“..อัตราการเกิดปี 2564 มีเด็กเกิดใหม่ราว 5.4 แสนคน ลดลงมากกว่าครึ่งกว่าที่เคยเกิดเมื่อ 50 ปีก่อน แสดงให้เราจะเห็นว่า อัตราเด็กเกิดใหม่ต่ำมากเป็นประวัติการณ์ และปี 2564 เป็นปีแรกที่จำนวนเด็กเกิดน้อยกว่าจำนวนคนตาย โดยอัตราคนตายในปี 2564 มีจำนวน 5.6 แสนคน เท่ากับว่า ประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มประชากรเกิดหักลบตาย ติดลบ..”
สำนักงานสถิติแห่งชาติ แสดงข้อมูลจำนวนการเกิดประจำปี 2564 พบว่า มีจำนวนประชนกรเกิดมาทั้งหมด 544,570 คน ลดลงจากปี 2563 ถึง 42,798 คน
ขณะที่ประชากรที่เสียชีวิตในปี 2564 มีจำนวน 563,650 คน ซึ่งต่างจากจำนวนการเกิดมากถึง 19,080 คน และถือได้ว่าเป็นสถิติปีแรกที่มีอัตรา การเกิดน้อยกว่าการตาย ของไทย
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผอ.ศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้โพสต์ภาพและข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Por Tunyawat แสดงภาพกราฟแสดงจำนวนประชากรเกิดในประเทศไทยปี 2536-2564 โดยในกราฟพบว่าจำนวนการเกิดของเด็กมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งปี 2564 มีเด็กเกิดใหม่น้อยกว่า 5 แสนคน โดยระบุข้อความว่า
“ดิ่งกว่ามูลค่าเหรียญคริปโต ก็จำนวนประชากรเกิดในประเทศไทยนี่ล่ะ ปี 2564 ที่ผ่านมาจำนวนการเกิดต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ ตัวเลขนี้น่ากลัวและแนวโน้มของกราฟคงไม่ดีขึ้นแน่ นอกจากนี้ปีที่ผ่านมาอัตราการตายสูงกว่าอัตราการเกิดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ด้วย คาดการณ์ไม่ถูกเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต”
ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า อัตราการเกิดของคนไทยในปี 2564 เป็นการลดต่ำลงอย่างมากที่เท่าที่ปรากกฎมา เมื่อเปรียบกับกับปี 2514 หรือเมื่อกับ 50 ปีก่อน ประเทศไทยมีเด็กเกิดราว 1.2 ล้านคน หลังจาก 50 ปีต่อมา ในปี 2564 มีเด็กไทยเกิดใหม่ลดลงเหลือเพียง 5.4 แสนคน
“อัตราการเกิดปี 2564 มีเด็กเกิดใหม่ราว 5.4 แสนคน ลดลงมากกว่าครึ่งกว่าที่เคยเกิดเมื่อ 50 ปีก่อน แสดงให้เราจะเห็นว่า อัตราเด็กเกิดใหม่ต่ำมากเป็นประวัติการณ์ และปี 2564 เป็นปีแรกที่จำนวนเด็กเกิดน้อยกว่าจำนวนคนตาย โดยอัตราคนตายในปี 2564 มีจำนวน 5.6 แสนคน เท่ากับว่า ประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มประชากรเกิดหักลบตาย ติดลบ” ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ กล่าว
ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ กล่าวว่า อัตราการเกิดที่ลดลงนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งลดลงภายใน 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการลดลงของเด็กเกิดใหม่ ได้ส่งผลกระทบต่อสังคม เปลี่ยนโครงสร้างประชากรอย่างยิ่งใหญ่
เมื่อ 50 ปีก่อน ไทยมีอัตราการเกิดของประชากรราวปีละประมาณ 1 ล้านคน โครงสร้างประชากร จะเป็นประชากรเยาว์วัย คือสังคมที่มีประชากรเด็กจำนวนมาก ซึ่งสมัยนั้นมีเด็กที่ต่ำกว่า 15 ปี เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 45%
ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ กล่าวถึงส่วนการลดลงของการเกิดใหม่ของประชากรไทยว่า ตั้งแต่ปี2527 อัตราการเกิดลดลงต่ำกว่า 1 ล้านคน และค่อย ๆ ลดลงมาเรื่อย ๆ จนปี 2562 มีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 6 แสนคน ปี 2563 เหลือ 5.8 แสนคน และปี 2564 เหลือเพียง 5.4 แสนคนเท่านั้น ส่งผลให้โครงสร้างประชากรได้เปลี่ยนจากสังคมเยาว์วัย เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยในปี 2565 นี้ ประเทศไทยมีประชากรเด็กเพียง 16-17% ของประชากรทั้งหมด
ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล
ศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ปี 2564 นี้ เป็นปีแรกที่จำนวนการเกิดน้อยกว่าจำนวนการตาย นับเฉพาะการเพิ่มประชากรตามธรรมชาติ ไม่รวมการย้ายถิ่น จะเห็นได้ถึงแนวโน้มว่าคนไทยมีการตายเยอะกว่าการเกิด ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่น่ากังวล เพราะถ้าหากเป็นแบบนี้ต่อไปในระยะยาว จำนวนประชากรก็อาจจะลดลงได้ แต่ทั้งนี้ประเด็นที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีแนวโน้มมานานพอสมควร โดยอัตราการเกิดมีแนวโน้มลดลงมาเรื่อย ๆ เนื่องจากคนไทยมีความต้องการมีลูกลดน้อยลงเรื่อย ๆ
“อย่างหนึ่งที่เป็นประเด็นในขณะนี้ ที่จะต้องจับตาดูให้ดีๆ เนื่องจากว่าตอนนี้มีปัจจัยอื่นเข้ามาแทรก เพราะไม่คิดว่าอัตราการเกิดจะลดต่ำลงขนาดนี้ คาดว่าอาจจะทรงตัวต่อไปอีกสักระยะ และอัตราการตายก็คงไม่สูงขนาดนี้ แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิดที่เข้ามาแทรก อันดับแรกที่กระทบก็คืออัตราการตายในผู้สูงอายุวัยปลายๆ วัยไม้ใกล้ฝัง เมื่อติดเชื้อก็มีโอกาสเสียชีวิตสูงในช่วงที่ผ่านมา แม้กระทั่งโอไมครอนเองก็เห็นชัดว่า คนติดที่ติดแล้วตายส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป หรือ 50 ปีขึ้นไปที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุสำรอง หรือกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว พราะฉะนั้นตรงนี้เองก็เสี่ยงต่อการตายสูงส่งผลให้จำนวนการตายที่สูงขึ้น” ศ.ดร.วิพรรณ กล่าว
ศ.ดร.วิพรรณ กล่าวว่า โครงสร้างประชากรของประเทศไทย ส่วนใหญ่จะหนักไปทางผู้สูงอายุ และแน่นอนที่ว่าต่อให้ไม่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ก็จะต้องเสียชีวิตอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่เมื่อมีโควิด-19 เกิดขึ้น เสมือนการซ้ำเข้าไปอีก ประชากรวัยผู้สูงอายุเสียชีวิตเร็วขึ้น ส่งผลให้อัตราการตายในปี 2564 สูงขึ้น
นอกจากนี้ มีหลายภาคส่วนคิดว่า สถานการณ์การโควิด-19 จะส่งผลต่ออัตราการเกิดของประชากรด้วยเช่นกัน เนื่องจากคาดว่า การที่ประชาชนหยุดอยู่บ้าน หรือทำงานที่บ้านนั้น น่าจะส่งเสริมให้มีการเกิดมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าคู่รักหลายคู่เปลี่ยนใจ ไม่มั่นใจ ทำให้ตัดสินใจชะลอเลื่อนการมีลูกออกไปอีก จะเห็นได้ว่าตั้งแต่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา คู่รักหลายคู่ตัดสินใจเลื่อนการแต่งงาน รวมถึงการมีลูกมากขึ้น
