พ่อเมืองกทม. ‘ชัชชาติ’ เปิดไอเดียในโอกาส 3 ปีบริหารกทม. จ่อยกสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้รัฐบาลกำกับ อ้างมีคนคุมคนเดียวดีกว่า ด้าน ‘วิศณุ' เผยกทม.แบกหนี้เดินรถต่อไปปีละ 6,000 ล้านบาทไม่ไหว เป็นต้นเหตุ มองอนาคตหากสละภาระตรงนี้ไป จะขอเอารถเมล์มากำกับแทน วงในระบุอยู่ที่เงื่อนไขการเจรจากับรัฐ ถ้ายอมอุดหนุนขาดทุนให้ กทม.ก็จะทำต่อ แต่หากไม่ยอมก็ต้องคืนและขอเงินที่จ่ายเกี่ยวกับสายสีเขียวคืนกลับมาด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 9 พฤษภาคม 2568 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ในโอกาสที่เข้ามาบริหารกทม.ครบ 3 ปี ตกผนึกว่า รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯควรมีผู้บริหารจัดการเพียงคนเดียว (Single Owner) ดังนั้น จึงมีแนวความคิดใหม่ที่จะเจรจากับรัฐบาลในการยกโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมรับผิดชอบไป เพื่อไม่ให้เกิดความลั่กลั่นกันว่า ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าของ กทม.มีอัตราแบบหนึ่ง และราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าของรัฐบาลมีอีกราคาหนึ่ง
“ในภาพรวมที่อยากจะคืน เพราะเราเชื่อว่าการมี Single Owner มันทำให้บริหารจัดการง่ายขึ้น โดยเฉพาะการคิดราคาค่าโดยสารต่างๆ หากมีการคืนไปส่วนต่อขยายต่างๆ คนที่มารับต่อก็ต้องดำเนินการต่อ ส่วนแผนการส่วนต่อขยายในอนาคตช่วงบางหว้า - ตลิ่งชันก็ยังน่าสนใจ เพราะเป็นรถไฟฟ้าสายสีที่จะลงไปในถนนราชพฤกษ์ ซึ่งมีผู้อาศัยอยู่เยอะ อย่างไรก็ดี สิ่งที่พูดเป็นเพียงแนวคิด ยังต้องหารือกับรัฐบาล เพราะกทม.เองก็ต้องคิดคำนวณถึงภาระค่าใช้จ่ายต่างๆที่ลงไป ทั้งค่างานระบบ E&M ส่วนสัมปทานหลักช่วงหมอชิต-อ่อนนุชและช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ก็มีแนวคิดคืนเช่นกัน และถ้าหากมีการคืนสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม.ก็จะได้นำงบที่ไปลงกับเรื่องนี้มาทำอย่างอื่นที่ตรงกับภารกิจกทม.มากกว่า เช่น การทำรถเมล์ ที่กทม.ลงรายละเอียดในพื้นที่ได้ดีกว่า”นายชัชชาติระบุ
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)
@หนี้เดินรถเยอะ แบกไม่ไหว ต้นตอแนวคิดยกสัมปทานให้รัฐบาล
ด้านนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า หากเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง การที่ให้ระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีรายเดียว ดูจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า เพราะการคิดอัตราค่าโดยสาร การสนับสนุนต่างๆก็ทำได้ง่าย อีกทั้งงบประมาณที่ลงไปก็เยอะ โดยเฉพาะตอนนี้ กทม. ต้องแบกภาระต้นทุนการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช - แบริ่งและช่วงสะพานตากสิน - บางหว้าและส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการและช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคตที่ปัจจุบัน กทม.มีต้นทุนการเดินรถจริงอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท/ปี แต่ปัจจุบันมีรายได้จากการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายนี้เพียง 15 บาทตลอดสาย/คน คิดเป็นรายได้ต่อปีที่ 2,000 ล้านบาทเท่านั้น ยังขาดทุนอยู่ 6,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งที่ผ่านมาก็ต้องมีการของบประมาณมาอุดหนุนส่วนที่ขาดทุนอยู่ หากมีคืนสัมปทาน ก็จะทำให้เงินที่ลงไป 8,000 ล้านบาท/ปีตรงนี้ สามารถโยกไปทำอย่างอื่นได้ ซึ่ง กทม.กำลังสนใจที่จะขอแก้ระเบียบกฎหมาย เพื่อเอารถเมล์มาดูแลเอง เพราะปัจจุบัน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม หากกทม.ได้กำกับเอง ก็จะทำให้การบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนในกทม.ดีขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อนโยบายเปลี่ยนเป็นการโอนสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้รัฐบาล จากนี้ กทม.