"...เหตุแห่งความเสียหายจากการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติกระทำทุจริตโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของตน เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้ หาใช่เกิดจากมติของ กขช. หรือมติของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของผู้ฟ้องคดีที่ 1 แต่อย่างใด อีกทั้งผู้ฟ้องคดีที่ 1 มิได้เป็นหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้บังคับบัญชาโดยตรง ในกรณีการระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ..."
........................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด โดย ‘ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด’ ได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อผ163-166/2564 หมายเลขแดง อผ.160-163/2568 พิพากษาให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน 10,028.86 ล้านบาท
เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความ ‘ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง’ ละเว้น เพิกเฉย ละเลยไม่ติดตามหรือสั่งการฯ จนทำให้เกิดการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) นั้น (อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม! คดีประวัติศาสตร์ ศาลฯสั่ง'ยิ่งลักษณ์'ชดใช้หมื่นล. เพิกเฉยทุจริตขาย'ข้าวจีทูจี’)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในคำพิพากษาคดีนี้ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ‘เสียงข้างน้อย’ 6 ราย จากประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่มีทั้งหมดประมาณ 40 ราย ได้ทำ ‘ความเห็นแย้ง’ ในคดีดังกล่าว (คดีหมายเลขดำที่ อผ.163-166/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อผ.160-163/2568) แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ความเห็นแย้ง ราย นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ในศาลปกครองสูงสุด กลุ่มที่ 2 ความเห็นแย้ง รายนายสมชัย วัฒนการุณ รองประธานศาลปกครองสูงสุด รายนายมานิตย์ วงศ์เสรี ประธานแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ ในศาลปกครองสูงสุด และรายนายสมยศ วัฒนภิรมย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
กลุ่มที่ 3 ความเห็นแย้ง รายนายสมชัย วัฒนการุณ รองประธานศาลปกครองสูงสุด รายนายอนุวัฒน์ ธาราแสวง ประธานแผนกคดีละเมิดและความรับผิดอย่างอื่น ในศาลปกครองสูงสุด และรายนายสมยศ วัฒนภิรมย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และกลุ่มที่ 4 ความเห็นแย้ง รายนายสมฤทธิ์ ไชยวงค์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
ในตอนนี้ สำนักข่าวอิศรา จึงขอนำเสนอรายละเอียด ‘ความเห็นแย้ง’ ของตุลาการศาลปกครองสูงสุดเสียงข้างน้อย ในคดี อผ.163-166/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อผ.160-163/2568 ราย นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ในศาลปกครองสูงสุด มีรายละเอียด ดังนี้
@ชี้‘ยิ่งลักษณ์’รับผิด เฉพาะค่าเสียหายทุจริต‘ข้าวจีทูจี’
ความเห็นแย้ง คดีหมายเลขดำที่ อผ.163-166/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อผ.160-163/2568 โดย นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ในศาลปกครองสูงสุด
ตุลาการศาลปกครองสูงสุดฝ่ายเสียงข้างน้อย ไม่เห็นพ้องด้วยบางส่วนกับมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จึงได้ทำความเห็นแย้งไว้ดังต่อไปนี้
เหตุผลที่หนึ่ง กรณีปัญหาว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือไม่ เพียงใด นั้น
เห็นว่า เมื่อพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวกับกรณีการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในส่วนของการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายการรับจำนำข้าวเปลือก เป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (กระทรวงการคลัง)
ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 จึงมีสิทธิเรียกให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำดังกล่าว โดยจะต้องพิจารณาตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานของรัฐจะใช้สิทธิให้เจ้าหน้าที่ผู้ทําละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์สำคัญ 3 ประการ
