เช่น กำหนดอัตราค่าโดยสารที่ 14 บาท – 45 บาท และปรับขึ้นทุก 5 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค ซึ่งเมื่อมีนโยบาย 20 บาทตลอดสาย ตรงนี้ก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว หรือบางสัญญามีการแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐ เช่น สัญญา สายสีน้ำเงินระหว่างรฟม.กับ BEM นั้น รฟม.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่ 15% ส่วนสีชมพู สีเหลืองตามเงื่อนไข จำนวนผู้โดยสารตอนนี้ยังไม่ถึงที่เอกชนจะแบ่งรายได้ให้รฟม.
“ปัจจุบันสัญญากำหนดอัตราค่าโดยสาร จะมีค่าเฉลี่ยที่นำไปคูณกับจำนวนผู้โดยสาร เช่นออกมาเป็นรายได้ที่ x บาท เมื่อใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ผู้โดยสารเพิ่มจนทำให้รายได้เพิ่มเป็น X+Y ซึ่งY ที่เพิ่มขึ้นมานั้น จะแบ่งกับรัฐอย่างไรเพราะเป็นการเพิ่มจาก นโยบาย 20 บาท ตรงนี้ต้องเจรจากัน เป็นต้น” นายวิทยากล่าว
อย่างไรก็ตามรฟม.จะดำเนินการในส่วนของรถไฟฟ้า ที่อยู่ในกับสัญญา ส่วนโครงการสายสีเขียว อยู่ภายใต้กำกับของกรุงเทพมหานคร(กทม.) อาจจะต้องเป็นรัฐบาลที่เข้าไปดูแล
วิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าฯรฟม.ฝ่ายปฏิบัติการ ในฐานะรักษาการผู้ว่าฯ รฟม.
@'คมนาคม' เตรียมทำหนังสือแจ้ง กทม. สัปดาห์นี้
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงคมนาคม เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการติดต่ออย่างไม่เป็นทางการไปยังนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.แล้วว่า กระทรวงจะทำหนังสือไปถึง คาดว่าจะทำหนังสือไปภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งภายในหนังสือจะระบุว่า รัฐบาลกำลังจะมีนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งคาดว่าจะทำให้ผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ กทม.กำกับดูแลมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30% และจะมีการแนบรายละเอียดต่างๆของมาตรการนี้ให้รับทราบ
"โดยกระทรวงคมนาคมคาดหวังให้ผู้ว่าฯกทม.ไปเจรจากับเอกชนที่ถือสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวคือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ตามเงื่อนไขที่ระบุใน พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) ซึ่งในส่วนของกระทรวงโดยรฟม.จะมีการระบุการแบ่งปันรายได้ชัดเจน แต่ในส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว กระทรวงเราเข้าใจดีว่า ตอนก่อสร้าง คุณคีรี (กาญจนพาสน์) เจ้าของ BTSC ลงทุนเองทั้งหมด รัฐไม่ได้ช่วยอะไร ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับกทม.ว่าจะเจรจาออกมาอย่างไร" แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุ
แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงคมนาคมกล่าวต่อไปว่า หลังจากเจรจากันแล้ว กทม.ต้องทำหนังสือรายงานไปยังคณะกรรมการกำกับโครงการที่มีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เมื่อมีการรายงานกันแล้ว ก็สามารถทำตามนโยบาย 20 บาทได้เลย ไม่ต้องมารายงานกระทรวงคมนาคมอีก
@กทม.ยันไม่แก้สัญญาสัมปทาน รัฐต้องอุดหนุนงบประมาณ
ขณะที่แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมเคยแจ้งให้ทราบแล้วว่า จะทำนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายภายในเดือน ก.ย. 2568 และให้ทางกทม.บอกมาเลยว่า จะทำอย่างไรให้สามารถร่วมในนโยบายนี้ได้ เบื้องต้น กทม.ยืนยันแล้วว่า การทำนโยบาย 20 บาทตลอดสายของกระทรวงคมนาคม จะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับตัวสัญญาสัมปทานเด็ดขาด กทม.ยืนยันว่าจะไม่แก้สัญญาหรือทบทวนสัญญาสัมปทานใหม่แน่นอน ดังนั้น หนทางที่จะทำให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวร่วมในมาตรการนี้ได้คือ รัฐบาลกลางจะต้องออกงบประมาณอุดหนุนชดเชยเท่านั้น
แหล่งข่าวจากกทม.กล่าวต่อว่า ปัจจุบันค่าโดยสารเฉลี่ยของรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ไม่รวมส่วนต่อขยาย) อยู่ที่ 33 บาท/คน มีส่วนต่างที่รัฐบาลต้องอุดหนุน 13 บาท/คน แน่นอนว่าเมื่อราคาถูกลง ผู้โดยสารจะต้องเพิ่ม ดังนั้น ตอนนี้ กทม.กำลังศึกษาความเป็นไปได้ว่า หากเข้าร่วมมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทแล้ว จะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเท่าไหร่? และต้องหาเงินมาชดเชยเท่าไหร่?
เมื่อถามว่า ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่งและช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - คูคตและช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ ทำไมไม่เอามาคิดคำนวณค่าโดยสารด้วย แหล่งข่าวจากกทม.ระบุว่า ปัจจุบันส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม.เก็บค่าโดยสารที่ 15 บาท ซึ่งน้อยกว่าต้นทุนจริงอยู่แล้ว และปัจจุบันขาดทุนด้วยซ้ำ แต่หากกทม.เข้าร่วมมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ก็ต้องมาคิดว่า รัฐบาลต้องชดเชยให้กทม.เท่าไหร่ เพราะต้นทุนเดินรถส่วนสัมปทานหลักและส่วนต่อขยายไม่เท่ากัน แต่มาตรการดังกล่าวมันจะต้องครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งได้มอบหมายให้บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) ไปศึกษาตัวเลขที่ต้องชดเชยให้กทม. คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ โดยปัจจุบันรายได้การเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนสัมปทานหลักอยู่ที่ 25 ล้านบาท/วัน
ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีทองช่วงกรุงธนบุรี - คลองสาน แหล่งข่าวจากกทม.กล่าวว่า ปัจจุบันกทม.เก็บค่าโดยสารที่ 16 บาทตลอดสายอยู่แล้ว เป็นราคาที่ต่ำมากอยู่แล้ว คงไม่จำเป็นต้องร่วมในมาตรการนี้แต่อย่างใด