ก่อนสิ้นเดือน พ.ค.68 ซึ่งมีเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงหยุดยาวสงกรานต์เดือน เม.ย. มีการสรุปสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบ และปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่
เป็นการแถลงร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ตำรวจ ทหาร และปกครอง ที่ห้องประชุมยะลารวมใจ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) โดยมี พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้นำการแถลง พร้อมด้วย พล.ต.ท.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (ผบช.ภ.9) นายก้องสกุล จันทราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และ พล.ต.ต.ชุมพล ศักดิ์สุรีย์มงคล ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน ศปก.ตร.สน.
@@ ตรวจค้น 37 ครั้ง รวบ 34 ผู้ต้องสงสัย
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย โดยกองกำลังทหารพราน งานสืบสวนคดีความมั่นคง และฝ่ายปกครอง ร่วมกันติดตามผู้กระทำผิดเพื่อมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งผลการปฏิบัติห้วงที่ผ่านมาสามารถเข้าปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมาย 37 ครั้ง ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 34 คน ให้การรับสารภาพ 22 คน นำไปสู่การดำเนินคดีเบื้องต้น 7 ราย และอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานอีกหลายราย
โดยผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัว เกี่ยวข้องกับเหตุต่างๆ ได้แก่
- เหตุระเบิดรถบัสรับ-ส่งนักเรียน ของทางราชการ (ทหาร ร้อย 153 พัน 3) ริมถนนสาย 42 บ้านคลองขุด อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.59
- เหตุคนร้ายลอบวางระเบิดบริเวณหน้าร้านน้ำชานายไพรัช บริเวณปากทางเข้าค่ายลูกเสือ หมู่ 6 ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 23 ส.ค.59
- ระเบิดทหารพราน ร้อย ทพ.4808 บริเวณสะพานรอยต่อบ้านดอเฮะ หมู่ 3 ต.ริโก๋ และ บ้านสือแด หมู่ 7 ต.สากอ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 18 ต.ค.67
- เหตุคนร้ายลอบยิง นายวิเชษฐ์ ไทยทองนุ่ม หรือ “นายกอาร์ม” อดีตนายกเทศมนตรีตำบลรือเสาะ จ.นราธิวาส เสียชีวิต เมื่อวันที่ 7 พ.ย.67
- แขวนป้ายผ้า ข้อความ สันติภาพยั่งยืน ถนนสาย 418 ใกล้ปั๊ม ปตท. อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 13 ก.ค.66 ซึ่งในวันเดียวกัน มีการแขวนป้ายผ้าในพื้นที่ จ.ยะลา รวม 10 จุด
- มีวัตถุต้องสงสัย ระเบิดปลอม 3 จุด คนร้ายวางเพลิงเผากล้องวงจรปิด บริเวณสามแยกบายพาส หมู่ 2 ต.โกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา เมื่อวันที่ 30 มี.ค.68
@@ แจงยึดหลักสิทธิมนุษยชน อัยการศึกคุมตัวแค่ 3 วัน - ไม่ผิดก็ปล่อย
พล.ท.ไพศาล กล่าวว่า ขอบคุณประชาชนที่แจ้งข่าวและให้เบาะแสเกี่ยวกับคนร้าย นำไปสู่การปฏิบัติการในช่วงที่ผ่านมา และขอยืนยันว่าแนวทางการบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายความมั่นคง คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ไม่กระทำต่อผู้บริสุทธิ์ และจะทำการปิดล้อมตรวจค้นเท่าที่จำเป็น
การเชิญตัวสู่กระบวนการซักถามเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวนสอบสวนชั้นก่อนการดำเนินคดี เปิดโอกาสให้ผู้หลงผิดและให้การเป็นประโยชน์ได้กลับคืนสู่สังคม เมื่อตรวจสอบพยานหลักฐานว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาได้ปล่อยตัวแล้ว 6 คน โดยควบคุมตามกฎอัยการศึกเพียง 3 วัน ภายหลังจากการซักถามตามเหตุควรสงสัยต่างๆ ปัจจุบันมีผู้ถูกควบคุมอยู่ในกระบวนการซักถาม 28 คน
