เหตุการณ์ความไม่สงบซึ่งเกิดอย่างต่อเนื่องหลายวันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงนี้ และหลายพื้นที่เป็นเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ กลายเป็นแรงกระตุกให้สังคมไทยหันมาสนใจปัญหาที่ปลายด้ามขวานกันอีกครั้ง
พร้อมๆ กับ 3 คำถามสำคัญ คือ
1.ใต้ป่วนใหญ่... อันตราย หรือไม่เป็นไร เหมือนเคย?
2.ด่านมีไว้ทำไม?
3.เบื้องหลังไฟใต้โชน... เจรจา(ไม่)ใช่ทางออก?
@@ ใต้ยังป่วนไม่หยุด
เหตุรุนแรงเกิดถี่ยิบช่วงเดือนรอมฎอน ทั้งๆ ที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงพยายามประชาสัมพันธ์แคมเปญ “รอมฎอนสันติสุข” แต่ปรากฏว่ารอมฎอนปีนี้กลับร้อนแรงเป็นพิเศษ โดยเฉพาะ “คาร์บอมบ์” และปฏิบัติการปิดเมืองโจมตีที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
“รอมฎอน” หรือ เดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิมปีนี้ เริ่มวันแรก วันที่ 2 มี.ค. แต่ผ่านมาเพียง 3 วัน คือ วันที่ 5 มี.ค.ก็เริ่มเกิดเหตุรุนแรง และนับถึงวันนี้ 11 มี.ค. ระยะเวลา 6 วัน เกิดเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ แล้ว 20 เหตุการณ์
เฉพาะวันอังคารที่ 11 มี.ค. เกิดเหตุรุนแรงอีก 2 เหตุการณ์ คือ ยิงทหารยศร้อยโท ที่หน้าฐานปฏิบัติการใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา ล่าสุดทหารรายนี้เสียชีวิตแล้ว
อีกเหตุการณ์หนึ่งคือระเบิดโจมตี อส. หรือ กองร้อยอาสารักษาดินแดน ที่ อ.สุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส โชคดีไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เพราะระเบิดทำงานช่วงที่รถของ อส.แล่นผ่านไปแล้ว
นับจากวันที่ 5 มี.ค. ถึง 11 มี.ค. ระยะเวลา 6 วัน เกิดเหตุรุนแรงและการสร้างสถานการณ์รูปแบบต่างๆ 20 เหตุการณ์
- แยกเป็นเหตุระเบิด จำนวน 7 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ได้รับบาดเจ็บ 14 ราย
- ยิงด้วยอาวุธปืน 2 เหตุการณ์ เสียชีวิต 2 ราย เป็น อส. และทหาร
- เหตุก่อกวน วางวัตถุต้องสงสัย วางเพลิงเผากล้องวงจรปิด เผายางรถยนต์ ขว้างประทัดยักษ์ รวม 11 เหตุการณ์
ตั้งแต่ต้นปี 68 ซึ่งเป็นวาระ 21 ปีไฟใต้ ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 22
- เกิดคาร์บอมบ์แล้ว 1 ครั้ง ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
- โชเล่ย์บอมบ์ 2 ครั้ง ที่ อ.แว้ง และ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส
- ติดระเบิดใต้ท้องรถ รถระเบิดในสถานที่ราชการ 4 ครั้ง
- พัฒนาการระเบิด Magnet Bomb, รถบังคับวิทยุลำเลียงระเบิด
- “บอลบอมบ์” ใช้สารระเบิดแรงสูง ปิดจุดอ่อน “ไปป์บอมบ์”
บทสรุป : สถานการณ์ไฟใต้ไม่ดีขึ้น แม้ผ่าน 21 ปีมาแล้ว ใช้งบไป 5.1 แสนล้าน
@@ ด่านมีไว้ทำไม? บทเรียน “สุไหงโก-ลก”
เหตุรุนแรงขนาดใหญ่ที่สุดของรอมฎอนปีนี้ (นับถึงเวลานี้) คือ “เหตุปิดเมืองสุไหงโก-ลก”
- กองกำลังติดอาวุธชุดดำบุกยิงด้วยอาวุธสงคราม ปาไปป์บอมบ์
- รถคาร์บอมบ์โจมตี
- เป้าหมาย “ที่ว่าการอำเภอ”
- เกิดเหตุแทรกซ้อนอีกหลายเหตุการณ์ ดึงความสนใจ และสกัดการส่งกำลังเข้าช่วยเหลือ/สนับสนุน
- คนร้ายประกอบกำลังกันกี่คน นัดพบกันที่ไหน เดินทางเข้ามาได้อย่างไร และหนีอย่างไร
- ชาวบ้านในพื้นที่พากันกังขาว่าเหตุเกิดได้อย่างไร
เหตุผลคือ...
