"...จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินบัญชีธนาคารของวัดไร่ขิง พบว่า เฉพาะแต่ห้วงเวลาปี 2564 จนถึงปัจจุบัน มียอดเงินจากบัญชีธนาคารของวัดถูกโอนออกไปยังบัญชีธนาคารส่วนตัวของอดีตพระธรรมวชิรานุวัตรจำนวนหลายครั้ง รวมยอดเงินกว่า 300 ล้านบาท ภายหลังยอดเงินในบัญชีธนาคารของวัดไร่ขิงเริ่มมีจำนวนน้อยลง อดีตพระธรรมวชิรานุวัตรจึงเริ่มหันไปยืมเงินพระผู้ใหญ่วัดอื่นๆ ที่สนิทสนมกันเพื่อนำมาเล่นพนัน โดยยอดเงินที่ขอยืมนั้นมีตั้งแต่หลักแสนบาทไปจนถึงหลักล้านบาทต่อครั้ง...
สร้างความตกตะลึงให้คนในสังคมไทยเป็นอย่างมาก!
สำหรับกรณี นายแย้ม อินทร์กรุงเก่า หรือ อดีตพระธรรมวชิรานุวัตร (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง เข้ามอบตัวแสดงความบริสุทธิ์ใจ ต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) หลังทราบเรื่องว่าตนเองกำลังจะถูกดำเนินคดีในความผิดฐานทุจริตยักยอกเงินวัดจำนวน 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจาก เจ้าหน้าที่ กก.5 บก.ป. ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า พระธรรมวชิรานุวัตร ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง และเป็นเจ้าคณะภาค 14 มีพฤติกรรมยักยอกเงินของวัดไปเล่นพนันออนไลน์ จึงจัดกำลังลงพื้นที่สืบหาเบาะแส โดยส่งสายลับเข้าไปแฝงตัวอยู่ในวัดนานกว่า 8 เดือน จนกระทั่งพิสูจน์ทราบแน่ชัดว่า อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิงผู้นี้ มีพฤติกรรมตามที่ถูกร้องเรียนจริง
ข้อมูลการสืบสวนหาเบาะแสของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของอดีตพระธรรมวชิรานุวัตร นั้น มีการเปิดเผยข้อมูลเป็นทางการไปแล้วว่า เริ่มจากการให้คณะกรรมการวัดทำการโอนเงินจากบัญชีธนาคารวัดไร่ขิง มายังบัญชีธนาคารส่วนตัว ก่อนจะโอนไปให้หญิงสาวรายหนึ่งที่เป็นนายหน้าเครือข่ายเว็บพนันนำไปโอนต่อเข้าบัญชีเว็บพนันออนไลน์ เพื่อเติมเครดิตสำหรับใช้เล่นพนันออนไลน์ จำพวก บาคาร่า
ขณะที่ จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินบัญชีธนาคารของวัดไร่ขิง พบว่า เฉพาะแต่ห้วงเวลาปี 2564 จนถึงปัจจุบัน มียอดเงินจากบัญชีธนาคารของวัดถูกโอนออกไปยังบัญชีธนาคารส่วนตัวของอดีตพระธรรมวชิรานุวัตรจำนวนหลายครั้ง รวมยอดเงินกว่า 300 ล้านบาท ภายหลังยอดเงินในบัญชีธนาคารของวัดไร่ขิงเริ่มมีจำนวนน้อยลง อดีตพระธรรมวชิรานุวัตรจึงเริ่มหันไปยืมเงินพระผู้ใหญ่วัดอื่นๆ ที่สนิทสนมกันเพื่อนำมาเล่นพนัน โดยยอดเงินที่ขอยืมนั้นมีตั้งแต่หลักแสนบาทไปจนถึงหลักล้านบาทต่อครั้ง
ส่วนหญิงสาว ที่เป็นนายหน้ารับแทงพนันจากเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง หรือ น.ส.อรัญญาวรรณ วังทะพันธ นั้น จากข้อมูลสืบสวนพบว่ามีส่วนสำคัญและเกี่ยวข้องกับการยักยอกเงินวัดไร่ขิงของพระธรรมวชิรานุวัตรเป็นอย่างมาก เนื่องจากทำหน้าที่เปรียบเหมือนนายหน้าหรือตัวแทนเว็บพนันออนไลน์คอยรับเดิมพันแทงพนันจากพระธรรมวชิรานุวัตร