@@ แฉเปลี่ยนแกนนำฝ่ายทหาร - ป่วนหนักเร่งให้เปิดโต๊ะพูดคุย
แม่ทัพภาคที่ 4 ยังกล่าวถึงเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ รวมทั้งเหตุโจมตีโรงพัก สภ.จะแนะ จ.นราธิวาส ว่า หลักๆ คือฝ่ายตรงข้ามกลุ่มเดิมที่ยังคงก่อเหตุรุนแรง และมีผู้นำฝ่ายทหารเปลี่ยนบุคคลที่มาควบคุม มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบใช้ความรุนแรง
“การต่อสู้ของฝ่ายตรงข้ามมีเป้าหมายคือแบ่งแยกดินแดน และมีเงื่อนไขอยู่ 4 ข้อ ในเรื่องของการสร้างวาทกรรม รัฐปัตตานี การใช้อาวุธนำ การกำหนดสิทธิมนุษยชน และการกำหนดอัตลักษณ์ ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการก่อเหตุด้วยความรุนแรงเพื่อพยายามสร้างพลัง และส่วนหนึ่งทราบว่ามีการร้องขอเรื่องการพูดคุยสันติสุข” แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุ
@@ เยี่ยม “ฉก.สันติสุข” วางบทบาทงานมวลชน - หนุนภารกิจ อส.
วันสุดท้ายของเดือน พ.ค.68 พล.ท.ไพศาล แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4)พร้อมด้วย พล.ต.ชาคริต อุจะรัตน รองแม่ทัพ ในฐานะ รอง ผอ.รมน.ภาค 4 นำคณะไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของหน่วยเฉพาะกิจสันติสุข (ฉก.สันติสุข) พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่ปฏิบัติภารกิจภายใต้ความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ที่หน่วยเฉพาะกิจสันติสุข ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
โดยมี พล.ต.อินทนนท์ รัตนกาฬ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจสันติสุข ตลอดจนกำลังพลหน่วยขึ้นตรงให้การต้อนรับและรับมอบนโยบาย
ทั้งนี้ พล.ท.ไพศาล ได้รับฟังรายงานความคืบหน้าของภารกิจต่างๆ โดยเฉพาะการดำเนินงานตามแผนงานความมั่นคงแบบบูรณาการ ซึ่งหน่วยเฉพาะกิจสันติสุขมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม มุ่งเน้นการเสริมสร้างความไว้วางใจ ลดเงื่อนไขความขัดแย้ง และสนับสนุนกระบวนการสันติภาพด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ในการนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติงานเชิงรุกที่ตอบโจทย์บริบทของแต่ละพื้นที่ สนับสนุนการปฏิบัติงานของกำลังพลทั้งในด้านสวัสดิการ การป้องกันภัย และการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้การปฏิบัติงานสามารถนำพาสันติสุขที่ยั่งยืนกลับคืนสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างแท้จริง
อนึ่ง สำหรับหน่วยเฉพาะกิจสันติสุขนั้น ยังคงดำเนินภารกิจในการป้องกันการก่อเหตุรุนแรงต่างๆ โดยสนับสนุนนโยบายของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และศูนย์ปฏิบัติการอำเภอทั้ง 28 อำเภอ ด้วยการเสริมสร้างประสิทธิภาพของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) ให้เข้ามาเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนสถานศึกษาเพื่อป้องกันการบ่มเพาะแนวคิดสุดโต่ง เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และลดทอนอิทธิพลของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ และยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกมิติผ่านกิจการพลเรือนเชิงรุก รวมถึงปฏิบัติการพิเศษร่วมกับภาคประชาชนเพื่อเสริมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม สังคมแห่งการให้อภัย และสังคมแห่งสันติสุข