“…จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีความเห็นว่าการสร้างแนวป้องกันกรงเทพมหานคร และปริมณฑล น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่า หรือดำเนินการเพิ่มเมืองศูนย์กลางระดับภาคและศูนย์กลางรองระดับภาคเพื่อสร้างสมดุลให้แก่ระบบเมืองของประเทศ…”
........................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ครม. รับทราบผลการพิจารณา เรื่อง ญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งที่ 2 ของประเทศไทย หรือการสร้างแนวป้องกันกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ประสบปัญหากำลังจะจมบาดาล ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
อย่างไรก็ดี ในการเสนอวาระดังกล่าว กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีความความเห็นว่า จากข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ได้ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาแล้ว และมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและถาวร
สำหรับการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพมหานครไปสู่จังหวัดอื่น เห็นว่า ต้องมีการศึกษาพิจารณาให้ครอบคลุมทุกมิติอย่างรอบด้านและละเอียดรอบคอบ ทั้งความเหมาะสมทางเชิงภูมิศาสตร์ สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ระบบราชการ ตลาดแรงงาน เทคโนโลยีและการสื่อสาร การคมนาคมขนส่งสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยจะต้องผ่านกระบวนการทำประชามติและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องมีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก
จึงมีความเห็นว่า การดำเนินการหาแนวทางการสร้างแนวป้องกันกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ประสบปัญหากำลังจะจมบาดาล น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่า หรือแนวทางในการเพิ่มเมืองศูนย์กลางระดับภาคเพื่อกระจายความเจริญและสร้างสมดุลให้แก่ระบบเมืองของประเทศ
ส่วนความเหมาะสมของจังหวัดนครราชสีมาที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ต้องมีการศึกษาด้านทรัพยากรน้ำในทุกมิติให้เกิดความมั่นคงทางน้ำและความสมดุลกับความต้องการน้ำในอนาคต
และควรมีการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำเสีย และการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งควรมีการศึกษาแนวทางการย้ายเมืองหลวงของประเทศอื่นที่เคยมีหรือจะมีการย้ายเมืองหลวงเป็นแนวทางและเทียบเคียงด้วย นั้น (อ่านประกอบ : ‘มหาดไทย’เมินไอเดียย้าย‘เมืองหลวง’ แนะหาทางสร้างแนวป้องกัน‘กรุงเทพฯ-ปริมณฑล’จมบาดาล)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสรุปสาระสำคัญผลการพิจารณา เรื่อง ญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งที่ 2 ของประเทศไทย หรือการสร้างแนวป้องกันกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ประสบปัญหากำลังจะจมบาดาล รวมถึงความเห็นและข้อสังเกตของ 'หน่วยงานของรัฐ' ดังนี้
@ชี้‘นครราชสีมา’เหมาะสมเป็น‘เมืองหลวงแห่งใหม่’
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งที่ 2 ของประเทศไทย หรือการสร้างแนวป้องกันกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่ประสบปัญหากำลังจะจมบาดาล โดยขอให้ ครม.รับทราบญัตติ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาศึกษาแนวทางที่เหมาะสมของข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้
-ควรมีแผนการจัดการน้ำที่ดี กล่าวคือ แผนระยะกลาง โดยการสร้างเมืองฟองน้ำ (Sponge City) แบบเมืองอู่ฮั่นของประเทศจีน โดยใช้ระบบพื้นที่สีเขียว (Green Space) สวนชับน้ำฝน (Rain Garden) และการเปลี่ยนแปลงผิวถนนให้สามารถดูดซึมน้ำลงไปกักเก็บใต้ถนนเพื่อรอระบายทีหลังได้ และการปลูกหญ้าแฝก
และแผนระยะยาว โดยการสร้างระบการป้องกันน้ำ ซึ่งมีกรณีศึกษาจากเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย และประเทศเนเธอร์แลนด์ ในมิติสิ่งแวดล้อม การประมง และการขนส่งทางเรือ
-ควรมีโครงสร้างการป้องกันชายฝั่ง โดยการทำโครงสร้างแบบแข็ง เช่น เขื่อนกันคลื่น กำแพงกันคลื่นเพื่อรอดักทราย เป็นต้น และโครงสร้างแบบอ่อน เช่น เนินทราย ป่าชายเลน เป็นต้น ควบคู่กัน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลักและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