คือ (1) ต้องคำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณี (2) หากละเมิดเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐหรือระบบการดําเนินงานส่วนรวมต้องหักส่วน ความรับผิดดังกล่าวออกด้วย และ (3) หากการกระทำละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นําหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีขั้นตอนสำคัญ 4 ขั้นตอน ประกอบไปด้วย ขั้นตอนที่ 1 การตรวจสอบคุณสมบัติและรับรองเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ขั้นตอนที่ 2 การนําข้าวไปจำนำและเก็บรักษาข้าวเปลือก ขั้นตอนที่ 3 การสีแปรสภาพข้าวเปลือกและเก็บรักษาข้าวสาร ขั้นตอนที่ 4 การระบายข้าว
คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตามคำสั่งกระทรวงการคลัง ลับ ที่ 448/258ลงวันที่ 3 เม.ยง2558 และคำสั่งกระทรวงการคลัง ลับ ที่ 1824/2558 ลงวันที่ 30 ธ.ค.2558 ดำเนินการสอบสวนกระบวนการขั้นตอนการรับจำนำข้าวทั้ง 4 โครงการ ภายใต้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของผู้ฟ้องคดีที่ 1 แล้ว
และจัดทำรายงานผลการสอบสวน ลงวันที่ 28 ม.ค.2559 เสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (นายกรัฐมนตรี) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รมว.คลัง) โดยมีความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธาน กขช. กระทำโดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว
และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการ เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย จำนวน 286,639,648,201.45 บาท จึงให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนความเสียหายคิดเป็นเงิน 286,639,648,201.45 บาท
แต่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง มีความเห็นว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ขณะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ในฐานะนายกรัฐมนตรีและในฐานะประธาน กขช. ได้ดำเนินการส่งเรื่องให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยยังมิได้สั่งให้มีการทบทวน หรือชะลอโครงการเพื่อตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น
แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามการสอบสวนผู้ฟ้องคดีที่ 1 ยังไม่อาจทราบได้อย่างแน่ชัดถึงความเสียหายดังกล่าว กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1 จงใจกระทำละเมิด จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 115,341,939,848.81 บาท
สำหรับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/56 และปีการผลิต 2556/57 ซึ่งเกิดความเสียหายรวมจำนวนทั้งสิ้น 178,586,365,141.17 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ย่อมเห็นได้ว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวมีความเสียหายเกิดขึ้นชัดเจนแล้ว
แต่กลับเพิกเฉย ละเลย ปล่อยให้มีการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวต่อไป และกำหนดเป้าหมายการรับจำนำไม่จํากัดปริมาณข้าวเปลือกและราคาสูงกว่าตลาด ส่งผลให้มีปัญหาการระบายข้าวไม่ทัน ต้องเก็บรักษาข้าวในคลังเป็นเวลานานจนข้าวเสื่อมคุณภาพและสูญเสียน้ำหนัก
มีการตั้งกระทู้ถามเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2555 เรื่อง ปัญหาที่เกษตรกรถูกโกงความชื้น และมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจผู้ฟ้องคดีที่ 1 โดยอภิปรายและมีข้อสังเกตหลายประการว่า การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐมีการกระทำการทุจริตเกิดขึ้น แต่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กลับเพิกเฉยไม่สั่งการให้ตรวจสอบหรือดำเนินการใดๆ ตามอำนาจหน้าที่และในภาวะวิสัยที่ควรจะกระทำภายใต้กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ
ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) จงใจกระทำละเมิด เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (กระทรวงการคลัง) ได้รับความเสียหายจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 และปีการผลิต 2556/57 เป็นเงิน 178,586,365,141.17 บาท
