เปิดรายละเอียด ‘แผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ’ 1.57 แสนล้าน มุ่ง ‘ลงทุน’ มากกว่า ‘กระตุ้นระยะสั้น’ ที่เน้น ‘การบริโภค’ กำหนด 8 หลักเกณฑ์จัดสรรงบฯ ‘ห้ามแบ่งซื้อแบ่งจ้าง-เน้นกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ-สร้างโอกาสประกอบอาชีพ’
.................................
จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กรอบวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท ซึ่งครอบคลุมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและคมนาคม การท่องเที่ยว การลดผลกระทบส่งออกและเพิ่มผลิตภาพ ตลอดจนเศรษฐกิจชุมชนและอื่นๆ โดยมีเป้าหมายกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อรักษาการจ้างงาน และวางรากฐาน นั้น (อ่านประกอบ : ครม.เคาะ‘แผนขับเคลื่อนศก.’1.57 แสนล. ลงทุนระบบ'น้ำ-ถนน'-ลดผลกระทบส่งออก-อัดฉีดงบ‘ฐานราก’)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการพิจารณาเรื่องนี้ กระทรวงการคลัง โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง ได้เสนอเอกสาร เรื่อง แผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ให้ ครม.พิจารณา และ ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ โดยเอกสารดังกล่าว ได้ระบุถึงหลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ ลักษณะโครงการฯ รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรงบเพื่อการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 157,000 ล้านบาท ดังนี้
หลักการและเหตุผล
1.เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.5 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 2.0 ในปี 2566 แต่ถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่อยู่ในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับเฉลี่ยร้อยละ 3.5 ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด (ปี 2560-2562) หรือในช่วง 3 ปีแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (แผนพัฒนาฯ) ฉบับที่ 12 และยังต่ำกว่าที่เคยขยายตัวได้ร้อยละ 5.8 ในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (ปี 2545-2549) รวมทั้งต่ำกว่าเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.0 ต่อปี
ส่วนหนึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มเผชิญกับข้อจำกัดในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลเนื่องจากการชะลอตัวลงของการลงทุนเพื่อยกระดับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิต ผลิตภาพการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากปัจจัยแรงงานลดลงท่ามกลางการเช้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป
และมีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถยกระดับการพัฒนาออกจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม อีกทั้งด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีความจำเป็นต้องเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเน้นการลงทุนมากกว่ากระตุ้นในระยะสั้นที่เน้นการบริโภค เพื่อตอบโจทย์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อวางรากฐานการเติบโตในระยะยาว จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่
2.งบประมาณรายจ่ายประจำปีประมาณ พ.ศ.268 ได้กำหนดวงเงินงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวน 187,800 ล้านบาท ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2567 เห็นชอบให้ใช้วงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท จากรายการดังกล่าว เพื่อดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ โดยโครงการดังกล่าวมีการเบิกจ่ายงบประมาณ จำนวน 30,434.92 ล้านบาท และปัจจุบันวงเงินงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจคงเหลือ จำนวน 157,265.08 ล้านบาท
3.ดังนั้น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบได้อย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสำคัญ โดยเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มผลิตภาพการผลิต และการรักษาระดับการจ้างงาน โดยเฉพาะในภาคการผลิตและส่งออกที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้า เพื่อช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
วัตถุประสงค์
1.เพื่อดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผันผวน
2.เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเน้นการลงทุนมากกว่าการกระตุ้น
ลักษณะของโครงการตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฯ
โครงการที่จะดำเนินการต้องมีส่วนช่วยในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยให้เอื้อต่อการเติบโต โดยจำแนกเป็น 3 แผน ได้แก่