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบเส้นทางการเงินสำคัญในคดีผ่านบัญชีธนาคาร 3 บัญชี ที่กลายมาเป็นหลักฐานสำคัญที่ใช้มัดตัว อดีตพระธรรมวชิรานุวัตร ในคดีนี้ ว่าเป็นผู้ใช้งานบัญชีด้วยตนเอง และมีการโอนเงินออกไปให้นายหน้ารับแทงพนันจริง
@ มีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง
แหล่งข่าวในทีมงานสอบสวน กก.5 บก.ป. ให้ข้อมูลผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ว่า จุดเริ่มต้นคดีนี้ เกิดขึ้นจากมีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของ อดีตพระธรรมวชิรานุวัตร เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง จากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า มีบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้อง 3 บัญชี แยกเป็นบัญชีธนาคารออมสิน ชื่อ พระเทพศาสนาภิบาล หรือ พระธรรมวิชารานุวัตร (แย้ม อินทร์กรุงเก่า) , บัญชีธนาคารกสิกรไทย ชื่อ พระธรรมวิชารานุวัตร (แย้ม อินทร์กรุงเก่า) และ บัญชีธนาคารกรุงไทย , ชื่อพระเทพศาสนาภิบาล หรือ พระธรรมวิชารานุวัตร (แย้ม อินทร์กรุงเก่า)
@ เส้นทางเงินบัญชีธนาคารแรก
จากการตรวจสอบข้อมูลในส่วน บัญชีธนาคารกสิกรไทย พบว่า เปิดบัญชีในช่วงเดือน ธ.ค.2552 ใช้หมายเลขโทรศัพท์ อดีตพระธรรมวชิรานุวัตร ผูกธุรกรรมบัญชี ใช้งานอยู่กับอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ SAMSUNG Galaxy S24 Ultra ซึ่งหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าว มีการติดต่อกับหมายเลขโทรศัพท์ ของ น.ส.อรัญญาวรรณ วังทะพันธ์ ผ่านแอพพลิเคชั่น Getcontact พบว่าหมายเลขข้างต้นมีการบันทึกชื่อว่า “เก็น*ลูกพี่ใจ” ซึ่ง น.ส.อรัญญาวรรณฯ มีชื่อ เล่นว่า “เก็น” อีกทั้งเมื่อตรวจสอบการลงทะเบียนใช้งานบัญชีแอพพลิเคชั่นไลน์ พบว่าใช้งานกับไลน์ชื่อ “Gennaja” (ดูภาพประกอบ)
มีรายการโอนเงินมากกว่า 50,000 บาทต่อรายการ ในช่วงปี 2566 - 2567 จำนวนมากหลายรายการ (ดูภาพตัวอย่างประกอบ)
ต่อมาในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกนโยบายให้ต้อง สแกน ใบหน้า ยืนยันตัวตนเมื่อทำธุรกรรมผ่านแอปธนาคาร หรือทำธุรกรรมผ่าน mobile banking กรณีที่โอนเงิน 50,000 บาท ขึ้นไปต่อรายการ เมื่อบัญชีข้างต้น มีการทำธุรกรรมโอนเงินยอดมากกว่า 50,000 บาทต่อ รายการตั้งแต่วันที่นโยบายบังคับใช้ จนถึงปัจจุบัน การทำธุรกรรมจะต้องผ่านการสแกนใบหน้ายืนยันตัวตนโดยอดีตพระธรรมวชิรานุวัตร ซึ่งเป็นเจ้าของบัญชี
เมื่อตรวจสอบพิกัดการใช้งานบัญชีธนาคารข้างต้น ขณะทำรายการโอนเงินไปยังบัญชีต่างๆ พบว่าพิกัดการใช้งานบัญชีธนาคารกสิกรไทย มีพิกัดการใช้งาน(ละติจูด,ลองจิจูด) ประจำอยู่ที่วัดไร่ขิงบริเวณกองงานเจ้าคณะภาค 14 และกุฏิเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง เป็นประจำ (ดูภาพตัวอย่างประกอบ)
