DSI จับมือกรมตำรวจกัมพูชา ทำข้อตกลงปราบค้ามนุษย์ ชี้ไม่ใช่แลกเปลี่ยนข้อมูล แต้ต้องร่วมมือสร้างระบบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 8 มิถุนายน 2568 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ร่วมกับ กรมตำรวจแห่งชาติกัมพูชา(Cambodian National Police – CNP) จัดการประชุมทวิภาคีด้านความร่วมมือระหว่างประเทศในการสืบสวนสอบสวนคดีค้ามนุษย์ ณ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
ในการนี้ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย ขณะที่ฝ่ายกัมพูชา นำโดย พล.ต.ท.CHIV PHALLY รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกัมพูชา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ พ.ต.ต.สิริวิชญ์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ พล.ต.ต. SOK SAMBO ผู้บัญชาการปราบปรามการค้ามนุษย์ และคุ้มครองเด็กและเยาวชนกัมพูชา ผู้แทนจากโครงการ ASEAN–ACT (ASEAN–Australia Counter Trafficking) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากทั้งสองประเทศ
วัตถุประสงค์หลักของการประชุม คือ การเสริมสร้างความร่วมมือเชิงปฏิบัติในการสืบสวนสอบสวนคดีค้ามนุษย์และบังคับใช้แรงงาน รวมถึงหารือร่วมกันต่อร่างข้อตกลงมาตรฐานการปฏิบัติงานร่วม (Standard Operating Procedures – SOP) ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากกระบวนการพัฒนาร่วมระหว่าง DSI และ CNP เพื่อยกระดับกลไกความร่วมมือข้ามพรมแดนให้ทันต่อความท้าทายของอาชญากรรมข้ามชาติในยุคดิจิทัล
ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวในที่ประชุมว่า “SOP ฉบับนี้ไม่เพียงเป็นกรอบการทำงานร่วมที่ชัดเจน แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพ ความเชื่อมั่น และเจตจำนงร่วมกันระหว่างไทย–กัมพูชา ในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” โดยรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกัมพูชา ได้เน้นย้ำว่า “เราต้องไม่เพียงแค่แลกเปลี่ยนข้อมูลเท่านั้น แต่ต้องร่วมมือกันในเชิงลึกเพื่อสร้างระบบที่สามารถปกป้องผู้เสียหายและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้อย่างจริงจัง ทั้งในประเทศ ของเราและในระดับภูมิภาค” การประชุมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างใกล้ชิดจากโครงการ ASEAN–ACT โดย Ms. Darlene PAJARITO, Justice Systems Director ซึ่งแสดงความยินดีต่อความก้าวหน้าในความร่วมมือว่า น่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นความร่วมมือแน่นแฟ้นระหว่างไทย–กัมพูชา และความมุ่งมั่นของทั้งสองฝ่าย ในการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน
ที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกันว่า จะเร่งดำเนินกระบวนการภายในของแต่ละประเทศ เพื่อผลักดันให้ร่าง SOP ฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบโดยเร็วที่สุด และตั้งเป้าจัดพิธีลงนามอย่างเป็นทางการในวาระการประชุมครั้งถัดไป เพื่อให้สามารถนำไปสู่การใช้จริงอย่างเป็นรูปธรรม