จึงให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะในส่วนการกระทำของตนในอัตราร้อยละ 20 ของความเสียหาย คิดเป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (นายกรัฐมนตรี) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รมว.คลัง) มีคำสั่งที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559
เรียกให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/2556 และปีการผลิต 2556/57 เฉพาะในส่วนการกระทำของตนในอัตราร้อยละ 20 ของความเสียหายจำนวน 178,586,365,141.17 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 35,717,273,028.23 บาท
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ในการคํานวณความเสียหายแล้ว จะเห็นได้ว่า ค่าเสียหายที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เรียกให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
เป็นการนําเอาต้นทุนขาย (มูลค่าข้าวเปลือกที่ซื้อหักด้วยสินค้าคงเหลือปลายงวดสุทธิ หักด้วยมูลค่าหนี้คดีความ) หักด้วยรายได้ (รายได้จากการขายข้าวในโครงการ ประกอบด้วย การขายระหว่างรัฐต่อรัฐ และการขายตามโครงการพิเศษอื่นๆ เช่น โครงการธงฟ้า เป็นต้น) และหักด้วยเงินส่วนต่างที่เกษตรกรได้รับ (ได้จากการนําราคารับจำนำหักด้วยราคาซื้อขายข้าวเปลือกตามประกาศของกรมการค้าภายใน (ราคาตลาด))
ซึ่งหมายถึง ขั้นตอนตั้งแต่การขึ้นทะเบียนชาวนาไปตลอดจนถึงขั้นตอนการระบายข้าว โดยรวมถึงการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) แล้วคํานวณเป็นผลลัพธ์ได้ความเสียหายจำนวน 178,586,365,141.17 บาท ซึ่งค่าเสียหายจำนวนดังกล่าว เป็นการนําเอาค่าเสียหายทั้งโครงการมาคํานวณเป็นค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับผิด
โดยมิได้แบ่งแยกความเสียหายในแต่ละขั้นตอนของโครงการรับจำนําข้าวเปลือกว่า แต่ละขั้นตอนมีความเสียหายจำนวนเท่าใด
เมื่อการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) แถลงนโยบายรับจำนำข้าวต่อรัฐสภาวันที่ 23 ส.ค.2554 โดยมีนโยบายยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพที่เหมาะสม คำนึงถึงกลไกราคาตลาดโลก
โดยใช้วิธีบริหารจัดการและกลไกการตลาดซื้อขายล่วงหน้า รวมทั้งผลักดันให้เกษตรกรสามารถจําหน่ายสินค้าเกษตรได้ในราคาที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับต้นทุน และนําระบบรับจำนำสินค้าเกษตรมาใช้สำหรับการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้เกษตรกร พร้อมทั้งจัดให้มีการเยียวยาความเสียหายของพืชผลจากภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรกร
การจัดทำระบบทะเบียนครัวเรือนเกษตรกรให้สมบูรณ์ และการออกบัตรเครดิตสำหรับเกษตรกร ซึ่งนโยบายดังกล่าวถือเป็นนโยบายสาธารณะ โดยมีวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ที่มีจุดมุ่งหมายเน้นไปยังกลุ่มเกษตรกรเพื่อช่วยเหลือส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการได้อย่างเต็มที่ มิได้เป็นกรณีที่มุ่งแสวงหากําไรจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเป็นหลัก
เมื่อวินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่า พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เฉพาะในส่วนการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวกับกรณีการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) อันถือเป็นขั้นตอนหนึ่ง ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (กระทรวงการคลัง)
กรณีจึงไม่อาจนําค่าเสียหายตามวิธีการคํานวณดังกล่าว ซึ่งเป็นการนําค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทั้งโครงการมาคิดคํานวณได้ หากแต่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จะต้องรับผิดต่อค่าเสียหายเฉพาะแต่ในส่วนกรณีการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐเท่านั้น
ดังนั้น จำนวนค่าเสียหาย จากกระบวนการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับ จึงฟังได้ว่ามีความเสียหายเพียงกรณีที่ 1 จำนวน 20,014,284,133.16 บาท
ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคําพิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หมายเลขแดงที่ อม.211/2560 ว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีพฤติการณ์ในการละเว้นหน้าที่ตามกฎหมายส่อแสดงออกโดยชัดแจ้ง อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวก แสวงหาประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าว
โดยการแอบอ้างนําบริษัท กว่างตง จํากัด และบริษัท ห่ายหนาน จํากัด เข้ามาทำสัญญาซื้อข้าวในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดตามประกาศกรมการค้าภายใน แล้วมีการหาประโยชน์ที่ทับซ้อนโดยทุจริตได้ข้าวส่วนต่างจากราคาข้าวตามสัญญาซื้อขายจำนวน 4 ฉบับ
โดยความเสียหายที่เกิดจากกระบวนการทุจริตในกรณีการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาจำนวน 6 ราย
ได้แก่ นายภูมิ สาระผล นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ พันตรี วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ นายมนัส สร้อยพลอย นายทิฆัมพร นาทวรทัต และนายอัครพงศ์ หรืออัฐฐิติพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ
ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ชี้แจงต่อศาลปกครองชั้นต้นว่า ในส่วนของความเสียหายกรณีระบายข้าวเฉพาะกรณีการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวโดยแอบอ้างทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งได้พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏจากข้อมูลการส่งมอบข้าวตามหลักฐานการรับชําระค่าข้าวด้วยแคชเชียร์เช็ค 4 สัญญา ซึ่งมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐดังกล่าว 2 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 ความเสียหายจากราคาขายตามสัญญา โดยพิจารณาจากข้อมูลการทำสัญญาซื้อขาย และการระบายข้าวตามสัญญา คิดค่าเสื่อมสภาพของข้าว (ข้าวปีการผลิตเก่า) ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี และราคาตลาดภายในประเทศที่มีการเสนอราคาซื้อขายกันโดยทั่วไป ในขณะนั้น (ใช้ราคาข้าวเฉลี่ยระหว่างราคาข้าวภายในประเทศของกรมการค้าภายในกับราคา ของสมาคมโรงสีข้าวไทย ณ วันที่ทำสัญญา) โดยนับอายุข้าวตามปีการผลิต ซึ่งมีรายละเอียดการพิจารณา ดังนี้
1.1 กรมการค้าต่างประเทศตกลงทำสัญญาซื้อขายข้าวกับรัฐวิสาหกิจจีน ทั้งหมด 4 สัญญา ปริมาณข้าวรวม 6,439,000 ตัน มีการส่งมอบข้าวตามสัญญาเป็นปริมาณ รวม 4,939,190 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 70,549,222,014.10 บาท ราคาที่ตกลง ซื้อขายเป็นราคาส่งมอบ ณ หน้าคลังสินค้า
1.2 นําหลักการคิดค่าเสื่อมราคาสภาพข้าวที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดพิจารณามาใช้สำหรับข้าวปีการผลิตเก่า (สัญญาฉบับที่ 1) (ข้าวนาปี 2548/2549 ปี 2551/2552 ปี 2552/2553 และข้าวนาปรัง ปี 2549 ปี 2551 และปี 2552) โดยคิดคํานวณค่าเสื่อมสภาพข้าวตามอายุปีการผลิตแล้วนํามาหักออกจาก ราคาตลาดภายในประเทศของข้าวแต่ละชนิดที่มีการเสนอราคาซื้อขายกันโดยทั่วไปในขณะนั้น คงเหลือเป็นราคาเฉลี่ยข้าวแต่ละชนิด ณ วันทำสัญญาหลังหักค่าเสื่อมสภาพข้าว
1.3 นําหลักการเปรียบเทียบราคามาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคิดค่าเสียหาย กล่าวคือ นํามูลค่าข้าวที่ตกลงขายตามสัญญามาเปรียบเทียบกับมูลค่าข้าว ณ วันทำสัญญา ผลต่างมูลค่าข้าวจะเป็นค่าเสียหาย โดยมูลค่าข้าวที่ตกลงขายตามสัญญา ได้แก่ ปริมาณที่ส่งมอบข้าวคูณด้วยราคาที่ตกลงขายตามสัญญา และมูลค่าข้าว ณ วันทำสัญญา
ได้แก่ ปริมาณที่ส่งมอบข้าวคูณด้วยราคาตลาดภายในประเทศที่มีการซื้อขายกันโดยทั่วไปณ วันทำสัญญา (กรณีข้าวปีการผลิตเก่าเป็นราคาหลังหักค่าเสื่อมสภาพข้าว) ซึ่งผลต่างเป็นค่าเสียหายเท่ากับจำนวน 20,014,284,133.16 บาท
กรณีจึงแยกความเสียหายเป็นแต่ละสัญญาได้ ดังนี้
สัญญาฉบับที่ 1 ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ กับ บริษัท กว่างตง จํากัด มูลค่าความเสียหายจำนวน 10,991,736,179.90 บาท (มูลค่าข้าวหลังหักค่าเสื่อมสภาพข้าวบาท 29,199,892,766.26 – มูลค่าตามสัญญา 18,208,156,586.36)