ขณะที่จากการตรวจสอบพิกัดการถอนเงินสด พบว่า มีการถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดไร่ขิง เป็นประจำ โดยจะเป็นการถอนโดยใช้บัตรเอทีเอ็มธนาคารกสิกรไทย
เมื่อตรวจสอบการมีปฏิสัมพันธ์ทางการเงิน การโอน-รับโอนเงินระหว่างบัญชีธนาคารอื่น ของอดีตพระธรรมวชิรานุวัตร และคนใกล้ชิด พบว่ามีปฏิสัมพันธ์ทางการเงินกับบัญชีธนาคารอื่นๆ ของอดีตพระธรรมวชิรานุวัตร , บัญชีธนาคารของไวยาวัจกรวัดไร่ขิง และญาติพี่น้องของพระธรรมวชิรานุวัตรด้วย
@ เส้นทางเงินบัญชีธนาคารที่สอง
ในส่วน บัญชีธนาคารออมสิน จากการตรวจสอบพบว่า เปิดบัญชีเมื่อเดือนตุลาคม 2562 ใช้หมายเลขโทรศัพท์ผูกธุรกรรมบัญชี เหมือนบัญชีธนาคารกสิกรไทย ใช้งานอยู่กับอุปกรณ์ โทรศัพท์มือถือ APPLE iPhone 16 Pro Max
จากการตรวจสอบพิกัดการถอนเงินสด พบว่ามีการถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดไร่ขิง เป็นประจำ โดยจะเป็นการถอนโดยใช้บัตรเอทีเอ็ม และมีปฏิสัมพันธ์ทางการเงิน การโอน-รับโอนเงินระหว่างบัญชีธนาคารอื่น ของพระธรรมวชิรานุวัตร และคนใกล้ชิด ญาติ เช่นกัน
@ เส้นทางเงินบัญชีธนาคารที่สาม
สำหรับบัญชีธนาคารออมสิน จากการตรวจสอบพบว่า เปิดบัญชีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ใช้หมายเลขโทรศัพท์ผูกธุรกรรมบัญชี เหมือน บัญชีธนาคารกสิกรไทย และ บัญชีธนาคารออมสิน ใช้งานอยู่กับอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ APPLE iPhone 16 Pro Max และยังสมัครรับการแจ้งเตือนธุรกรรมผ่านระบบส่งข้อความแจ้ง เตือน หรือ SMS Alert
จากการตรวจสอบพิกัดการถอนเงินสด พบว่ามีการถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดไร่ขิง เป็นประจำ โดยจะเป็นการถอนโดยใช้บัตรเอทีเอ็ม
@ เส้นทางเงินบัญชีธนาคารพระ, บุคคลใกล้ชิด
เมื่อตรวจสอบการใช้งานบัญชีธนาคารของพระรูปหนึ่งที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ พบว่า พิกัดการใช้งานของบัญชีธนาคารกสิกรไทยและ บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ ของ พระรูปนี้ มีพิกัดการใช้งาน(ละติจูด,ลองจิจูด) ประจำอยู่ที่วัดไร่ขิง บริเวณอาคารหลังคาสีฟ้า เมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าเป็นอาคารเรียงยาวมี 3 ชั้น ในส่วนชั้น 2และ ชั้น 3 เป็นห้องพักของคณะสงฆ์ในวัดไร่ขิง อีกทั้งบัญชีอื่นๆส่วนใหญ่จะพบรายการถอนเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็มของวัดไร่ขิง เช่นกัน
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า บัญชีธนาคารของพระรูปนี้ จะผูกการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอพพลิเคชั่นโมบายแบงค์กิ้งกับหมายเลขโทรศัพท์ส่วนตัว จากการตรวจสอบในช่วงเดือน พ.ย.2567 หมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าว ใช้งานอยู่กับโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ APPLE iPhone 16 Pro Max
