คุยกันต่อกับ ดร.ซาช่า เฮลบาร์ต (Dr. Sascha Helbardt) นักวิจัยชาวเยอรมัน ซึ่งร่วมวิจัยในโครงการ “แนวความคิดในการต่อต้านความรุนแรงแบบสุดโต่ง กับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย”
ประเด็นต่อเนื่องจากตอนที่ 1 ซึ่ง ดร.ซาช่า แจกแจง 5 ดัชนีชี้วัดเอาไว้ว่าเป็นภาพสะท้อนสถานการณ์ชายแดนใต้ไม่ได้ดีขึ้นจริงตามสถิติเหตุรุนแรงที่ลดลงตามที่ฝ่ายความมั่นคง (บางหน่วย) กล่าวอ้าง
ดร.ซาช่า อธิบายว่า สาเหตุที่ไฟใต้ไม่ดีขึ้นจริง ทั้งๆ ที่แก้กันมา 21 ปี หมดงบไปกว่า 5 แสนล้าน มาจากการที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงกำหนดแนวทางแก้ไขผิดทาง-ผิดทิศ
“เขาไปมุ่งแก้เศรษฐกิจ ความไม่เท่าเทียม ความยากจน เหมือนกับที่กองทัพและฝ่ายความมั่นคงไทยเคยแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์สำเร็จมาแล้ว แต่ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นคนละแบบกัน เพราะไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ”
@@ แก่นปัญหาคือ “ญิฮาด” และอุดมการณ์ชาตินิยม
ดร.ซาช่า ถอดรหัสยุทธศาสตร์การต่อสู้ของ BRN ว่า ใช้เรื่องอุดมการณ์ หรือ Ideology ชาตินิยมปัตตานี หรือ Nationalism และญิฮาดดิซึม (Jihadism) ในการขับเคลื่อนและขยายฐานสมาชิก ที่สำคัญคือพวกเขาเป็น “องค์กรลับ”
“จะเห็นได้ว่ารากเหง้าของปัญหาที่นำมาใช้ต่อสู้ เป็นคนละแบบกับคอมมิวนิสต์ที่เน้นเรื่องความยากจน ความไม่เท่าเทียม และการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่สิ่งที่ BRN นำมาขับเคลื่อนเป็นคนละแบบ และถ้าเขาเป็นองค์กรเปิดเผย เขาจะพ่ายแพ้ เป็นบทเรียนที่เขาสรุปจากที่เคยต่อสู้กับรัฐไทยมาตลอด”
“ฉะนั้นนโยบายของรัฐไทยที่นำมาแก้ถึงไม่เวิร์ค สถานการณ์อาจจะดีขึ้นบ้าง ความรุนแรงลดลงบ้าง แต่ความร้ายแรงของปัญหาไม่ได้ลดลง”
@@ ปัดฝุ่น 66/23 ไม่ใช่คำตอบ
นักวิจัยชาวเยอรมัน ย้ำว่า การพัฒนาพื้นที่ไม่ได้เป็นความผิด จริงๆ คือสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่คำตอบของปัญหา BRN
“ผมเคยคุยกับคนที่ recruit (รีครูท : เกณฑ์, หาสมาชิก) เด็กเข้าขบวนการ คนที่ recruit เด็กให้ BRN เขาบอกเลยว่าเขาไม่เอาเด็กยากจน เพราะเด็กจนไม่มีเวลามาเรียนกับ BRN ข้อมูลนี้ชัดเจนว่า ตรงข้ามกับสิ่งที่รัฐทำมาตลอด แล้วไปเน้นความเจริญ เพราะคนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่คนที่ถูก recruit เข้าขบวนการโดยตรง”
“เหมือนที่ ศอ.บต.ไปช่วยพัฒนา ไปช่วยคนจนในหมู่บ้าน แม้จะเป็นเรื่องดี ผมไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่มันไม่ได้แก้ปัญหา BRN เพราะสุดท้าย BRN ก็ใช้เรื่องนี้มาพลิกต่อต้านรัฐอีกที”
ดร.ซาช่า บอกอีกว่า การบ่มเพาะแนวคิดสุดโต่ง ตั้งแต่ระดับเด็กเล็ก BRN ไม่ได้ทำลดลงเลย ยังคงชาร์จแบตเตอรี่เด็กๆ เต็มที่ และมีพื้นที่มากขึ้นในโรงเรียนเสียด้วยซ้ำ
“ความเป็นปัตตานี ถูก define (ดีไฟน์ : ให้ความหมาย หรือนิยาม) ด้วยภาษา ศาสนา และมุมมองต่อต้านสยามอยู่แล้ว BRN นำเรื่องเหล่านี้มาสร้างชุดความคิดเชิงอุดมการณ์ ฉะนั้นมันลึกซึ้งจริงๆ ลึกกว่าที่พวกท่านคิด อยากให้ทหารเข้าใจ และอยากให้กระทรวงศึกษาฯ เข้าใจด้วย ต้องมาช่วยกันแก้ตรงนี้ ไม่ใช่ไปมุ่งทำเรื่องเศรษฐกิจ ความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำอย่างเดียว เพราะมันไม่ตรงจุดของปัญหา”
นักวิชาการจากเยอรมัน จึงฟันธงว่า ข่าวการฟื้นนโยบาย 66/23 ซึ่งเคยประสบความสำเร็จในการจัดการกับปัญหาคอมมิวนิสต์เมื่อ 45 ปีก่อน จึงนำมาใช้กับปัญหาภาคใต้ และใช้กับ BRN ไม่ได้อย่างแน่นอน
@@ ไฟใต้.. ทุกฝ่ายสมประโยชน์ ความรุนแรงจะหมดได้อย่างไร
ดร.ซาช่า ยังสรุปทิ้งท้ายในประเด็น “นโยบายผิดฝาผิดตัว” ด้วยว่า ปัญหาใหญ่อีกด้านหนึ่งคือเรื่องของ political economy ที่เอื้อต่อความรุนแรง
“ต้องยอมรับว่า ผู้ใหญ่ในฝ่ายความมั่นคงบางคนอยู่ในเศรษฐกิจความไม่มั่นคง ได้ผลประโยชน์จากเม็ดเงินงบประมาณจากปัญหาความไม่สงบ เรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงเฉพาะฝ่ายใด เพราะจริงๆ แล้วทุกฝ่ายที่เป็นผู้ใหญ่ได้เงินจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น และ BRN เองก็ได้ด้วย ทั้งได้จากงบประมาณของรัฐบางส่วน และการเก็บค่าสมาชิก”
“ฉะนั้นระบบนี้ และวงจรปัญหานี้ จึงมีแต่คนได้กับได้ กลายเป็น political economy (เศรษฐกิจการเมือง) ที่เอื้อต่อความรุนแรงในที่สุด”