สัญญาฉบับที่ 2 ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ กับบริษัท กว่างตง จํากัด มูลค่าความเสียหายจำนวน 2,135,632,483.87 (มูลค่าข้าวหลักหักค่าเสื่อมสภาพข้าว 31,123,744,136.75 – มูลค่าตามสัญญา 28,988,111,652.88 บาท)
สัญญาฉบับที่ 3 ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ กับบริษัท กว่างตง จํากัด มูลค่าความเสียหายจำนวน 6,687,419,994.09 บาท (มูลค่าข้าวหลังหักค่าเสื่อมสภาพข้าว 29,193,285,363.25 บาท – มูลค่าตามสัญญา 22,505,865,369.16 บาท)
สัญญาฉบับที่ 4 ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ กับบริษัท ห่ายหนาน จํากัด มูลค่าความเสียหายจำนวน 199,495,495.30 บาท (มูลค่าข้าวหลังหักค่าเสื่อมสภาพข้าว 1,046,583,901 บาท – มูลค่าตามสัญญา 847,088,405.70 บาท)
กรณีที่ 2 ความเสียหายจากการชําระราคาข้าวตามสัญญาน้อยกว่ามูลค่าข้าวที่มีการรับมอบจริง โดยพิจารณาจากมูลค่าที่มีการชําระราคาตามปริมาณข้าวที่รับมอบจริง นำมาหักออกจากมูลค่าที่ต้องชำระตามปริมาณข้าวแต่ละชนิดคูณด้วยราคาของแต่ละชนิดข้าวที่ตกลงขายตามสัญญา คิดเป็นค่าเสียหาย 43,439,648.50 บาท ซึ่งแยกตามความเสียหายเป็นแต่ละสัญญาได้ ดังนี้
สัญญาฉบับที่ 1 มูลค่าความเสียหายจำนวน 113.64 บาท (มูลค่าข้าวที่มีการรับมอบจริง 18,208,156,700 บาท – มูลค่าตามสัญญา 18,208,156,586.36 บาท)
สัญญาฉบับที่ 2 มูลค่าความเสียหายจำนวน 43,438,123.92 บาท (มูลค่าข้าวที่มีการรับมอบจริง 29,031,549,776.80 บาท – มูลค่าตามสัญญา 28,988,111,652.88)
สัญญาฉบับที่ 3 มูลค่าความเสียหายจำนวน 1,380.64 บาท (มูลค่าข้าวที่มีการรับมอบจริง 22,505,866,749.80 บาท - มูลค่าตามสัญญา 22,505,865,369.16 บาท)
สัญญาฉบับที่ 4 มูลค่าความเสียหายจำนวน 30.30 บาท (มูลค่าข้าวที่มีการรับมอบจริง 847,088,436 บาท - มูลค่าตามสัญญา 847,088,405.70 บาท)
รวมความเสียหายตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับ ทั้งสองกรณี คิดเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 20,057,723,761.66 บาท (20,014,284,133.16 บาท + 43,439,648.50 บาท)
ต่อมาได้มีคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ ที่ 453/2559 ลงวันที่ 19 ก.ย.2549 เรียกให้บุคคลดังกล่าวรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงินจำนวน 20,057,723,761.66 บาท โดยค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวเป็นจำนวนเดียวกันกับค่าเสียหายตามคําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หมายเลขแดงที่ อม.178/2560, อม.179/2560 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายภูมิ สาระผล กับพวกรวม 28 คน เป็นจําเลย
และกรมการค้าต่างประเทศ องค์การคลังสินค้า องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ยื่นคําร้องขอให้ศาลบังคับจําเลยที่เป็นเอกชนร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องทั้งห้าที่ได้รับความเสียหาย จากสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐรวม 4 สัญญา เป็นเงินจำนวน 20,057,723,761.66 บาท
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงฟังได้ว่า การคํานวณค่าเสียหายจากการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับ แยกได้เป็น 2 กรณี
โดยกรณีที่ 1 เป็นความเสียหายจากราคาขายตามสัญญา โดยพิจารณาจากข้อมูลการทำสัญญาซื้อขาย และการระบายข้าวตามสัญญา คิดค่าเสื่อมสภาพของข้าว (ข้าวปีการผลิตเก่า) ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี และราคาตลาดภายในประเทศที่มีการเสนอราคาซื้อขายกันโดยทั่วไปในขณะนั้น (ใช้ราคาข้าวเฉลี่ยระหว่างราคาข้าวภายในประเทศของกรมการค้าภายในกับราคาของสมาคมโรงสีข้าวไทย ณ วันที่ทำสัญญา)
โดยนับอายุข้าวตามปีการผลิต และนํามูลค่าข้าวที่ตกลงขายตามสัญญา มาเปรียบเทียบกับมูลค่าข้าว ณ วันทำสัญญา ผลต่างมูลค่าข้าวจึงเป็นค่าเสียหายในกรณีที่ 1 จำนวน 20,014,284,133.16 บาท
และกรณีที่ 2 ความเสียหายจากการชําระราคาข้าว ตามสัญญาน้อยกว่ามูลค่าข้าวที่มีการรับมอบจริง จำนวน 43,439,648.50 บาท แต่โดยที่ค่าเสียหายในกรณีที่ 2 นั้น จะเห็นได้ว่า ค่าเสียหายดังกล่าวเกิดจากการชําระราคาค่าข้าว ตามสัญญาทั้ง 4 สัญญา น้อยกว่ามูลค่าข้าวที่มีการรับมอบจริง...ซึ่งค่าเสียหายดังกล่าวเกิดจากคู่สัญญาชําระราคาข้าวไม่ครบถ้วนตามสัญญา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ชอบที่จะต้องเรียกร้องเอากับคู่สัญญาได้