แต่หลังจากที่มีเหตุการณ์ น.ส.อรัญญาวรรณ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี พบว่าหมายเลขดังกล่าวได้ปิดการใช้งานเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2567 และจากนั้นเครื่องโทรศัพท์ดังกล่าว ได้ถูกเปลี่ยนไปใช้งานกับเบอร์โทรศัพท์ของภรรยาคนสนิท อดีตพระธรรมวชิรานุวัตร จนถึงปัจจุบัน
นอกจากข้อมูลพระรูปนี้แล้ว ยังมีการตรวจสอบพบข้อมูลบุคคลคนหนึ่ง ใช้เบอร์โทรศัพท์เดิมของ อดีตพระธรรมวชิรานุวัตร เป็นผู้จดทะเบียนใช้งาน แต่เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2568 หลังจากที่ น.ส.อรัญญาวรรณ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี พบว่าหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อผู้จดทะเบียนใหม่ เป็นของภรรยาคนสนิท อดีตพระธรรมวชิรานุวัตร แต่จากการตรวจสอบข้อมูลพบการบันทึกชื่อผู้ใช้หมายเลขดังกล่าว คือ อดีตพระธรรมวชิรานุวัตร อีกทั้งบัญชีข้างต้นมีการถอนเงินสดเป็นประจำผ่านตู้เอทีเอ็มที่วัดไร่ขิง
จึงน่าเชื่อได้ว่าบัญชีธนาคารข้างต้น อดีตพระธรรมวชิรานุวัตรฯ เป็นผู้ถือใช้งานเอง
@ สรุปข้อมูลสำคัญ
จากข้อมูลเส้นทางการเงินทั้งหมด พนักงานสอบสวน มีความเห็นว่า พิกัดใช้งานของบัญชีธนาคาร ทั้ง 3 บัญชี ขณะทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงค์กิ้ง ใช้ประจำอยู่ที่วัดไร่ขิงบริเวณ กุฏิเจ้าอาวาส และกองงานเจ้าคณะภาค 14 , ประวัติการถอนเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็มกระทำในวัดไร่ขิงเป็นประจำ , หมายเลขโทรศัพท์ที่ผูกการทำธุรกรรมกับบัญชี หมายเลขโทรศัพท์ที่ รับแจ้งเตือนธุรกรรมผ่านระบบส่งข้อความแจ้งเตือน(SMS Alert) เป็นของอดีตพระธรรมวชิรานุวัตร , บัญชีมีประวัติการทำธุรกรรม ซึ่งเข้าเงื่อนไขต้องยืนยันตัวตนด้วยเจ้าของบัญชีคืออดีตพระธรรมวชิรานุวัตร และมีประวัติการโอน-รับโอนเงินระหว่างบัญชีธนาคารอื่นๆของอดีตพระธรรมวชิรานุวัตร และคนใกล้ชิดกับอดีตพระธรรมวชิรานุวัตร
จึงเชื่อว่าอดีตพระธรรมวชิรานุวัตร เป็นผู้ถือใช้งานบัญชีธนาคารข้างต้นด้วยตนเองจริง
ขณะที่ข้อมูลการโอนเงิน ของ อดีตพระธรรมวชิรานุวัตร จากการตรวจสอบพบว่า มีทั้งการโอนไปยังบัญชี น.ส.อรัญญาวรรณ โดยตรง และโอนเงินไปยังบุคคลใกล้ชิด จากนั้นคนใกล้ชิด ก็โอนเงินต่อไปยัง น.ส.อรัญญาวรรณ อีกครั้ง วงเงินที่โอนมีทั้งหลักหมื่น หลักแสน บางรายการเป็นหลักล้านบาท ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลทางธุรกรรมของ น.ส.อรัญญาวรรณ ก็พบว่าเป็นเจ้าของบัญชีรับเงินจริง
ทั้งหมดนี้ นับเป็นหลักฐานสำคัญที่นำมาใช้มัดตัวอดีตพระธรรมวชิรานุวัตร ในคดีนี้ ได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ อดีตพระธรรมวชิรานุวัตร ในช่วงหลังสอบปากคำ ในช่วงค่ำวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เจ้าตัวไม่มีความเครียดยอมรับสภาพของตนเอง
ทำพิธีลาสิขา ถือว่าพ้นจากการเป็นพระภิกษุสงฆ์เป็นฆราวาสอย่างสมบูรณ์ และไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับทางสงฆ์ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในฐานะผู้ต้องหาต่อไป