-การย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพมหานครไปสู่จังหวัดอื่น ควรมีการทำประชามติ เพื่อสอบถามความต้องการของประชากร เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีประชากรและข้าราชการจำนวนมาก หากมีการย้ายเมืองหลวงจะทำให้เกิดผลกระทบและเป็นการสร้างภาระเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากและอาจส่งผลกระทบในหลายด้าน จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาและวางแผนกันอย่างจริงจังและเป็นระบบ
-ควรมีการศึกษาในเรื่องน้ำทะเลที่สูงขึ้นอันเกิดเนื่องจากภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง ซึ่งหากรัฐบาลไม่ดำเนินการใดเลย อาจก่อให้เกิดแนวโน้มว่ากรุงเทพมหานครจะจมอยู่ใต้ระดับน้ำอย่างน้อย 1 เมตร นานกว่า 3 เดือน และจะเกิดขึ้นในเวลาอีกไม่เกิน 14 ปี
-เนื่องจากจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย และมีประชากรมากเป็นอันดับสองของประเทศ ประกอบกับมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงอยู่เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง และมีแม่น้ำมูลไหลผ่าน เมื่อเกิดน้ำท่วมลักษณะพื้นที่จึงสามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว
อีกทั้งจังหวัดนครราชสีมาถือเป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่ เป็นแหล่งรวบรวมแรงงานมีฝีมือ เช่น นิคมอุตสาหกรรมนครราชสีมา มีสถานที่สำคัญทางการศึกษา การสาธารณสุข ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย มีแหล่งมรดกโลก
รวมทั้งมีโครงการขนาดใหญ่ (Megaprojects) อีกมากมาย เช่น รถไฟทางคู่ โครงการระบบขนส่งมวลชนและท่าเรือขนส่ง อันเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของประเทศไทยได้
-รัฐบาลควรศึกษาผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นทั้งระบบให้รอบคอบ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อเลือกแนวทางที่ดีที่สุด และหากมีการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งที่ 2 ควรหาแนวทางการป้องกันกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลที่อาจจะเกิดน้ำท่วมในอนาคต
-ควรมีการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาในการออกแบบอาคาร และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นเพื่อป้องกันการเกิดน้ำท่วมในอนาคต
@เปิดข้อเสนอแนะ‘หน่วยงานรัฐ’ป้องกันน้ำท่วม‘กรุงเทพฯ’
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้สรุปความเห็นข้อเสนอแนะต่อญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งที่ 2 ของประเทศไทย หรือการสร้างแนวป้องกันกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ประสบปัญหากำลังจะจมบาดาล ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงบประมาณ (มติ ครม. เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2566) มีรายละเอียด ดังนี้
-หน่วยงานที่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในการป้องกันกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่ประสบปัญหากำลังจะจมบาดาล โดยมีรายละเอียดดังนี้
แผนการจัดการน้ำ
-กรุงเทพมหานคร มีแผนระยะกลาง คือ
1.จัดหาพื้นที่รองรับน้ำและเก็บกักน้ำ ปัจจุบันมีจำนวน 26 แห่ง และกำลังจัดหาเพิ่มเติมอีก 16 แห่ง
2.การเปลี่ยนผิวถนนให้สามารถดูดซึมน้ำ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการมีระดับน้ำใต้ดินสูง ต้นทุนในการก่อสร้างสูง การดูแลรักษาที่เหมาะสม และแผนระยะยาวดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาการระบายน้ำจากกรุงเทพมหานครชั้นในระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและออกสู่ทะเลอ่าวไทย รวมถึงการป้องกันน้ำท่วมจากน้ำกน้ำทะเลหนุนสูง
โดย (1) ก่อสร้างระบบระบายน้ำ ปัจจุบันมีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่แล้ว 4 แห่ง และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 4 แห่ง อีกทั้งยังมีแผนเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง (2) สร้างคันกั้นน้ำด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
-กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
1.ประกาศพื้นที่ชุ่มน้ำเป็น Ramsar site (พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ)
2.จัดทำร่างการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่เป็นเขตอนุรักษ์ และเขตพัฒนาพร้อมทั้งกำหนดแนวเขตกันชนพื้นที่
3.ศึกษาแบบมาตรการ Nature Based Solution เพื่อดำเนินโครงการการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยระบบนิเวศ
โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น/โครงสร้างพื้นฐานป้องกันชายฝั่ง (เขื่อนหรือแก้มลิง)
-กรุงเทพมหานคร จัดทำโครงสร้างแบบแข็ง (เขื่อนกันคลื่น/กำแพงกันคลื่น) และแบบอ่อน (เนินทราย/ป่าชายเลน) ควนคู่กัน เพื่อช่วยลดการกัดเชาะชายฝั่ง
-กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 7.11กิโลเมตร พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ 48.12 กิโลเมตร และพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร 39.46 กิโลเมตร
-กระทรวงคมนาคม มีความร่วมมือทางวิชาการด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมกับรัฐบาลออสเตรเลีย เพื่อบูรณาการป้องกันภัยพิบัติ โดยคำนึงถึงการป้องกันปัญหาอุทกภัยโดยเฉพาะระบบระบายน้ำ
ผลการเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อน
-กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการศึกษาเรื่องน้ำทะเลสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ดังนี้
1.การจัดทำ Sea barrier ได้แก่ การพัฒนาเขื่อน/ประตูกั้นปากแม่น้ำ/ประตูระบายน้ำ/คันกั้นน้ำทะเล
2.โครงการเพื่อเตรียมรองรับภัยน้ำท่วมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ การเพิ่มความสูงกำแพงกันน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา/ก่อสร้างคันหินบริเวณชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน/ปรับปรุงผังเมืองรวมและการใช้ประโยชน์ที่ดิน/ระบบพยากรณ์และระบบเตือนภัย
-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาแนวทางการป้องกันการรุกตัวของน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น การก่อสร้างเขื่อนปิดปากแม่น้ำ/การก่อสร้างคันกันน้ำ/การก่อสร้างสถานีสูบน้ำและประตูน้ำ
การพัฒนาการออกแบบอาคารและโครงสร้างพื้นฐาน
-กรุงเทพมหานคร ได้กำหนดค่าความสูงในการออกแบบถนน โดยอ้างอิงตามแผนที่แสดงการกำหนดมาตรฐานค่าความสูงของถนนในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2543
นอกจากนี้ มีหน่วยงานให้ข้อเสนอ/ความเห็นเพิ่มเติม ในข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาในการป้องกันกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่ประสบปัญหากำลังจะจมบาดาล รายละเอียดดังนี้
แผนการจัดการน้ำ
-กรมโยธาธิการและผังเมือง เห็นว่า การสร้างเมืองฟองน้ำ (Sponge City) ควรพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในช่วงเวลาหนึ่งกับแหล่งน้ำ (แก้มลิง) ที่จะนำมาใช้กักเก็บด้วย
-กระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า ควรศึกษาเพื่อหาทางเลือกระบบการแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองอย่างถาวร รวมทั้งการแก้ไขมูลค่าการลงทุน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรและสุขภาพ ควบคู่กัน
โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น/โครงสร้างป้องกันชายฝั่ง (เขื่อนหรือแก้มลิง)
-กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นว่า
1.สำหรับพื้นที่ที่แก้ไขปัญหาแล้วยังมีการกัดเซาะ ควรมีการซ่อมแซมปรับปรุงโครงสร้างเดิมหรือหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาตามสภาพในแต่ละพื้นที่
2.ควรมีการศึกษาผลกระทบถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เพื่อการวางแผนระยะสั้นและระยะยาว
3.โครงสร้างป้องกันแบบแข็งอาจกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งและการประกอบอาชีพ จึงควรเป็นโครงสร้างแบบอ่อนที่สอดคล้องกับระบบนิเวศชายฝั่ง
-กรมการปกครอง เห็นว่า ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม ทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ก่อสร้าง โดยต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
-กรมโยธาธิการและผังเมือง เห็นว่า ควรศึกษาผลกระทบทางด้านต่างๆ ให้ครบถ้วน เผยแพร่การรับฟังความคิดเห็นให้เกิดความเข้าใจในทุกภาคส่วน รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหา
-กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นว่า
1.การทำโครงสร้างพื้นฐานที่มีลักษณะแก้มลิงขนาดใหญ่ ควรมีการศึกษาการก่อสร้างวงแหวนน้ำเพื่อกักเก็บหมุนเวียนน้ำและบริหารจัดการสมดุลในแต่ละภูมิภาค
2.การทำโครงสร้างแบบแข็ง ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศที่สำคัญ และเร่งหาข้อสรุปในเรื่องการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและการทรุดตัวของแผ่นดิน
-กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เห็นว่า การดำเนินโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำเจ้าพระยา แก้มลิงขนาดเล็ก แก้มลิง 3 ด้าน แก้มลิงขนาดใหญ่ จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ อย่างไรก็ดี ควรมีการศึกษาความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ว่าควรดำเนินการก่อสร้างในลักษณะใด และผลกระทบที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบด้วย เนื่องจากเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่และใช้งบประมาณจำนวนมาก
ผลการเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อน
-กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นว่า
1.ควรมีการศึกษาการจัดการตะกอนที่ควรเติมจากแม่น้ำลงสู่อ่าวไทย
2.ควรมีการจัดทำฉากทัศน์ ทั้งในสถานการณ์ที่ดีกว่าปัจจุบัน สถานการณ์ที่เหมือนปัจจุบัน และสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าปัจจุบัน พร้อมกำหนดแนวทางเลือกและผลได้ผลเสียเปรียบเทียบกัน รวมทั้งกำหนดแผนป้องกัน แก้ไข และการจัดการแบบปรับตัว (Adaptive Management) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
-กรมโยธาธิการและผังเมือง เห็นว่า ควรทำการศึกษาและวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูงและปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ ตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยตอนในหรืออ่าวไทยรูปตัว “ก”
-กระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า
1.ควรศึกษาการคาดการณ์อนาคต (Foresight) ระดับน้ำที่สูงขึ้นในแต่ละช่วงปี เช่น 10 ปี 50 ปี 100 ปี เพื่อพิจารณาการวางแผนแก้ไขปัญหาให้เกิดความครอบคลุม ไม่แก้ปัญหาซ้ำซ้อน
2.ควรศึกษาพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและปัญหาต่อเนื่อง
-กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เห็นว่า ต้องดำเนินการศึกษาในเรื่องน้ำทะเลที่สูงขึ้น อันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง โดยอาจบูรณาการกับหน่วยงานที่มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ เช่น สถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐหรือสถาบันวิจัยเพื่อร่วมกันพิจารณาศึกษาและหาแนวทางเพื่อแก้ไขน้ำท่วม
การปรับผังเมือง
-กรุงเทพมหานคร เห็นว่า
1.กำหนดให้การวางผังและพัฒนาเมืองรวม โดยคำนึงถึงปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการตั้งรับกับภัยธรรมชาติ
2.กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีประสิทธิภาพ
3.สนับสนุนการใช้มาตรการทางผังเมืองใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการรักษาสภาพแวดล้อมของเมืองและการป้องกันภัยพิบัติต่างๆ
4.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เข้าใจเรื่องผังเมือง
5.สนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการวางแผนและจัดทำผังเมืองให้มีความต่อเนื่องและมีระบบแผนผังและข้อกำหนดเป็นมาตรฐานเดียวกันระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
-กรมโยธาธิการและผังเมือง เห็นว่า เสนอให้ปรับผังเมืองให้สอดคล้องกับแนวคิดการใช้แก้มลิงขนาดใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
-กระทรวงแรงงาน เห็นว่า การปรับผังเมืองและลดความหนาแน่นของประชากรในกรุงเทพมหานคร เพื่อกระจายความเจริญต่างๆ แม้จะส่งผลดีกับการพื้นฟูเมืองแต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อตลาดแรงงาน เช่น สัดส่วนการจ้างงานในบางอุตสาหกรรมอาจลดลง และจำนวนผู้ว่างงานอาจเพิ่มขึ้น
การพัฒนาการออกแบบอาคาร
-กรมโยธาธิการและผังเมือง เห็นว่า ควรมีการศึกษาทั้งในส่วนการออกแบบอาคารใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับปรุงอาคารที่มีอยู่เดิมแบ่งตามประเภทอาคารที่ใช้งาน รวมถึงขนาดและความสูงของอาคาร
-กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นว่า
1.ควรมีการปรับปรุง Rule Curve ของแต่ละอาคารบังคับน้ำและอ่างเก็บน้ำให้สอดคล้องกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2.ควรเตรียมการด้านกฎหมายและการสร้างความตระหนักให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนควบคู่กันไป
-กระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า ควรมีการปรับกฎหมายสิ่งก่อสร้างใหม่ให้สอดรับกับการปรับโครงสร้างอาคาร สถานที่
@เบรกย้าย‘เมืองหลวง’-ชงสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม‘กทม.’
-สำหรับการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพมหานครไปสู่จังหวัดอื่น มีความเห็นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ
1.ควรมีการทำประชามติสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
2.ควรมีการกระจายความเจริญ และระบบต่างๆ ทั้งหมด เช่น ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การคมนาคมขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระบบราชการ สาธารณสุข เป็นต้น
3.ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก
4.มีผลกระทบต่อวิถีชีวิต อัตลักษณ์ และขนบธรรมเนียมประเพณี
5.ผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการและการจ้างงาน
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีความเห็นว่าการสร้างแนวป้องกันกรงเทพมหานคร และปริมณฑล น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่า หรือดำเนินการเพิ่มเมืองศูนย์กลางระดับภาคและศูนย์กลางรองระดับภาคเพื่อสร้างสมดุลให้แก่ระบบเมืองของประเทศ
-ความเหมาะสมของจังหวัดนครราชสีมาที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของประเทศไทย มีการดำเนินการศึกษาและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ได้แก่
1.กรมโยธาธิการและผังเมือง โดยทำการศึกษา ออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วม และระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
2.กระทรวงคมนาคม มีโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 บางปะอิน-นครราชสีมา โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) และระยะที่ 2 (นครราชสีมา-หนองคาย) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางจิระ และชุมทางจิระ-อุบลราชธานี โครงการพัฒนาท่าเรือบก นครราชสีมา และโครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ทล.290
นอกจากนี้ มีข้อเสนอ/ความเห็นเพิ่มเติมว่า ต้องมีการศึกษาด้านทรัพยากรน้ำในทุกมิติให้เกิดความมั่นคงทางน้ำ และความสมดุลกับความต้องการน้ำในอนาคต และควรมีการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำเสีย และการชาดแคลนน้ำ รวมทั้งควรมีการศึกษาแนวทางการย้ายเมืองหลวงของประเทศอื่นที่เคยมีหรือจะมีการย้ายเมืองหลวงเป็นแนวทางและเทียบเคียงด้วย ตัวอย่างเช่น ประเทศอินโดนีเซีย
เหล่านี้เป็นสรุปผลการพิจารณา เรื่อง ญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งที่ 2 ของประเทศไทย หรือการสร้างแนวป้องกันกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
โดยในประเด็นการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพมหานครไปสู่จังหวัดอื่นนั้น ‘หน่วยงานของรัฐ’ มีความเห็นที่เป็นไปใน ‘ทิศทางเดียวกัน’ ว่า การสร้างแนวป้องกันกรงเทพมหานคร และปริมณฑล น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่า หรือดำเนินการเพิ่มเมืองศูนย์กลางระดับภาคและศูนย์กลางรองระดับภาคเพื่อสร้างสมดุลให้แก่ระบบเมืองของประเทศ!
อ่านประกอบ :
‘มหาดไทย’เมินไอเดียย้าย‘เมืองหลวง’ แนะหาทางสร้างแนวป้องกัน‘กรุงเทพฯ-ปริมณฑล’จมบาดาล