ช่วงเวลาที่ “ระดับนโยบาย” ยังไม่มีความชัดเจนในแง่ “ยุทธศาสตร์” ว่าจะดับไฟใต้กันอย่างไรให้สงบเสียที หลังจากยืดเยื้อมานานถึง 21 ปี แทบไม่มีอะไรดีขึ้น
ปรากฏว่า ระดับยุทธวิธี - ฝ่ายปฏิบัติในพื้นที่ มีการปรับตัวกันพอสมควร โดยเฉพาะการสับเปลี่ยน “คีย์แมน” ที่มีบทบาทสำคัญในการ “คุมพื้นที่เพื่อความปลอดภัย” อย่าง ผู้บังคับการกองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบ.กกล.ทพ.จชต.)
เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 พ.ค.68) มีการส่งมอบหน้าที่ ผู้บังคับการกองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร หรือ “ค่ายบ่อทอง” อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จาก ผบ.คนเดิม คือ “ผู้การแผน” พ.อ.สฐิรพงษ์ อาจหาญ เป็น “ผู้การเก๋” พ.อ.หาญพล เพชรม่วง
โดย “ผู้การแผน” พ.อ.สฐิรพงษ์ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 33 ส่วน “ผู้การเก๋” พ.อ.หาญพล ผบ.คนใหม่ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 32 ถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของ พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 เพราะเป็นการย้ายนอกฤดู
โดย ผู้การหาญพล มีความชำนาญพื้นที่อย่างสูง มีข้อมูลเชิงลึก รู้จักคน รู้จักสภาวะแวดล้อม และมีผลงานเชิงประจักษ์ในแง่ยุทธการ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผอ.กองข่าว กองทัพภาคที่ 4
การเปลี่ยนตัวผู้บังคับการกองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ จึงเป็นการ “ยกระดับมาตรการ รปภ.พื้นที่” เพื่อให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ลดความสูญเสียของกำลังพลและประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยวิธีการ
- อุดช่องโหว่การลาดตระเวน ซึ่งต้องวางยุทธวิธีใหม่
- ลดช่องว่างพื้นที่รอยต่อ ระหว่างตำบล ระหว่างอำเภอ และระหว่างจังหวัด ซึ่งเป็นจุดที่มีการลอบโจมตี ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร กองกำลังภาคประชาชน และผู้บริสุทธิ์ทั่วไป
- ลดความเสี่ยงช่วงเวลาอันตราย เพราะกลุ่มป่วนใต้นิยมก่อเหตุรุนแรง คือ ช่วงค่ำ หลังพระอาทิตย์ตกดิน เนื่องจากชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) และ อส.ที่เป็นมุสลิม ต้องไปปฏิบัติศาสนกิจ ละหมาดช่วงค่ำ ทำให้มีช่องโหว่ในมาตรการ รปภ.
สำหรับการจัดกำลังรักษาความปลอดภัยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมถึงพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ซึ่งมีสถานการณ์ความไม่สงบนั้น ปัจจุบันมีอำเภอทั้งหมด 37 อำเภอ กำลังหลักที่ดูแลพื้นที่เกือบทุกอำเภอ คือ ทหารพราน มีทั้งทหารพรานของกองทัพภาคที่ 4 และกองทัพภาคอื่นที่ส่งลงมา
ฉะนั้นการวางกำลังทหารพราน จึงเป็น “กุญแจสำคัญ” ของการรักษาความปลอดภัยพื้นที่อย่างแท้จริง
@@ เปิดโครงสร้าง ฉก.จังหวัด - ฉก.ทหารพราน
พื้นที่ จังหวัดปัตตานี จำนวน 12 อำเภอ มี พล.ต.ขจรศักดิ์ อินทร์ทอง เป็น ผบ.ฉก.ปัตตานี จัดกำลังจาก “ทหารพราน” ควบคุมพื้นที่เกือบทุกอำเภอ ยกเว้น อ.ยะรัง เป็นทหารพรานที่มาจากกองทัพภาคที่ 2 คือ ฉก.ทพ.22 และตำรวจ คือ ฉก.ปัตตานี 92 ควบคุม อ.เมืองปัตตานี
พื้นที่จังหวัดยะลา จำนวน 8 อำเภอ มี พล.ต.อภินันท์ แจ่มแจ้ง เป็น ผบ.ฉก.ยะลา จัดทหารพรานควบคุมพื้นที่ อ.ยะหา อ.กาบัง อ.กรงปินัง อ.รามัน ส่วนทหารพรานที่จัดมาจากกองทัพภาคที่ 3 คือ ฉก.ทพ.33 ควบคุมพื้นที่ อ.บันนังสตา
ในเขตเมืองยะลามอบให้ ฉก.ตำรวจ ยะลา 91 และ อ.เบตง กับบางส่วนของ อ.ธารโต มอบให้ ฉก.ตชด.44 รับผิดชอบ
พื้นที่จังหวัดนราธิวาส จำนวน 13 อำเภอ มี พล.ต.ณรงค์ ตันติสิทธิพร ผบ.พล.ร.15 ปฏิบัติหน้าที่ ผบ.ฉก.นราธิวาส มีหน่วยทหารพราน และหน่วยนาวิกโยธิน ที่เคยดูแลนราธิวาสมาแต่เดิม ควบคุมพื้นที่ดังนี้
ฉก.นย.ทร. ควบคุมพื้นที่ อ.บาเจาะ อ.ยี่งอ อ.ตากใบ และ อ.สุไหงโก-ลก มี นาวาเอก สันติ เกศศรีพงษ์ศา ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 3 กองพลนาวิกโยธิน ปฏิบัติหน้าที่ ผบ.ฉก.นย.ทร.
ส่วน อ.เมืองนราธิวาส มอบให้ ฉก.ตำรวจ นราธิวาส 93 ควบคุมพื้นที่
ทหารพราน ควบคุมพื้นที่ อ.รือเสาะ อ.ศรีสาคร อ.จะแนะ อ.แว้ง อ.สุคิริน อ.ระแงะ อ.เจาะไอร้อง และ อ.สุไหงปาดี
พื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา มอบให้ ฉก.ตชด.43 และ ทหารเขียว จากกองทัพภาคที่ 4 ควบคุมพื้นที่ มี พล.ท.ทองทวน ทองสุภา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่ ผบ.ฉก.สงขลา
สำหรับการควบคุมสั่งการ ผู้บังคับบัญชาสูงสุดระดับพื้นที่ คือ ผอ.รมน.ภาค 4 สั่งการไปยัง ผบ.ฉก.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และ ผบ.ฉก.นย.ทร. จากนั้น ผบ.ฉก.จังหวัด จะสั่งการ ผบ.ฉก.ประจำพื้นที่ที่ดูแลระดับอำเภอ