ต้องทำอะไรบ้าง นายวิศณุกล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลทำนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทาง หากมีการเอารถไฟฟ้าสายสีเขียวไปบริหาร ก็น่าจะทำให้นโยบายนี้เกิดง่ายขึ้น แต่ตอนนี้ตัวสัมปทานหลักยังอยู่ในสัญญาสัมปทานที่จะหมดอายุลงในปี 2572 เหลือเวลาอีก 4 ปี ดังนั้น ในช่วงนี้ กทม.ก็มีการจ้างที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการศึกษาการร่วมลงทุนตามเงื่อนไขตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 (PPP) เพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุด โดยการยกโครงการให้รัฐบาลดูแลต่อ ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการศึกษาด้วย
“จะต้องรอให้สายสีเขียวหมดสัมปทานในปี 2572 ก่อนหรือไม่ ถึงจะยกสัมปทานให้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาล และจริงๆก็ไม่จำเป็น เพราะตามพ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 การจ้างที่ปรึกษาให้มาศึกษาความเป็นไปได้ก็สัมปทานที่กำลังจะหมดลงนั้น มีเขียนไว้ชัดเจนว่าให้ศึกษาก่อนสัมปทานหมด 5 ปี ตอนนี้ก็เหลือไม่ถึงแล้ว เราก็รอดูว่าทางเลือกไหนดีที่สุด กทม.ทำต่อหรือยกให้รัฐบาลทำ เนื้อหาสาระจากการศึกษาคงออกมาไม่เกิน 1 ปีหลังจากนี้” นายวิศณุระบุ
วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม.
ขณะที่แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า สิ่งที่ผู้ว่าฯกทม.ระบุก็ยังไม่ได้ชัดเจนเท่าไหร่นัก แต่สิ่งที่ผู้ว่าฯกทม.มองคือ รถไฟฟ้าสายสีเขียวมีภาระค่าใช้จ่ายค่อนข้างเยอะ จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยจ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 1 กับ 2 ถ้าหากรัฐบาลยอม กทม.ก็จะอาจจะยังรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อ
“ต้นทุนจริงของการเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1-2 มีการคำนวณแล้วว่าอยู่ที่ 48 บาท/เที่ยวคน แต่ปัจจุบันเราเก็บค่าโดยสารจริงแค่ 15 บาท/เที่ยวคน ดังนั้น จึงเป้นเรื่องยากที่กทม.จะตัดสินใจ เพราะถ้าเราปรับขึ้นค่าโดยสารไปถึงจุดคุ้มทุนจริงๆ ก็โดนประชาชนต่อว่าได้ ถ้ารัฐบาลมาช่วยอุดหนุนให้กทม.ตรงนี้ เราก็อาจจะพิจารณาทำต่อ แต่ถ้าไม่ช่วย กทม.ขาดทุนเรื่อยๆ แล้วต้องเอางบของกทม.มาใช้ปีละ 6,000 ล้านบาท ก็อาจจะคืนสัมปทานไป แต่ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาด้วยเพราะถ้าจะต้องเอาสัมปทานให้รัฐบาลจริงๆ กทม.ก็ขอคิดค่า้จ่ายที่กทม.เสียไปก่อนหน้านี้คืนกลับมา ทั้งค่าติดตั้งระบบเดินรถ (E&M) งานก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยายที่ 1 ซึ่งเป็นตัวเลขหฃายหมื่นล้านบาทอยู่” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวจากกทม.กล่าวกับสำนักข่าวอิศราต่อว่า ภาระของกทม.ที่มีต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวปัจจุบัน ได้แก่ ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ขาดทุนอยู่ 6,000 ล้านบาท และภาระหนี้งานโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกทม.กับกระทรวงการคลัง เกี่ยวเนื่องกับการรับโอนภาระทรัพย์สินและหนี้สินส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูต และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มูลค่ารวม 56,112 ล้านบาท ซึ่งกทม.ยังไม่ได้จ่ายเงินต้น จ่ายแต่ดอกเบี้ยปีละ 500 ล้านบาท
ส่วนการศึกษารูปแบบการลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 แหล่งข่าวจากกทม.ระบุว่า ได้ตัวผู้รับจ้างแล้วได้แก่ บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด , มหาวิทยาลัยมหิดล และ**บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด** ระยะเวลาการศึกษาโครงการเริ่ม 1 พ.ค. 2568 - 25 ม.ค. 2569 (270 วัน) วงเงิน 27 ล้านบาท
อ่านประกอบ
- เปิดหนี้สายสีเขียว 74,721 ล้านบาท จ่ายแล้วครึ่งหนึ่ง ไม่รวมหนี้โครงสร้างฯ 5.6 หมื่นล.