กรณีจึงไม่อาจนําจำนวนเงินที่ได้รับไม่ครบถ้วนตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับ มาคํานวณรวมเป็นค่าเสียหายจากการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ
ดังนั้น จำนวนค่าเสียหาย จากกระบวนการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับ จึงฟังได้ว่ามีความเสียหายเพียงกรณีที่ 1 จำนวน 20,014,284,133.16 บาท
@ความเสียหายเกิดจาก‘จนท.ระดับปฏิบัติ’-‘ยิ่งลักษณ์’รับผิด 20%
เมื่อคำนึงถึงความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐหรือระบบการดําเนินงานส่วนรวม อันเป็นเหตุให้ต้องหักส่วนความรับผิดดังกล่าวออก ตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 แล้ว จะเห็นได้ว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นโครงการของรัฐบาลที่ใช้วิธีการบริหารจัดการในรูปแบบคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานด้านต่างๆ หลายชุด
โดยในการปฏิบัติงานดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก จึงจะทำให้โครงการบรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ในฐานะนายกรัฐมนตรีและในฐานะประธาน กขช. แต่เพียงผู้เดียวย่อมไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวให้บรรลุผล รวมทั้งไม่อาจกำกับดูแล ระงับ ยับยั้งหรือแก้ไขปัญหาการทุจริตได้โดยลำพัง
ประกอบกับเมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ ได้มีผู้เกี่ยวข้องหลายราย ทั้งข้าราชการ การเมือง ข้าราชการประจำ และเอกชน ร่วมกันโดยจงใจกระทำทุจริต เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ ของตนและผู้อื่น
โดยตามคําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หมายเลขแดงที่ อม.178/2560, อม.179/2560 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภายหลังการระบายข้าว ด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับ ตลอดจนการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา ในระหว่างปี พ.ศ.2554 และปี พ.ศ.2555 เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มิได้มีการรายงานให้ที่ประชุม กขช. และที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวที่มีตัวแทนหน่วยราชการอื่น ร่วมประชุมได้รับทราบ
อีกทั้งกรณีการระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐนั้น เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2555 นายวรงค์ เดชกิจวิกรม ได้มีการอภิปรายในกรณีดังกล่าว ซึ่งผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว โดยนายบุญทรง ได้มีคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ ที่ 676/2555 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง การจําหน่ายข้าวสารในสต็อกรัฐบาล
ต่อมาได้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว แล้วมีคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ ที่ 688/2555 แทนคำสั่งฉบับเดิม โดยเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2555 คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้รายงานต่อนายบุญทรงว่า ไม่พบว่ามีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่า มีการปฏิบัติผิดหรือฝ่าฝืนสัญญาแต่อย่างใด ซึ่งผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้ทราบรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวแล้วว่า ไม่พบการทุจริต
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะประธาน กขช. มิได้รับรายงานกรณีการระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ ตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับ ตลอดจนการแก้ไขสัญญาดังกล่าว รวมทั้งเมื่อได้รับทราบจากการอภิปราย ก็แจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไปแล้ว แต่ได้รับรายงานว่าไม่พบการทุจริต