- ที่ว่าการอำเภอ อยู่ใจกลางเขตเทศบาล
- เส้นทางเข้าผ่านด่านและจุดตรวจหลายแห่ง แทบทุกทางแยก
- คนร้ายนั่งท้ายกระบะเข้ามา ชุดดำ อาวุธครบมือ ผ่านมาจากทางไหน รอดด่านมาได้อย่างไร
- ประชาชนที่สัญจรในเขตเทศบาล ต้องเจอด่าน เจอตรวจ แต่คนร้ายไม่โดนตรวจหรืออย่างไร เป็นความกังขาของชาวบ้านร้านตลาด
- ก่อเหตุแล้วหนีไปได้อย่างไร ทำไมไม่เจอด่าน
ต่อมาพบรถกระบะที่ใช้ลำเลียงกองกำลังติดอาวุธ จอดทิ้งที่ อ.สุไหงปาดี ทำให้เกิดคำถามอีกว่า เจ้าหน้าที่มีแผนเผชิญเหตุ แต่กลับป้องกันไม่ได้ สกัดจับไม่ได้
@@ เบื้องหลังไฟใต้โชน
ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุรุนแรงลักษณะนี้ เพราะเกิดต่อเนื่องมาแล้ว 21 ปีแล้ว คำถามคือ ความต่างของครั้งนี้ คืออะไร?
1.โต๊ะพูดคุยดับไฟใต้ ถูกแช่แข็งข้ามปี ไม่มีความคืบหน้า
- ยกเลิกคณะพูดคุยฯชุดเก่า เพราะฝ่ายไทยเปลี่ยนรัฐบาล
- ตั้งรัฐบาลแพทองธาร แต่ยังไม่ตั้งคณะพูดคุยฯ
กลุ่มก่อความไม่สงบจึงเร่งก่อเหตุรุนแรง เพื่อกดดันให้รัฐบาลตั้งคณะพูดคุยฯ ใช่หรือไม่?
2.รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง นายภูมิธรรม เวชยชัย สั่งทบทวนยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ (ตั้งแต่ 6 ม.ค.68)
- ยังไม่ตกผลึกยุทธศาสตร์ใหม่
- มีพูดถึงการปัดฝุ่นนโยบาย 66/23 แต่ก็ยังไม่คืบหน้า
- มีข่าวเตรียมตั้ง พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกลาโหม เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯชุดใหม่
- ใช้ “รอมฎอนสันติ” นำร่อง
กลุ่มก่อความไม่สงบเร่งก่อเหตุรุนแรง เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าคัดค้านความเคลื่อนไหวเหล่านี้หรือไม่?
3.อดีตนายกฯทักษิณ ลงพื้นที่ ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน
- เอ่ยขออภัย แต่ไม่ได้ขอโทษ
- ประกาศไฟใต้ต้องจบปีหน้า
การประกาศไฟใต้จะจบปีหน้า แม้แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่เองก็ยังวิจารณ์และอึดอัด เพราะเหมือนเร่งรัด และเร่งให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐ “แสดงศักยภาพ” เพื่อประกาศว่า “ไม่ยอมให้จบ” หรือไม่
เรื่องนี้ภาคประชาสังคมในพื้นที่ก็วิจารณ์กันหนัก ขณะที่แกนนำรัฐบาลตั้งแต่นายกฯแพทองธาร และรองนายกฯภูมิธรรม ออกมาประสานเสียงปฏิเสธ
คำถามคือ ประชาชนเชื่ออย่างไร?
@@ เจรจา (ไม่) ใช่ทางออก?
กระแสเรียกร้อง/วิจารณ์ที่ควบคู่มากับเหตุรุนแรง คือ เร่งรัฐบาลให้เปิดโต๊ะพุดคุยสันติภาพ/สันติสุข
โต๊ะพูดคุยฯ เกิดขึ้นอย่างเปิดเผย เป็นทางการ ครั้งแรกปี 2556 ในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ผ่านมา 12 ปี ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
ล่าสุดอดีตนายกฯทักษิณ พูดถึงบทบาทของอินโดนีเซีย และมีข่าวการเตรียมแต่งตั้ง พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯคนใหม่ เท่ากับมีแนวโน้มดึงอินโดฯเข้าร่วมวง เพราะ พล.อ.นิพัทธ์ มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำระดับสูงของแดนอิเหนา
เรื่องนี้จะกลายเป็นเงื่อนไขใหม่หรือไม่ เพราะการพูดคุยเจรจาท่ามกลางบรรยากาศปัจจุบัน ก็ยังถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่าย
โดยเฉพาะ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง
“สมช. คนคุมงานความมั่นคงของรัฐบาล และคณะบุคคลที่ถูก ‘อุปโลกน์’ ให้เป็นผู้รับผิดชอบงานภาคใต้ มีการเปิดเวที ‘แนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศในการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติสุข’ เป็นทิศทางพูดคุยกับ BRN เพื่อยุติความรุนแรง แต่สิ่งที่เกิดกลับสวนทาง เป็นการขยายการก่อความรุนแรงของ BRN”
“ความเป็นเลิศของแนวทางการปฏิบัติจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เมื่อที่ประชุมในวันนั้นเริ่มต้นยอมรับ ‘JCPP’ ต้องเลิกแนวคิดและความคาดหวังที่ว่า ‘เรายอมโจร แล้วโจรจะยอมเรา’ เพราะจะกลายเป็นการพารัฐไทยเดินเข้าสู่ ‘กับดัก’ ทางการเมืองของ BRN”
ปัญหาชายแดนใต้ ยิ่งยืดเยื้อยาวนาน ดูจะยิ่งซับซ้อนซ่อนเงื่อน!