1.แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรันการสร้างฐานเศรษฐกิจระยะยาวและแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Hardware) ระยะสั้น ที่จำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท โดยแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ (1) โครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและด้านคมนาคม (2) ด้านการท่องเที่ยว (3) ด้านการลดผลกระทบการส่งออก/เพิ่มผลิตภาพ และ (4) ด้านเศรษฐกิจชุมชนและอื่นๆ ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการจัดทำแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างฐานของเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย
2.แผนการลงทุนในทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นการลงทุนในระยะยาว เช่น การสนับสนุนโครงการ 1 ตำบล 1 ทุน (ODOS) การสนับสนุนกองทุนเพื่อความเสมอภาคการศึกษา การสนับสนุนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นต้น
3.การปรับแผน/ปลดล็อกกฎเกณฑ์ต่างๆ ได้ระยะยาว เช่น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง การกำกับดูแลและธรรมาภิบาล และการปลดล็อกระบบและพ่อค้าคนกลาง เป็นต้น
หลักเกณฑ์การจัดสรรเพื่อการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 157,000 ล้านบาท
1.เป็นการลงทุนหรือการใช้จ่ายที่สามารถกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมและรักษาการจ้างงาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาชุมชน การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยีในการพัฒนาเศรษฐกิจ
2.เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพื่อการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนหรือภาคธุรกิจ หรือเพื่อการวางรากฐานเศรษฐกิจให้กับประเทศ ซึ่งมีความพร้อม สามารถผูกพันและดำเนินการแล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ จะต้องไม่กระทบกับการดำเนินภารกิจปกติของหน่วยงาน ตามที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568
3.การจัดซื้อจัดจ้าง ให้ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อย่างเคร่งครัด โดยไม่เป็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง/ไม่เป็นการแบ่งย่อยโครงการใหญ่ออกเป็นโครงการขนาดเล็กจำนวนมาก
4.กรณีเป็นการก่อสร้าง ต้องมีความพร้อมทั้งแบบรูปรายการและพื้นที่ดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
5.ควรให้ความสำคัญกับการดำเนินการที่จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงการดำเนินการในจังหวัด/พื้นที่ รวมถึงความต้องการของภาคเอกชน
6.กรณีเป็นโครงการที่มีการดำเนินการในหลายพื้นที่ ควรต้องคำนึงถึงการกระจายของพื้นที่ดำเนินการด้วย
7.ควรเป็นการดำเนินการที่หน่วยงานรับผิดชอบมีความพร้อมในการบริหารจัดการต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน
8.มีความคุ้มค่าในการดำเนินการ (Value for Money)
รายละเอียดข้อเสนอโครงการ/มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เบื้องต้น)
คณะกรรมการฯ (คณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ) ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอโครงการ/มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เบื้องต้น) ซึ่งครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและคมนาคม การท่องเที่ยว การลดผลกระทบส่งออกและเพิ่มผลิตภาพ ตลอดจนเศรษฐกิจชุมชนและอื่นๆ โดยมีเป้าหมายกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ รักษาการจ้างงาน และวางรากฐานการเติบโตระยะยาวของประเทศ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1.โครงสร้างพื้นฐาน
ด้วนน้ำ ประกอบด้วย (1) ป้องกันอุทกภัยในช่วงฤดูฝน และกักเก็บน้ำไว้สำหรับฤดูแล้ง (2) กระจายน้ำไปยังชุมชนและพื้นที่ต่างๆ ผลิตเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรในพื้นที่ทั่วประเทศ และ (3) พัฒนา/ปรับปรุงระบบประปา
ด้านคมนาคมขนส่ง ประกอบด้วย (1) แก้ไขปัญหาด้านการจราจรในพื้นที่ที่เป็นคอขวด และขาดความเชื่อมโยง (Bottleneck/Missing Link) (2) เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง (3) แก้ไขปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟและถนนเสมอระดับ (4) ก่อสร้าง/ปรับปรุงพักรถบรรทุก เพื่อให้สามารถบังคับใช้ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 และ (5) ปรับปรุง/พัฒนาถนนเชื่อมโยงเมืองรอง แหล่งท่องเที่ยว และพื้นที่การผลิต
2.การท่องเที่ยว