กรณีจึงต้องถือว่าการละเมิด เกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐหรือระบบการดําเนินงานส่วนรวม จึงสมควรหักส่วนแห่งความรับผิดดังกล่าวออกจากค่าเสียหาย ในอัตราร้อยละ 50 ตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว คิดเป็นเงินจำนวน 10,007,142,056.58 บาท (20,014,284,113.16 บาท X 50%) คงเหลือค่าเสียหาย ที่จะต้องรับผิดจำนวน 10,007,142,056.58 บาท
และเมื่อคำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณีเป็นเกณฑ์ ตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.เดียวกันแล้ว จะเห็นได้ว่า เหตุแห่งความเสียหายจากการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติกระทำทุจริตโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของตน เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้
หาใช่เกิดจากมติของ กขช. หรือมติของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของผู้ฟ้องคดีที่ 1 แต่อย่างใด อีกทั้งผู้ฟ้องคดีที่ 1 มิได้เป็นหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้บังคับบัญชาโดยตรง ในกรณีการระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ
ผู้ฟ้องคดีที่ 1 มีฐานะเป็นเพียงนายกรัฐมนตรีและประธาน กขช. และผู้ฟ้องคดีที่ 1 ก็มิได้ถูกกล่าวหาว่า เป็นตัวการร่วมกระทำผิดในกรณีร่วมทุจริตดังกล่าวร่วมกับเจ้าหน้าที่ทั้ง 6 ราย โดยตรง
แต่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการควบคุมตรวจสอบกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย วางมาตรการโครงการที่อนุมัติไปแล้ว
ทั้งมีอำนาจสั่งการข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ในการกำกับดูแล การระงับยับยั้งหรือ แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 แต่ก็หาได้ดำเนินการแต่อย่างใด อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (กระทรวงการคลัง)
จึงเห็นสมควรกําหนดให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ 20 ของความเสียหายหลังจากหักความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐ หรือระบบการดําเนินงานส่วนรวมออกแล้วจากกระบวนการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว จำนวน 10,007,142,056.58 บาท คิดเป็นเงิน จำนวน 2,001,428,411.32 บาท
ดังนั้น คำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 เฉพาะส่วนที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เกินกว่าจำนวน 2,001,428,411.32 บาท จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้าที่ว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธาน กรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ มิได้ติดตามการดําเนินงาน ควบคุม ดูแลและรับผิดชอบต่อ การกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชาตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง
พฤติการณ์ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1 รู้สํานึกถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของตน อันเป็นการจงใจกระทำละเมิด เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (กระทรวงการคลัง) ได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ตามคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 จึงฟังขึ้นบางส่วน
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเสียงข้างน้อย จึงเห็นว่า คำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 เฉพาะส่วนที่เรียกให้ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน 2,001,428,411.32 บาท จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คดีนี้จึงสมควรพิพากษาแก้คําพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เฉพาะส่วนที่ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่า จำนวน 2,001,428,411.32 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป
@ยึด-อายัด‘ทรัพย์สิน’ขายทอดตลาด ได้ไม่เกิน 2,001 ล้าน
สำหรับประเด็นที่สองที่ว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 ที่ให้ทำการยึดอายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 1 เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด อันเป็นการบังคับตามมาตรการบังคับทางปกครอง ตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่สืบเนื่องมาจากคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใด นั้น
เมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นที่หนึ่งแล้วว่า คำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 เฉพาะส่วนที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน 2,001,428,411.32 บาท เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 มีคำสั่งให้ทำการยึด อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 1 เพื่อดำเนินการขายทอดตลาดในส่วนที่เกินกว่าจำนวน 2,001,428,411.32 บาท อันเป็นการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น ที่สืบเนื่องจากคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไปนั้น จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้า จึงฟังขึ้นบางส่วน
ดังนั้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง ประกาศ และการดำเนินการใดๆ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 ที่มีคำสั่ง ประกาศ การดำเนินการใดๆ ในการยึด อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 1 เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด อันเป็นการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น ที่สืบเนื่องจากคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไปนั้น ข้าพเจ้าเห็นพ้องด้วยบางส่วน
สำหรับประเด็นที่สองนี้ จึงสมควรให้ เพิกถอนคำสั่ง ประกาศ และการดำเนินการใดๆ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 ที่มีคำสั่ง ประกาศหรือการดำเนินการใดๆ ในการยึด อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 1 เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด
อันเป็นการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่สืบเนื่องจากคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.2559 เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เฉพาะในส่วนที่เกินกว่าจำนวน 2,001,428,411.32 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป ส่วนประเด็นที่สามเห็นพ้องด้วย
เหล่านี้เป็น ‘ความเห็นแย้ง’ ของตุลาการศาลปกครองสูงสุดเสียงข้างน้อย รายนายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ในศาลปกครองสูงสุด ที่เห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่ ‘โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง’ จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อกระทรวงการคลัง ในกรณีการทุจริตระบาย ‘ข้าวจีทูจี’
แต่เนื่องจากเหตุแห่งความเสียหายจากการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ เกิดจากการ ‘เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติ’ กระทำทุจริตโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของตน เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้ หาใช่เกิดจากมติของ กขช. หรือมติของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่อย่างใด
อีกทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ มิได้เป็นหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้บังคับบัญชาโดยตรงในกรณีการระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีฐานะเป็นเพียงนายกรัฐมนตรีและประธาน กขช. โดยมิได้ถูกกล่าวหาว่า เป็นตัวการร่วมกระทำผิดในกรณีร่วมทุจริตดังกล่าวร่วมกับเจ้าหน้าที่ทั้ง 6 รายโดยตรง แต่อย่างใด
จึงเห็นควรให้ชดใช้ค่าเสียหายในคดีทุจริตระบาย ‘ข้าวจีทูจี’ เป็นจำนวน 2,001.42 ล้านบาทเท่านั้น!
อ่านเพิ่มเติม :
ฉบับเต็ม! คดีประวัติศาสตร์ ศาลฯสั่ง'ยิ่งลักษณ์'ชดใช้หมื่นล. เพิกเฉยทุจริตขาย'ข้าวจีทูจี’
ไขเหตุผล ‘ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปค.สูงสุด’ พิพากษา ยิ่งลักษณ์ ชดใช้จำนำข้าว 10,028 ล.
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร : ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยุติธรรมแล้วหรือ? บทสรุปที่เจ็บปวดที่สุด
‘ศาลปค.สูงสุด’นัดตัดสินคดี‘ยิ่งลักษณ์’ฟ้องเพิกถอนคำสั่งชดใช้‘จำนำข้าว’3.5 หมื่นล.22 พ.ค.