ศ.ดร.วิพรรณ กล่าวด้วยว่า ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว จำนวนการเกิดที่ลดลง ส่งผลให้จำนวนประชากรลดลงแบบเห็นได้ชัด และการฟื้นคืนเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ตัวอย่างเช่น ประเทศจีน มีการส่งเสริมการมีลูกเพิ่มขึ้น หลังจากดำรงนโยบายให้มีลูกเพียงคนเดียวมานาน แต่พอคนส่วนใหญ่เปลี่ยนทัศนคติไปแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เขา กลับมามีลูกเพิ่ม หลายประเทศมีนโยาบายส่งเสริมการเกิดมานานมาก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากว่าไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เพราะทำวันนี้ ไม่ได้เกิดผลวันนี้ ทำวันนี้ก็ต้องใช้เวลากว่า 20 ปีถึงจะเห็นผล
แต่สำหรับประเทศไทย ซึ่งขณะนี้คนส่วนใหญ่ตื่นเต้นกับจำนวนการเกิดที่ลดลง แต่มีอีกหนึ่งประเด็นที่อยากให้ระวัง เนื่องจากในสังคมไทยมีประเด็นที่ลึกและซับซ้อนมากกว่า คือ นอกจากอัตราการเกิดใหม่จะน้อยลงแล้ว อัตราการเกิดที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้คุณภาพ กล่าวคือ กลุ่มที่พร้อมจะมีลูก จะไม่มีลูก แต่ส่วนกลุ่มที่มีลูก จะเป็นกลุ่มที่ไม่มีความพร้อม เช่น คุณแม่วัยใส
ดังนั้น นโยบายส่งเสริมการเกิดในประเทศไทย ควรเน้นส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ ส่วนเรื่องจำนวน ก็เป็นเรื่องสิทธิของบุคคล รัฐควรส่งเสริมให้กลุ่มที่พร้อมมีลูก คือในวัยทำงาน โดยรัฐต้องช่วยให้สามารถสร้างครอบครัวได้เร็วขึ้น เช่น การมีที่อยู่อาศัย เนื่องจากค่าใช้จ่ายแพงมากในการมีลูก อีกทั้งเรื่องระบบบการศึกษา รัฐก็ต้องมาดูแลเรื่องคุณภาพการศึกษาด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งให้ความรู้หรือดักทางไม่ได้เกิดคุฯแม่วัยใส หรือการมีลูกในกลุ่มที่ไม่พร้อมเช่นใน วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี
ศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ
ศ.ดร.วิพรรณ กล่าวอีกว่า รัฐจะมีนโยบายจูงใจในเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องเป็นนโยบายทางสังคมมากขึ้น เช่น จะทำอย่างไรให้การทำงานกับการเลี้ยงลูก ไปด้วยกันได้พร้อม ๆ กัน สร้างความสมดุลชีวิตการทำงาน ตัวอย่างเช่น จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เราสามารถทำงานที่บ้านได้พร้อมกับการเลี้ยงลูกได้ แต่ทั้งนี้ จะต้องจัดการให้ได้ประสิทธิภาพของงาน โดยการจัดสรรเวลาให้เหมาะสม
“ประเด็นการเกิดที่ไปอยู่ผิดที่ผิดทาง ประชากรที่จะมีศักยภาพในการพัฒนาเลี้ยงดูเด็กให้เป็นอนาคตของชาติ ไม่มีลูก แต่คนที่อยู่ในวัยรุ่นกกลับมีลูก สะท้อนให้เห็นว่ายังขาดความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องของเพศศึกษา การปกป้อง ป้องกันตนเอง รวมถึงยังเข้าไม่ถึงบริการ ฉะนั้นประเด็นอัตราการเกิด อย่าดูเพียงแค่ตัวเลขใหญ่ แต่ต้องเจาะลึกลงไปในรายละเอียดด้วยว่ามีความแตกต่างของแต่ละกลุ่มวัยอย่างไร” ศ.ดร.วิพรรณ กล่าว
ศ.ดร.วิพรรณ กล่าว กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมามีนโยบายหลายๆ อย่างที่พูดกันมาแล้วในระยะหนึ่งคือ ‘เกิดน้อย แต่ยังด้อยคุณภาพ’ หมายความว่า แม้ว่าอัตราเกิดจะน้อยลง แต่คุณภาพก็ไม่ได้ดีขึ้นเห็นได้จากน้ำหนักเด็กแรกเกิดที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เมื่อเทียบข้อมูลเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนที่ใกล้เคียงกับอัตราเดิม ทั้งที่มีการรณรงค์กันมากขึ้น แต่ก็ยังมีอีกกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึง เนื่องจากประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการเน้นเรื่องของคุณภาพ จะต้องมีการวางแผนเตรียมรับมือ และความพร้อมในทุกมิติเพื่อให้เด็กที่เกิดมามีชีวิตคุณภาพที่ยืนยาว นอกจากนี้ จะต้องมีการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ เนื่องจากชีวิตคนเรายืนยาวขึ้นด้วย ดังนั้นการพัฒนาจะต้องมีการวางแผนตั้งแต่เด็ก ให้มีชีวิตที่มีคุณภาพจนตายอย่างมีคุณภาพ เพราะหลายเรื่องมีผลกระทบตั้งแต่การวางรากฐาน ถ้าหากวางรากฐานไม่ดี ก็จะลำบากในช่วงบั่นปลาย ดังนั้นจะต้องมอบนโยบายที่มีความต่อเนื่องตลอดชีวิต
