"....ที่ผ่านมานั้นนโยบายต่างประเทศของไทยจะอยู่ในรูปแบบของการสร้างสมดุลกัน และพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับขั้วอำนาจทุกฝ่าย แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันทางการเมืองก็ตาม มีการประเมินว่าในยุคหลังจากโควิด 19 การแข่งขันและความเป็นอริกันของมหาอำนาจขั้วต่างๆ จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีการตัดสินใจอย่างระมัดระวังมากขึ้นในเรื่องการต่างประเทศต่างๆ..."
--------------------------
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทย เพิ่งประกาศว่าไม่มีการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 หรือโคโรน่าไวรัสในประเทศเป็นระยะเวลา 100 วันติดต่อกัน โดยจำนวนผู้ติดเชื้อที่พบในปัจจุบันส่วนใหญ่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ
สถานการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) รายงานสถานการณ์ประจำวันระบุว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 7 ราย เดินทางมาจากอินเดีย 4 ราย ออสเตรเลีย 2 ราย บาห์เรน 1 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,473 ราย หายป่วยแล้ว 3,312 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 103 ราย และเสียชีวิตคงเดิม 58 ราย
ส่วนด้านความคืบหน้าสอบสวนโรคกรณีพบนักฟุตบอลสโมสรบุรีรัมย์ฯ ชาวอุซเบกิสถาน ติดเชื้อไวรัสโควิด เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านนั้น กรมควบคุมโรครายงานว่า ได้เก็บตัวอย่างกลุ่มเสี่ยงแล้ว 94 ราย ทีมฟุตบอลขอนแก่น 51 ราย ทีมฟุตบอลราชบุรี 43 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลตรวจ และกลุ่มเสี่ยงในจังหวัดบุรีรัมย์อีก 367 ราย อยู่ระหว่างเก็บตัวอย่างนำส่งตรวจเชื้อต่อไป
หากวิเคราะห์สถานการณ์เฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิดในประเทศไทยที่เกิดขึ้น ตามที่ระบุไปแล้ว ต้องนับว่าความสำเร็จในระดับหนึ่ง
หากแต่ความสำเร็จดังกล่าว อาจจะต้องแลกมาด้วยความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่ามหาศาล และความเสียหายที่เกิดขึ้นตามมานั้นอาจจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศต้องประสบกับสภาวะชะงักงันตามไปด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าว The Diplomat โดยนายแดเนียล คาร์มินาติ ศาสตราจารย์ด้านเอเชียและการต่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัย City University of Hong Kong ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการต่างประเทศ ความสัมพันธ์ประเทศมหาอำนาจต่างๆ กับประเทศไทยในช่วงเวลาที่ไวรัสโควิด 19 ได้ผ่านพ้นไป
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
ณ เวลานี้ แม้ว่าจะเป็นการเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าประเทศไทยจะสามารถผ่านพ้นวิกฤติไวรัสโควิด 19 เพราะเพิ่งมีการตรวจพบเจอผู้ติดเชื้อจำนวน 1 รายที่ยังไม่ทราบที่มาชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกำลังเจอกับปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าก่อนสิ้นปีอาจจะมีประชาชนจำนวน 14 ล้านคนจะต้องตกงาน, ปัญหาการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งและดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และความท้าทายอีกประเด็นก็คือเรื่องการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของประเทศไทยที่อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ที่ผ่านมานั้นนโยบายต่างประเทศของไทยจะอยู่ในรูปแบบของการสร้างสมดุลกัน และพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับขั้วอำนาจทุกฝ่าย
แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันทางการเมืองก็ตาม
มีการประเมินว่าในยุคหลังจากโควิด 19 การแข่งขันและความเป็นอริกันของมหาอำนาจขั้วต่างๆ จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีการตัดสินใจอย่างระมัดระวังมากขึ้นในเรื่องการต่างประเทศต่างๆ
โดยเฉพาะกับเหตุการณ์ต่างๆที่กำลังจะมาถึง อาทิ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในเดือน พ.ย. ที่อาจทำให้มีการเปลี่ยนตัวผู้นำและนโยบายของประเทศสหรัฐฯเกิดขึ้น
