‘บอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ’ ไฟเขียว ‘แผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ’ ดึงงบกลางฯ 1.57 แสนล. พร้อมชะลอ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ออกไปก่อน ด้าน ‘นายกฯ’ ยอมรับทบทวนแจก 'เงินหมื่น'
........................................
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดย น.ส.แพทองธาร กล่าวก่อนเริ่มการประชุมฯ ว่า วันนี้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน เนื่องจากสงครามการค้าและการประกาศจัดเก็บภาษี Reciprocal Tariff ของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้า รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกของไทย และทำให้รายได้ของประชาชนในภาพรวมลดลง
“การจัดเก็บภาษีรายได้ของรัฐบาลคาดว่าจะต่ำกว่าเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องทบทวนแผนงานและโครงการต่างๆ ของรัฐบาล รวมถึงต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวให้มากขึ้น ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและผู้ประกอบการ SMEs” น.ส.แพทองธาร กล่าว
น.ส.แพทองธาร ยังกล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการฯในวันนี้ (19 พ.ค.) ขอให้ทุกท่านร่วมกันคิด เพื่อเสนอแผนการและโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยขอให้ทุกฝ่ายพิจารณากันอย่างรอบคอบ เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกิดประโยชน์เต็มที่ และที่สำคัญต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นลง น.ส.แพทองธาร ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3 ว่า รัฐบาลจะทบทวนหรือเดินหน้าต่อ โดยนายกฯ กล่าวว่า “ทบทวน เดี๋ยวให้กระทรวงการคลังแถลง”
ด้าน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท และเห็นชอบทบทวนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
“แผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 1.57 ล้านบาท จะใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง นำเสนอแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดังกล่าว ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)โดยเร็ว” นายจิรายุ กล่าว
นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุมฯยังมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งอนุกรรมการกำกับและติดตามผลการดำเนินงานตามแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเห็นชอบแบบฟอร์มการพิจารณาโครงการตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2568 รวมถึงเห็นชอบกรอบระยะเวลาและขั้นตอนการดำเนินการในเบื้องต้น เพื่อดำเนินการตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท โดยให้สามารถดำเนินการได้ทันภายในปีงบฯ 2568 และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาข้อเสนอโครงการต่อไป
แหล่งข่าวจากที่ประชุม กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ในส่วนการดำเนินการโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3 นั้น ที่ประชุมฯมีมติว่าให้ชะลอโครงการฯออกไปก่อน
@ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ เม.ย.68 ลด-ชง 3 ข้อเสนอแนะ
วันเดียวกัน (19 พ.ค.) นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมด้วยนายพิภพ โชควัฒนา กรรมการบริหาร ส.อ.ท. และรองประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ ร่วมแถลงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย.2568 โดยดัชนีฯอยู่ที่ 89.9 ปรับตัวลดลง จาก 91.8 ในเดือน มี.ค.2568 ซึ่งเป็นผลจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวจากวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ประกอบกับมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งส่งกระทบการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์ที่มีแนวโน้มลดลง โดยในเดือน มี.ค.2568 การส่งออกลดลง -9.36% (YoY) จากมาตรการขึ้นภาษีรถยนต์ของสหรัฐฯ รวมถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งส่งผลให้เกิดการชะลอการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์แนวดิ่ง และกระทบต่อความเชื่อมั่นในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงสินค้านำเข้าจากจีนและปัญหาการสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดสินค้าไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ในเดือน เม.ย. ยังคงมีปัจจัยบวกจากการชะลอการบังคับใช้ Reciprocal Tariff ออกไป 90 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดช่วงต้นเดือน ก.ค.2568 โดยยังคงจัดเก็บภาษีนำเข้า Baseline Tariff 10% กับทุกประเทศ ส่งผลให้เกิดการเร่งนำเข้าสินค้าบางประเภทจากสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากการจัดกิจกรรม Maha Songkran World Water Festival 2025
นอกจากนี้ มาตรการเยียวยาแผ่นดินไหว วงเงินไม่เกิน 49,500 บาทต่อหลัง และลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนองเหลือ 0.01% ส่งผลดีต่อคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้างจากการใช้จ่ายในการซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,359 ราย ครอบคลุม 47 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือน เม.ย.2568 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ 58.4% เศรษฐกิจโลก 58.0% และสถานการณ์การเมืองในประเทศ 44.0% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) 36.2% ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน 25.0% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 14.9%
สำหรับดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยอยู่ที่ระดับ 93.3 ลดลงจาก 95.7 ในเดือน มี.ค.2568 เนื่องจากผู้ประกอบยังคงห่วงกังวลในเรื่องความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง และนักลงทุนอาจชะลอการลงทุนโดยเฉพาะในภาคการผลิตอุตสาหกรรม ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีแนวโน้มชะลอตัว และสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลกระทบต่อปัญหาอุทกภัยในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้
อย่างไรก็ดี การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.75% ต่อปีนั้น ได้ช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการและเพิ่มกระแสเงินสดให้กับธุรกิจ
นอกจากนี้ ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐใน 3 ประเด็น ได้แก่
1.เสนอให้ภาครัฐเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าจากต่างประเทศที่เข้ามาสวมสิทธิ์ใช้ประเทศไทยในการส่งออก เช่น การออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (C/O) การตรวจสอบกระบวนการผลิตและการนำเข้า/ส่งออกสินค้าสำเร็จรูปในพิกัดศุลกากรเดียวกัน และติดตามพฤติกรรมการค้าของผู้ประกอบการที่มีการส่งออกไปสหรัฐฯ
2.เสนอให้ภาครัฐจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาด้านการตลาดและการส่งออกครบวงจรในระดับภูมิภาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในการเข้าถึงตลาด รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local content)
3.สนับสนุนภาครัฐในการเจรจาความร่วมมือความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement - FTA) ตามแผนเพื่อเปิดตลาดสินค้า การค้าและการลงทุนในระดับสูง เช่น ไทย-สหภาพยุโรป (EU), ไทย-เกาหลีใต้ (KTEPA), ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (CEPA) และอาเซียน-แคนาดา (ACAFTA)
อ่านประกอบ :
เปิดคำสั่ง'นายกฯ'มอบ'รมว.คลัง'ทบทวนใช้'งบกระตุ้นศก.-งบปี 69'รองรับผลกระทบ'สงครามการค้า'
‘แพทองธาร’ แทงกั๊ก ยกเลิก ‘แจกเงินหมื่น’ อ้าง รอฟังความเห็น - ‘ภาษีทรัมป์’
'รัฐบาล'ส่อยกเลิกแจก'เงินหมื่นดิจิทัล' เก็บกระสุน 1.5 แสนล. รับมือผลกระทบ'ภาษีทรัมป์'