ด้านการพัฒนาภาคการท่องเที่ยว ประกอบด้วย (1) ปรับปรุง/พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สนามกีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ห้องน้ำ หอพัก สถานที่ ป้ายบอกทาง (2) พัฒนาระบบอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว (3) พัฒนาและยกระดับความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว อาทิ การติดตั้งระบบ CCTV ในพื้นที่เมือท่องเที่ยวที่สำคัญ และ (4) กระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองรอง
3.ลดผลกระทบจากการส่งออก/เพิ่มผลิตภาพ
ด้านการเกษตร เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร อาทิ การสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกให้เหมาะสม
ด้านการลดผลกระทบแรงงาน สนับสนุนมาตรการการเงินการคลัง สนับสนุนสินเชื่อ (เฉพาะผู้ประกอบการส่งออก) เพื่อส่งเสริมการจ้างงานให้กับกองทุนประกันสังคม
ด้านดิจิทัล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และการค้าระหว่างประเทศ
4.เศรษฐกิจชุมชนและอื่นๆ
กองทุนหมู่บ้าน (SML) สนับสนุนงบประมาณแก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเป็นแหล่งเงินให้กับประชาชนในพื้นที่และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
โครงการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและอื่นๆ พัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาชุมชนที่เป็นความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ในพื้นที่
โครงการการพัฒนาทุนมนุษย์ด้านการศึกษาเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจให้กับประเทศ
การกำกับติดตามผลการดำเนินงาน
คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับ และติดตามผลการดำเนินงาน โดยมีรองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อกำกับและติดตามผลการดำเนินงานของโครงการและมาตรการต่างๆ ตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฯ ตลอดจนรายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมการฯ ทราบต่อไป
แหล่งเงินในการดำเนินโครงการ
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ วงเงินไม่เกิน 157,000 ล้านบาท
ระยะเวลาการดำเนินการ
1) การจัดทำข้อเสนอโครงการและคำของบประมาณ : หน่วยรับงบประมาณจัดทำข้อเสนอโครงการตามแบบฟอร์มการพิจารณาโครงการตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2568 ที่กำหนด ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากระบบอิเล็กทรอนิกส์บนเว็บไซต์สำนักงบประมาณ (www.bb.go.th) โดยเสนอผ่านรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาตามที่คณะกรรมการฯ ได้มอบหมาย พร้อมทั้งเสนอโครงการดังกล่าวต่อสำนักงบประมาณ โดยนำส่งแบบฟอร์มข้างต้น (Upload) ในระบบอิเล็กทรอนิกส์บนเว็บไซต์สำนักงบประมาณ (www.bb.go.th) ในคราวเดียวกันด้วย ภายในเดือน พ.ค.2568
2) การพิจารณาอนุมัติโครงการ : คณะกรรมการฯ รวบรวมข้อเสนอโครงการที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติภายในเดือน มิ.ย.2568
3) การขอรับจัดสรรงบประมาณ : หน่วยรับงบประมาณนำส่งโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้สำนักงบประมาณ โดยสำนักงบประมาณจะพิจารณารายละเอียดโครงการและจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ พ.ศ.2567 ภายในเดือน ก.ค.2568
ประโยชน์และผลกระทบ
แผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฯ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยการเร่งรัดการใช้จ่ายผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการจ้างงาน กระจายรายได้ และสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนในทุนมนุษย์และการปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เอื้อต่อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพิ่มผลิตภาพแรงงาน และวางรากฐานการพัฒนาในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม แผนการขับเคลื่อนดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการคลัง โดยเฉพาะระดับหนี้สาธารณะและภาระงบประมาณ จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบภายใต้กลไกการติดตามและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ
อ่านประกอบ :
ครม.เคาะ‘แผนขับเคลื่อนศก.’1.57 แสนล. ลงทุนระบบ'น้ำ-ถนน'-ลดผลกระทบส่งออก-อัดฉีดงบ‘ฐานราก’
‘บอร์ดกระตุ้นฯ’ไฟเขียว‘แผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ’1.57 แสนล.-ชะลอแจกเงินหมื่น‘ดิจิทัลวอลเล็ต’
เปิดคำสั่ง'นายกฯ'มอบ'รมว.คลัง'ทบทวนใช้'งบกระตุ้นศก.-งบปี 69'รองรับผลกระทบ'สงครามการค้า'
‘แพทองธาร’ แทงกั๊ก ยกเลิก ‘แจกเงินหมื่น’ อ้าง รอฟังความเห็น - ‘ภาษีทรัมป์’
'รัฐบาล'ส่อยกเลิกแจก'เงินหมื่นดิจิทัล' เก็บกระสุน 1.5 แสนล. รับมือผลกระทบ'ภาษีทรัมป์'
ขาดดุล 4.3% ต่อจีดีพี! ครม.ไฟเขียว‘ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ’ปี 69 วงเงิน 3.78 ล้านล.