ไม่มีใครปฏิเสธอีกแล้วว่าสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา อยู่ในระดับวิกฤต และเสี่ยงเกิดสงครามหรือการสู้รบ
แม้รัฐบาลเพื่อไทยจะพยายามพูดให้ทุกอย่างยังดูดีอยู่ก็ตาม
ในสถานการณ์ขัดแย้งที่กำลังบานปลาย จนอาจเกิดเป็นสงครามย่อยๆ หรือลุกลามเป็นสงครามใหญ่ได้ทุกเมื่อนั้น ตำราพิชัยสงครามจาก “ซุนวู” ปราชญ์แห่งพิชัยยุทธ์ ซึ่งยอมรับกันโดยทั่วไปไม่ต่างจากสัจธรรมแห่งสงครามที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ยังคงใช้ได้เสมอ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง เขียนบทความอ่านจังหวะก้าวของกัมพูชาที่เปิดเกมรุก 10 เรื่อง แบ่งเป็น “7 ไม่ - 3 ฟ้อง” เพื่อนำมาประเมินทิศทางของสถานการณ์ และพิสูจน์ความท้าทายของรัฐบาลเพื่อไทยในการคลี่คลายวิกฤตนี้
@@ 10 การรุกของกัมพูชา! @@
หลังจากปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ขยายตัวและปะทุเป็น “วิกฤตชายแดน” อย่างเห็นได้ชัดในปัจจุบัน และสร้างความกังวลกับทุกฝ่ายอย่างมากว่า วิกฤตการณ์ในครั้งนี้จะขยายตัวเป็น “สงครามชายแดน” หรือไม่
กระนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังมีความหวังว่า วิกฤตครั้งนี้จะไม่ยกระดับมากกว่าที่เป็นอยู่ และขยับตัวขึ้นเป็นความขัดแย้งด้วยการใช้กำลังอาวุธ (armed conflict) หรือเป็นสถานการณ์ที่ย้อนกลับไปสู่การสู้รบในบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เช่นที่เกิดขึ้นในปี 2554
อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังที่จะเห็นปัญหาคลี่คลายไปในทางสันติ อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากพิจารณาจากท่าทีของฝ่ายกัมพูชาแล้ว จะเห็น “ความไม่ยืดหยุ่น” ในท่าทีที่เกิดขึ้นจากการนำเสนอของผู้นำกัมพูชา ซึ่งเราอาจสรุปท่าทีทั้งหมด คือ “7 ไม่ - 3 ฟ้อง” หรือเป็นทิศทางเชิงนโยบายของรัฐบาลกัมพูชาใน 10 ประเด็น ดังนี้
1.ไม่เจรจา - ผู้นำกัมพูชามีท่าทีที่ชัดเจน ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อมีปัญหาล่วงละเมิดเส้นเขตแดนเกิดขึ้นในบริเวณช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี ผู้นำกัมพูชาแสดงออกด้วยท่าทีในแบบ “ไม่เจรจา” ซึ่งท่าทีเช่นนี้ กลายเป็นปัจจัยในการสร้างความตึงเครียดในตัวเอง เพราะเมื่อข้อพิพาทไม่สามารถหาทางออกด้วยการเจรจาแล้ว การแก้ปัญหาในอนาคตจะดำเนินต่อไปอย่างไร
2.ไม่ถอน - ในขณะที่กองทัพกัมพูชาได้ส่งกำลังเข้ามาในพื้นที่ที่เป็นเขตอธิปไตยไทยทางด้านช่องบก หลังจากการปะทะได้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งยังมีการดัดแปลงภูมิประเทศในรูปของแนวคูติดต่อในแบบของสนามเพลาะ หรือ “คูเลท” ในภาษาทหาร ซึ่งทางออกที่ดีที่สุดในการคลี่คลายปัญหาน่าจะได้แก่ การถอนกำลังออกจากแนวดังกล่าว แต่ในทางการเมืองระหว่างประเทศแล้ว การ “ไม่ถอน” กำลังออกจากพื้นที่ที่เป็นปัญหาของกัมพูชา คือการสร้างความได้เปรียบในทางการเมืองในตัวเอง
3.ไม่ลด - ในทางทฤษฎี การลดความตึงเครียดอีกส่วนในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือ การส่งสัญญาณทางการเมือง ด้วยการลดระดับของกำลังลง เพราะการกระทำเช่นนี้จะเป็นสัญญาณเชิงบวกในเบื้องต้น โดยไม่จำเป็นต้องถอนกำลังทั้งหมดออกจากพื้นที่ ดังนั้น ท่าทีที่ชัดเจนคู่ขนานกับการไม่ถอนกำลัง ก็คือ กัมพูชาจะไม่ “ลดกำลัง” เพราะการคงกำลังในพื้นที่เป็นความได้เปรียบในตัวเอง
4.ไม่ปิดด่าน - ทางฝ่ายกัมพูชายังมีความจำเป็นที่ต้องพึ่งสินค้าอุปโภค-บริโภค ซึ่งเป็นพื้นฐานของสินค้าข้ามแดน ตลอดรวมถึงน้ำมัน และสินค้าที่จำเป็นอื่นๆ และทั้งยังต้องพึ่งไทยในฐานะของการเป็น “ประตูอินเตอร์เน็ต” ออกสู่โลกภายนอก ผู้นำกัมพูชาจึงกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนในบ้าน จึงมีแนวคิดในแบบ “ไม่ปิดด่าน” ระหว่างประเทศทั้งสอง แต่ปัจจุบันกองทัพไทยได้เริ่มปิดด่านผ่านแดนบางจุดแล้ว
5.ไม่รับแผนที่ - ข้อถกเถียงในปัญหาเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ที่เห็นมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะในช่วงปี 2554 ที่เกิดการอุทธรณ์คดีพระวิหารต่อศาลโลก คือ การยึดถือแผนที่คนละมาตราส่วน กัมพูชาใช้แผนที่ 1: 200,000 ส่วนไทยใช้แผนที่ 1: 50,000 ซึ่งกัมพูชาถือว่าตนเองเป็นฝ่ายได้เปรียบ จึงมีแนวทางชัดเจนที่ “ไม่ยอมรับแผนที่” ของไทย ปัญหาเช่นนี้ทำให้ข้อพิพาทไม่สามารถยุติได้เลยทั้งปัจจุบันและในอนาคต เพราะเป็นแผนที่คนละฉบับที่แตกต่างกัน
6.ไม่เอา MOU - พื้นฐานเดิมที่ใช้เป็นกรอบในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งคือ “บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำเขตแดนทางบก” (MOU 2543 หรือ MOU ค.ศ. 2000) เพราะบันทึกนี้กำหนดห้ามท้ัง 2 ประเทศให้ “งดเว้นการดำเนินการใดๆ ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ชายแดน” ซึ่งในความเป็นจริง กัมพูชามีการดำเนินการเปลี่ยนสภาพในหลายพื้นที่
7.ไม่แก้จุดเดียว - ปัญหาปัจจุบันอยู่ที่จุดช่องบก แต่ผู้นำกัมพูชาต้องการขยายประเด็นไปสู่จุดอื่นๆ เช่น กรณีปราสาทบริเวณตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ และอาจขยายไปยังปัญหาเส้นเขตแดนทะเล ซึ่งทำให้ปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันมีความซับซ้อนในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ นโยบายแบบ “ไม่แก้จุดเดียว”
8.ฟ้องศาล - คำประกาศของผู้นำกัมพูชามีความชัดเจนที่ต้องการยกระดับความขัดแย้ง เพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นถูกนำไปสู่การเป็นคดีในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก (ICJ) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งความต้องการให้เป็นคดีเช่นนี้ ทิศทางการ “ฟ้องศาลโลก” เป็นเพราะผู้นำกัมพูชาเชื่อมั่นอย่างมากในความได้เปรียบของหลักฐานในกรณีนี้ ดังเช่นที่ปรากฏมาแล้วในคดีพระวิหาร
9.ฟ้องสังคม - ในปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่ารัฐบาลกัมพูชาดำเนินนโยบายแบบ “การทูตสาธารณะ” (public diplomacy) ที่สร้างการเคลื่อนไหวในเวทีสากลผ่านกระบวนการสาธารณะ โดยเฉพาะการกระจายข่าวในเวทีสาธารณะ หรือการสร้างการเคลื่อนไหวในโลกสื่อออนไลน์ ซึ่งฝ่ายกัมพูชาขับเคลื่อนในเวทีเช่นนี้อย่างมาก
10.ฟ้องโลก - เห็นได้ชัดว่า ตั้งแต่ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่กรณีช่องบก และการเผาศาลาตรีมุข (พรมแดนด้านจังหวัดอุบลราชธานี) ผู้นำกัมพูชาใช้การกระจายข่าวสารในเวทีระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จนต้องเรียกว่าเป็นนโยบายแบบ “ฟ้องโลก” คือ การเอาเวทีสากลเป็นเครื่องมือในการกดดันรัฐบาลไทย เพื่อสร้างภาพ “ผู้ใหญ่รังแกเด็ก”
// ท้ายบท //
ทิศทางนโยบาย 10 ประการของกัมพูชาเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลกัมพูชาสามารถสร้างความได้เปรียบในเวทีการเมือง-การทูตอย่างมาก หรือเห็นถึงทิศทาง “10 การรุก” ทางการเมืองอย่างมาก และเป็นความพยายามที่ดำเนินการคู่ขนานกับปฏิบัติการทางทหารของกองทัพกัมพูชา
ปรากฏการณ์ดังกล่าวในข้างต้น ต้องถือว่า ทิศทางเช่นนี้เป็นความท้าทายต่อแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่อาจเรียกว่า “วิกฤตการณ์ช่องบก 2” ของรัฐบาลไทยอย่างมากในปัจจุบัน!