@สหภาพยุโรป
ขณะที่สหภาพยุโรปซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่กลุ่มประเทศหลักๆที่ประเทศไทยจะมีความสัมพันธ์ด้วยเป็นประเทศแรกๆ แต่หลังจากสภาวะโควิด 19 ได้ผ่านพ้นไป และประเทศไทยได้เปิดประเทศ ก็มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก ที่ประเทศไทยจะต้องมีการทำข้อตกลงการค้าเสรี รวมไปถึงความร่วมมือในหลายๆด้าน ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม
เพราะสหภาพยุโรปก็ยังคงมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนถึงร้อยละ 11 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในประเทศไทย
โดยก่อนหน้าที่จะมีการปิดประเทศจากการท่องเที่ยว เนื่องจากเหตุไวรัสระบาด ทางการไทยได้เคยมีแผนการที่จะดึงดูดประชากรจากยุโรปที่อยู่ในวัยเกษียณให้เข้ามาพำนักในประเทศ จะต้องแสดงหลักฐานทางการเงินอันประกอบด้วยเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ของไทยไม่น้อยกว่า 800,000 บาท หรือมีเงินไม่น้อยกว่า 65,000 บาทต่อเดือน
คู่มีการทำวีซาสำหรับผู้ที่ต้องการจะใช้ชีวิตในวัยเกษียณในประเทศไทย (อ้างอิงรูปภาพจาก https://www.renegadetravels.com/get-retirement-visa-thailand/)
อย่างไรก็ตาม มีรายงานระบุว่าหลังจากเหตุการณ์การระบาด ประเทศไทยอาจจะไม่ใช่สถานที่พักพิงที่เหมาะสมสำหรับนักท่องเที่ยวอีกต่อไปแล้ว เพราะว่าผู้ที่จะเข้ามาอาศัยในประเทศไทยหลังจากเกษียณนั้นอยู่ในสภาวะที่ขาดกำลังซื้อหรือขาดแคลนกำลังซื้อ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายนโยบายที่จะต้องมาออกแผนงานใหม่อีกครั้งเพื่อจะดึงดูดผู้เดินทางจากสหภาพยุโรปควบคู่ไปกับการออกนโยบายเพื่อจะจำกัดการระบาดของไวรัสโควิด 19
ซึ่งการออกนโยบายที่เหมาะสมดังกล่าวนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปมีความแน่นแฟ้นมากกว่าเดิม
@ประเทศญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศซึ่งมีความสัมพันธ์กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน มีการลงทุนในประเทศไทยเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงมาก และมีวัฒนธรรมซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนไทย ซึ่งจากการดำเนินงานของนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ก็มีการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้มีความแน่นแฟ้นขึ้นไปอีก และก็มีความเป็นไปได้สูงมากว่า หลังจากที่ นายอาเบะได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้วด้วยปัญหาสุขภาพ ผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากนายอาเบะก็จะยังคงดำรงนโยบายเดิมอยู่
อย่างไรก็ตาม ประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นกับประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศญี่ปุ่นจะไม่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างประเทศจีนและประเทศสหรัฐฯ ซึ่งความขัดแย้งที่ว่านั้นเป็นสิ่งที่ประเทศไทยพยายามที่จะหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง
@ประเทศสหรัฐอเมริกา
สหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 ส.ค. นี้ ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงเวลาที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีหลายประเทศในทวีปเอเชียได้รับผลกระทบในแง่ลบจากนโยบายอเมริกาต้องมาก่อน (อเมริกาเฟิร์ส) และทำให้ประเทศในภูมิภาคเกิดไม่มั่นใจว่า ความรับผิดชอบและเป้าหมายที่แท้จริงของรัฐบาลกรุงวอชิงตันที่มีต่อภูมิภาคนี้คืออะไรกันแน่
ขณะที่ การดำเนินนโยบายเชิงก้าวร้าวของประเทศจีนที่มีต่อประเทศในภูมิภาคแปซิฟิก เกาะฮ่องกง และประเทศไต้หวัน ก็ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกเคลือบแคลงใจต่อความจริงใจของสหรัฐฯในภูมิภาคมากขึ้นไปอีก
ซึ่งแน่นอนว่าถ้าหากนายทรัมป์ได้รับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯต่อไป ก็หมายความว่าจะมีความไม่แน่นอนในภูมิภาคนี้ที่จะกินระยะเวลาต่อไปอีกอย่างน้อย 4 ปี
แต่ในทางกลับกันถ้าหากนายโจ ไบเด้น ชนะการเลือกตั้งและเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองในภูมิภาคนี้ ได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่นายไบเด้นจะนำนโยบายการสร้างความสมดุลในภูมิภาคเอเชียกลับมาใช้อีกครึ้งหนึ่ง
