ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ – โฆษกพรรคประชาชน เผย รวบรวมรายชื่อ 140 สส.พรรคประชาชน กล่าวหา ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ฯ เตรียมยื่น ประธานรัฐสภา สัปดาห์หน้า คู่ขนานแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 ตัดอำนาจประธานรัฐสภาใช้ดุลพินิจ ยื่นประธานศาลฎีกา ตั้ง คณะไต่สวนอิสระ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และโฆษกพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์กรณีกระแสข่าวที่ประชุม สส.พรรคประชาชนมีมติรวบรวมรายชื่อ สส.หนึ่งในห้า เพื่อกล่าวหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) โดยยื่นต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 236 ว่า เป็นเรื่องจริง โดยพรรคประชาชนมีมติรวบรวมรายชื่อ สส.พรรคประชาชน เพื่อเข้าชื่อในการร้องเรียนต่อประธานรัฐสภา เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธาน ป.ป.ช. ซึ่งเป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภา ตามบทบัญญัติในมาตรา 236 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภาในสัปดาห์หน้า
“ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อ สส.ทุกคน ไม่มีประเด็นปัญหา ซึ่งปัจจุบัน สส.ของพรรคประชาชนมีประมาณ 140 คน ตามสิทธิในการยื่นเรื่องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 236 ต้องใช้เสียงหนึ่งในห้าของสมาชิกรัฐสภา หรือประมาณ 140 เสียง คำนวณแล้ว เมื่อเป็นมติพรรค และถ้าสส.พรรคประชาชนมาร่วมลงชื่อครบก็น่าจะเพียงพอ”นายพริษฐ์กล่าว
@ ไม่ใช่การเอาคืน ป.ป.ช.
นายพริษฐ์กล่าว่า มี 2 ประเด็นที่ต้องชี้แจง ประเด็นที่หนึ่ง มีสื่อมวลชนบางสำนักไปบอกว่าเป็นการเอาคืน ยืนยันว่า ไม่ใช่การเอาคืน เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของ สส. ในการพยายามที่จะแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชันในประเทศไทย
นายพริษฐ์กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2567 คะแนนความโปร่งใสของประเทศไทย อันดับภาพลักษณ์การทุจริตแย่ที่สุดในรอบ 12 ปี ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาการทุจริต สิ่งที่สำคัญมากคือ การทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการต่อต้านการทุจริตอย่าง ป.ป.ช.สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน
อ่านข่าวประกอบ : ดัชนีการรับรู้การทุจริต ปี 67 ไทยได้ที่ 107 จาก 180 ปท.ทั่วโลก ลดลงจากปี 66
นายพริษฐ์กล่าวว่า ดังนั้น การที่พรรคประชาชนยื่นตรวจสอบเนื่องจากเราเห็นว่าอาจจะมีกรรมการ ป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จังเป็นการใช้สิทธิของสมาชิกรัฐสภาเพื่อทำหน้าที่ในการแก้ปัญหาการทุจริตในประเทศไทย
@ มีหลักฐานอื่น ไม่ใช่แค่คลิป
นายพริษฐ์กล่าวว่า ประเด็นที่สอง ในรายละเอียดของข้อร้องเรียน ซึ่งจะมีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้า ไม่ได้จำกัดเพียงเหตุการณ์ที่ปรากฎในคลิประหว่างประธานป.ป.ช.กับประธานรัฐสภา
“ในหนังสือร้องเรียนจะมีเรื่องอื่นนอกเหนือจากคลิปที่ปรากฏต่อสาธารณะ จะมีข้อร้องเรียนหรือข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในส่วนอื่น ๆ ด้วย ที่พรรคประชาชนรวบรวมข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง”
นายพริษฐ์กล่าวว่า ยืนยันว่า มีข้อมูลในส่วนอื่น ซึ่งหากติดตามการอภิปรายสมัยเป็นพรรคก้าวไกลและในปัจจุบัน คือ พรรคประชาชน มีบางเรื่องที่เราติดตามใกล้ชิดและรวบรวมหลักฐานมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อปรากฏเหตุการณ์จากคลิปหลุดออกมาสู่สาธารณะ เราจึงเห็นว่า พอรวมหลักฐานทั้งหมดทุกเรื่อง จึงมีเหตุเพียงพอที่จะใช้กลไกของรัฐธรรมนูญมาตรา 236 ในการยื่นเรื่อง
@ แก้ มาตรา 236 ตัดดุลพินิจประธานรัฐสภา
นายพริษฐกล่าวว่า นอกจากการยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา คู่ขนานไปกับสิ่งที่พรรคประชาชนดำเนินการไปแล้ว คือ การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในมาตรา 236 ซึ่งเขียนไว้ว่า หากสมาชิกรัฐสภาจะทำหน้าที่ตรวจสอบประธาน ป.ป.ช.ต้องยื่นเรื่องไปที่ประธานรัฐสภา แล้วประธานรัฐสภาจะมีดุลพินิจพิจารณาว่า มีเหตุอันสมควรที่จะส่งต่อไปที่ประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะไต่สวนพิเศษหรือไม่
“ซึ่งเรามองว่าการที่รัฐธรรมนูญไปเปิดช่องให้ประธานรัฐสภาใช้ดุลพินิจได้มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการฮั้วกันระหว่างรัฐบาลกับ ป.ป.ช.ได้”
นายพริษฐ์กล่าวว่า พรรคประชาชนหวังว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 236 ที่ยื่นไป ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะสามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาได้ เพื่อตัดการใช้ดุลพินิจของประธานรัฐสภาออก เพื่อทำให้กลไกการตรวจสอบการทำหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช.มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“สมมุติผมเป็นรัฐบาลไปฮั้วกับ ป.ป.ช. ผมไปบอก ป.ป.ช.ว่า อย่าไปตรวจสอบนักการเมืองในฝั่งรัฐบาล แล้วถ้าประชาชนร้องเรียนว่าคุณไม่ทำหน้าที่ ผมจะโน้มน้าวประธานรัฐสภาให้ปัดตกข้อร้องเรียนต่อกรรมการ ป.ป.ช. เป็นเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากมีบทบัญญัติตรงนี้ (มาตรา 236) อยู่”นายพริษฐ์กล่าว
นายพริษฐ์กล่าวย้ำว่า แม้ไม่มีเรื่องคดี 44 สส. พรรคประชาชนก็ต้องยื่นตรวจสอบกรรมการ ป.ป.ช. ต่อประธานรัฐสภา เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ เนื่องจากเราเห็นว่า มีเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อ ป.ป.ช.
“ลองจินตนาการดู แม้ไม่มีคดี 44 สส. แต่ถ้าเรามีหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นคลิปที่ปรากฏ และหลักฐานอื่นๆ ที่เรารวบรวมมา แล้วมีข้อสงสัยกรรมการ ป.ป.ช. อาจจะมีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แล้วเหตุใด เราในฐานะ สส. จึงไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบ”
@ ชวน สส.พรรคอื่น-สว.ร่วมลงชื่อ
นายพริษฐ์กล่าวว่า ไม่ใช่เป็นสิ่งที่พรรคประชาชนทำได้เท่านั้น เป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาทุกคน ทุกฝ่าย และอาจจะมี สส.ของพรรคอื่น หรือว่า สว. เห็นตรงกันว่า ปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาที่สำคัญ และเห็นตรงกันว่าจะใช้กลไกนี้ในการตรวจสอบการทำหน้าที่ของ กรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีที่อาจจะปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ให้มาร่วมลงชื่อและสนับสนุนการยื่นตรวจสอบกรรมการ ป.ป.ช.
นายพริษฐ์กล่าวว่า ขอเชิญชวน สส.พรรคอื่น หรือ สว.ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าเห็นตรงกันในการทำหน้าที่ตรวจสอบกรรมการ ป.ป.ช. มาร่วมลงชื่อกับพรรคประชาชนได้
นายพริษฐ์กล่าวว่า ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น พรรคประชาชนอยู่ระหว่างหารือกันว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้และมีกลไกอยู่ เนื่องจากกลไกตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 236 เป็นกลไกเฉพาะสำหรับร้องเรียนกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ครอบคลุมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ
อ่านประกอบ : คลิป ล็อบบี้ พ่นพิษ ‘วันนอร์-สุชาติ’ สะเทือน ‘ประมุขนิติบัญญัติ-องค์กรตรวจสอบ’
“ส่วนเรื่องจะไปถึงประธานศาลฏีกาหรือไม่ ต้องไปถามประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นข้อทักท้วงหนึ่งที่เรามีเกี่ยวกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 236 เพราะแทนที่ สส.ยื่นไปแล้ว ประธานรัฐสภาจะส่งต่อไปยังประธานศาลฎีกาเลย เพื่อตั้งคณะไต่สวนอิสระ กลายเป็นว่า ต้องผ่านการกลั่นกรองของประธานรัฐสภาก่อน”
นายพริษฐ์กล่าว อย่างไรก็ตาม พรรคประชาชนเชื่อว่า ข้อมูล หลักฐานที่มีเพียงพอที่จะยื่อต่อประธานรัฐสภาในสัปดาห์หน้า และมีเหตุอันควรที่จะส่งไปยังประธานศาลฎีกา
อ่านประกอบ :