- ส.ก.ตั้งกระทู้จี้ กทม.จ่ายหนี้ BTSC ‘ชัชชาติ’ แจงยังไม่จ่ายเพราะบางสัญญาไม่เรียบร้อย
- กทม.ขอหารืออัยการฯ จ่ายหนี้สายสีเขียว BTSC วงเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท
- กทม.ตอบรับนโยบาย 20 บาท แต่ต้องชดเชยรายได้ ไม่แก้สัญญาสัมปทาน
- กทม.เดินหน้า PPP รถไฟฟ้าสายสีเขียว กาง 2 ปี ปิดดีลสัมปทานยักษ์
- สภากทม. ผ่านร่างควักจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 14,000 ล้านบาท
- ชงสภากทม. ของบเพิ่มปี 68 วงเงิน 1.4 หมื่นล. จ่ายหนี้สายสีเขียว BTS
- กทม.-เคที-BTS จับมือตั้งคณะทำงานสางหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว
- สภากทม.ยังไม่เห็นชอบควักเงินหมื่นล้านจ่ายหนี้ BTSC ตั้งกมธ.ศึกษา 30 วัน
- ‘ชัชชาติ’ ขอ 100 วันจ่ายหนี้ BTSC - ตอบรับแนวคิดซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า
- ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่ง‘กทม.’จ่ายค่าจ้างเดินรถ-ซ่อมบำรุง‘สายสีเขียว’ 1.2 หมื่นล้าน ให้ BTSC
- พลิกคดี‘หนี้สายสีเขียว’หมื่นล.!‘ศาลปค.สูงสุด’ชี้สัญญา‘ส่วนต่อขยาย’ไม่เข้าข่าย กม.ร่วมทุนฯ
- 'คีรี' นำทีม BTS แถลงจี้ กทม.รีบจ่ายหนี้เดินรถ 1.2 หมื่นล้าน
- BTSC ยื่นขอความเป็นธรรม 'อัยการฯ' สู้ข้อกล่าวหา ป.ป.ช.คดีสายสีเขียว
- ป.ป.ช.ให้ BTS ทำหนังสือชี้แจงปมจ้างเดินรถสายสีเขียว ก่อนส่งสำนวนให้อัยการฯ
- กรุงเทพธนาคม’ ขอ ป.ป.ช. กันเป็นพยาน คดีฮั้วจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- ‘คีรี’ เปิดใจ ป.ป.ช.แจ้งข้อหา BTS เหมือนถูกแกล้ง
- 'วัชรพล' สั่งสอบเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาคดีรถไฟฟ้าสีเขียวหลุด-พนง.BTSC ยกพลจี้ถาม
- ‘บีทีเอส’แจงคดีสายสีเขียว! อ้างขอนัดหมายชี้แจงข้อกล่าวหา แต่กลับถูก'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯก่อน
- เลขาฯป.ป.ช.คอนเฟิร์ม! ชี้มูลคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว' ยังไม่รู้ผู้ถูกกล่าวหา 12 ราย ใครบ้าง
- 'สุขุมพันธ์-คีรี-พวก 10 ราย'โดนยกก๊วน! 'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว'แล้ว
- ‘องค์คณะไต่สวน’ชง‘ป.ป.ช.’ชี้มูล‘สุขุมพันธ์-คีรี-BTSC’ คดีรถไฟฟ้า‘สายสีเขียว’
- ป.ป.ช.ตั้ง 7 ประเด็น สอบเพิ่ม คดี ‘สุขุมพันธุ์' จ้าง BTS เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปี 55