ซึ่งก็หมายความว่าสหรัฐฯจะกลับเข้าหาประเทศไทยในฐานะพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคมากขึ้นตามไปด้วย
@ประเทศจีน
สำหรับประเทศจีนนั้นถือว่าเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยทั้งในมิติทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน ดังจะเห็นได้จากผู้นำระดับสูงทั้งในภาคการเมืองและภาคเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันก็เป็นผู้ที่มีเชื้อสายจีนด้วยกันทั้งสิ้น
ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยก็มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในประเทศ
แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดของไวรัสโควิด 19 ประเทศไทยนั้นเคยประสบปัญหาจากกรณีเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญ และปัญหาทางกรณีที่กลุ่มทุนจีนเข้ามาผูกขาดการให้บริการนักท่องเที่ยวชาวจีนในประเทศไทยเสียเอง และปัญหาเหล่านี้นั้นก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งหลังจากที่มีการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่มีอะไรจะเป็นสิ่งที่รับรองได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาอีก
นอกเหนือจากประเด็นเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว ประเด็นการลงทุนทางเศรษฐกิจภายใต้โครงการวันเบลท์วันโรดของประเทศจีนก็เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องคำนึงถึงเช่นกัน
เพราะแม้ว่าโครงการนี้จะทำให้ประเทศจีนได้เข้ามาสร้างลงทุนในด้านระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ เขื่อน สะพาน ทางหลวง รวมไปถึงรถไฟความเร็วสูงทั้งในประเทศไทยและประเทศรอบข้างในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้เป้าหมายการเชื่อมประเทศจีนตอนใต้ไปยังประเทศสิงคโปร์
แต่ทั้งโครงการรถไฟและโครงการทางเศรษฐกิจที่พาดผ่านประเทศเพื่อนบ้านต่างๆนั้น ก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงตามมามากมายเช่นกันในประเด็นเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโครงการวันเบลท์วันโรด
อ้างอิงวิดีโอจาก Radio Free Asia
ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างของผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่า บริษัทผลิตไฟฟ้า Electricite du Laos (EdL) ของรัฐบาลลาว ลงนามร่วมกับบริษัท China Southern Power Grid ของจีน ในการดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนร่วมกัน โดยลาวจะยกอำนาจควบคุมส่วนใหญ่ให้จีน
โดยสาเหตุของที่รัฐบาลลาวต้องยกการควบคุมเขื่อนพลังน้ำดังกล่าว ก็เนื่องมาจากว่าไม่สามารถที่จะชำระหนี้จากโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่ประเทศจีนสร้างไว้ให้ จนต้องโอนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นกลับไปเป็นของจีนนั่นเอง
ขณะที่ ประเทศไทยยังมีจุดแข็งประการหนึ่งก็คือทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์และฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ประเทศไทยสามารถจะเป็นฝ่ายกำหนดเงื่อนไขต่างๆได้ ถ้าหากต้องทำสัญญาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการวันเบลท์วันโรด ซึ่งแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว พม่า และกัมพูชา ซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ยากจนกว่าไทยมาก จึงทำให้ถูกบีบจากทางประเทศจีนได้โดยง่าย
แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการเดินเกมความสัมพันธ์กับประเทศใดก็ตาม ทุกอย่างล้วนแล้วต้องขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของทางรัฐบาลไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถใช้ทรัพยากรและจุดแข็งของประเทศสร้างสมดุลด้านความสัมพันธ์ทางการทูตกับทุกประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคได้มากน้อยแค่ไหน
เรียบเรียงเนื้อหาบางส่วนจาก:https://thediplomat.com/2020/09/thailands-post-pandemic-dance-between-the-major-powers/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage