นโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ถูกคิดและขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องหลายรัฐบาล
และวันนี้ เมื่อไทยกำลังได้รับผลกระทบจากมาตรการกำแพงภาษีใหม่ของสหรัฐฯ ยิ่งทำให้เราต้องขยายและกระจายครัวไทยให้เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างแท้จริง
จะปักหมุดเพียงประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้อีกแล้ว...
เหตุนี้เองจึงมีการผลักดันแนวคิด “ตลาดนำนวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้” ผสานกับนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกของรัฐบาล เพื่อยกระดับ “อาหารฮาลาลชายแดนใต้” สู่สากล
แน่นอนว่างานประเภทนี้คือความรับผิดชอบหลัก และความถนัดของ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ซึ่งได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้ทิศทางการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่ “เมืองนวัตกรรมอาหารฮาลาล” เพื่อเตรียมความพร้อมแก่ผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อรองรับการยกระดับจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่ “เมืองนวัตกรรมอาหารฮาลาล” ให้มีความรู้ความเข้าใจ และจับมือก้าวไปด้วยกัน
โดยเฉพาะการตระหนักถึงความสำคัญของการนำนวัตกรรมมาใช้ในการสร้างมูลค่าและคุณภาพอาหาร รวมถึงการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความพร้อมในการเชื่อมโยงผลผลิตไปสู่การตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจะครบวงจรสร้างนวัตกรรม สร้างงาน สร้างรายได้อย่างแท้จริง
กิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ มีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย ผู้ประกอบการด้านอาหารฮาลาลในพื้นที่, เกษตรกร, ตัวแทนจากสถาบันการศึกษา, หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 100 คน
นาวาเอก จักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศอ.บต. กล่าวว่า ศอ.บต.เล็งเห็นถึงโอกาสในการยกระดับนวัตกรรมอาหารฮาลาล จึงริเริ่มโครงการยกระดับจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็น “เมืองอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล” หรือ Halal Food Innopolis โดยมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพ, การแปรรูปที่ได้มาตรฐาน, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรม ไปจนถึงการเชื่อมโยงกับตลาดทั้งในและต่างประเทศ
มีการจัดตั้ง “ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหารฮาลาล” ให้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนวิสัยทัศน์นี้
“ศอ.บต.จะทำหน้าที่เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ เทคโนโลยี และเครือข่ายที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในพื้นที่ และจะช่วยให้ผู้ประกอบการของเราสามารถยกระดับมาตรฐานการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง และเข้าถึงตลาดที่กว้างขึ้นต่อไป” นาวาเอก จักรพงษ์ ระบุ
@@ กล้วยเส้น “นาวาตี” จากท้องถิ่นสู่ห้างค้าปลีกยักษ์
สำหรับสินค้าในพื้นที่ มีหลายรายการที่สามารถสนับสนุนและผลักดันได้สำเร็จ อาทิ การแปรรูปกล้วย ของ บริษัทบ้านกล้วย 2017 จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 2 ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี มีการผลิตกล้วยเส้นทรงเครื่อง ยี่ห้อ “นาวาตี” สามารถขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ และห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ทั่วประเทศ อาทิ 7-11, Jiffy, Big C, The Mall
นางมาลัย เพ็งมูซอ ประธานบริษัทบ้านกล้วย 2017 จำกัด กล่าวถึงที่มาของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ก่อนได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐว่า เดิมเป็นแค่วิสาหกิจชุมชนบ้านกล้วย ตั้งขึ้นเมื่อปี 2556 และได้ยกระดับ บริษัทจำกัด ทำมาเรื่อยๆ จนในที่สุดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการส่งสินค้าไปขายในร้านสะดวกซื้อ 7-11 จำนวน 5,000 สาขา ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและใกล้เคียง จำนวน 60,000 ซอง รู้สึกดีใจและ อนาคตหวังจะกระจายสินค้าไปในระดับสากล
นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงบริษัทบ้านกล้วย 2017 จำกัด ว่า เป็นสินค้าตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ สามารถกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ควรส่งเสริมการดำเนินกิจการในมิติต่างๆ อาทิ การปลูกกล้ายที่มีคุณภาพ, การพัฒนาคุณภาพดินเพื่อรองรับการปลูกกล้วย และให้คำแนะนำเรื่องเงินหมุนเวียนในระบบธุรกิจด้วย