“เพราะฉะนั้น ตอนนี้ที่เป็นประเด็นที่ท้าทาย ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องของจำนวนน้อยอย่างเดียว แต่เป็นการที่จะทำอย่างไรให้จำนวนที่น้อยนี้มีคุณภาพ อันนี้สำคัญมาก” ศ.ดร.วิพรรณ กล่าว
ศ.ดร.วิพรรณ กล่าวถึงสถานการณ์ประเทศไทย เมื่ออัตราการเกิดลดลงว่า เมื่อจำนวนเด็กเกิดลดลงเรื่อย ๆ ส่งผลให้คนในวัยแรงงานลดลง เพราะเด็กในวันนี้ ก็คือผู้ใหญ่ในวันหน้า จะส่งผลให้ประเทศเริ่มขาดปริมาณของแรงงาน ทำให้ต้องมีการนำแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทดแทนบางอาชีพ
ส่วนในระยะยาว ประเทศจะเป็นสังคมสูงวัยเร็วขึ้นเพราะสัดส่วนเด็กลดลง ประชากรในวัยทำงานลดลง และถ้ามีแรงงานน้อยลงฐานภาษีก็จะลดลงเช่นกัน เนื่องจากกำลังสำคัญที่จะมาเป็นผลิตก็จะลดลง แต่ในขณะที่คนที่อยู่ในวัยพึ่งพิง จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคนในกลุ่มนี้ต้องการสวัสดิการต่างๆ มากขึ้น สวนทางกับภาษีที่จะมีน้อยลง เพราะกลุ่มมที่จะจ่ายภาษีมีน้อยลง อาจจะทำให้ภาษีมีไม่พอที่จะมาจัดสรรสวัสดิการของรัฐ
“ประเทศเราก็ไม่ได้เป็นประเทศที่ร่ำรวย ก็จะเผชิญปัญหาเรื่องการเงินการคลังที่จะมาจัดระบบสวัสดิการ โดยเฉพาะสวัสดิการด้านสุขภาพ ที่มีค่าใช้จ่ายที่แพงมาก มีการพูดกันว่า ระบบประกันสังคมอาจจะล่ม เพราะกระเป๋าที่จะเข้ามาจากวัยทำงาน แต่วัยแรงงานลดลงเรื่อย ๆ เป็นสิ่งที่เขากลัวกัน”
นอกจากนี้ เมื่ออัตราการเกิดลดลงมากขึ้น การที่ประเทศจะกลายเป็นสังคมสูงวัยขั้นสุดยอดก็ยิ่งเร็วเท่านั้น ประเทศไทยจะตามไปติดๆ กับสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีระบบสวัสดิการดี ๆ หลาย ๆ อย่าง แต่ก็ยังติดขัดปัญหาอยู่ ส่วนประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ติดกับอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลาง แต่กลับกลายเป็นว่าเจอปัญหาเร็วมาก
ศ.ดร.วิพรรณ กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐต้องตระหนักว่าประเด็นสังคมสูงวัยเป็นประเด็นท้าทายของประเทศที่สำคัญ ที่ผ่านมาเรามีแผนนโยบายเยอะมาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสนใจของรัฐบาลทั้งระดับชาติและท้องถิ่น เนื่องจากเรื่องสังคมทสูงวัย จะต้องดำเนินให้การขับเคลื่อตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติอย่างมีบูรณาการ
เพราะฉะนั้น นโยบายที่สำคัญคือ เตรียมคนให้พร้อม ตั้งแต่วัยเด็ก วัยทำงาน ให้กลายเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่เราเคลื่อนไปได้ช้า เพราะส่วนใหญ่เราจะมุ่งเน้นไปที่นโยบายการตามแก้ปัญหามากกว่า
ทั้งหมดนี้ คือภาพรวมและการคาดการณ์ผลกระทบและสังคมในอนาคตของประเทศไทยจากการวิเคราะห์จากอัตราการเกิดของประชากรที่ลดน้อยลงในปี 2564 จะต้องติดตามต่อไปว่ารัฐจะมีแผนหรือนโยบายอะไรที่จะมาเตรียมรับมือกับสิ่งที่