สัญญาดังกล่าวมีการลงนามกันในวันที่ 8 เม.ย. 2564 แต่ข้อมูลเอกสารแสดงว่าข้อตกลงตามสัญญานั้นมีการขยายไปถึงปี 2569 นี่หมายความว่าบริษัทค้าอาวุธจากรัสเซียจะยังคงเดินหน้างานของตัวเองกับประเทศซาอุดิอาระเบียต่อไปแม้ว่าจะมีการคว่ำบาตรจากสหภาพยุโรปหรืออียูและสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงประเทศอื่นๆจากกรณีรุกรานยูเครน
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัปดาห์นี้ขอนำเสนอกรณีที่ซาอุดิอาระเบียได้เดินหน้าการจัดซื้ออาวุธจากรัสเซียทั้งที่ยังอยู่ภายใต้การคว่ำบาตรจากกรณีที่รัสเซียรุกรานยูเครนในปี 2565
โดยรายงานของสำนักข่าวเครือข่ายผู้สื่อข่าวที่รายงานเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมและการทุจริต หรือ Organized Crime and Corruption Reporting Project (OCCRP) ได้รายงานข่าวว่าทางซาอุดิอาระเบียได้ทำข้อตกลงที่จะจ่ายเงินให้กับบริษัทอาวุธรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตร คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2 พันล้านยูโร (70,508,000,000 บาท) สําหรับการจัดซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศ ตามข้อมูลเอกสารที่ถูกเปิดเผยและข้อมูลการค้าแสดงให้เห็นว่าอุปกรณ์บางอย่างถูกส่งมอบในปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งปีหลังจากรัสเซียรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ
สัญญาดังกล่าวมีการลงนามกันในวันที่ 8 เม.ย. 2564 แต่ข้อมูลเอกสารแสดงว่าข้อตกลงตามสัญญานั้นมีการขยายไปถึงปี 2569 นี่หมายความว่าบริษัทค้าอาวุธจากรัสเซียจะยังคงเดินหน้างานของตัวเองกับประเทศซาอุดิอาระเบียต่อไปแม้ว่าจะมีการคว่ำบาตรจากสหภาพยุโรปหรืออียูและสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงประเทศอื่นๆจากกรณีรุกรานยูเครน
ข้อมูลการค้าแสดงให้เห็นว่าในปี 2566 บริษัทที่ปรากฏชื่อในสัญญาได้มีการจัดส่งรถบรรทุกไปยังซาอุดิอาระเบีย รถบรรทุกคันดังกล่าวพบว่าเป็นรถประเภทเดียวกับที่มีการบรรทุกชิ้นส่วนระบบต่อต้านอากาศยาน ซึ่งระบบนี้รวมไปถึงจรวดนำวิถีและระบบการสื่อสารทางวิทยุ โดยระบบอากาศยานที่ทางซาอุดิอาระเบียได้จัดซื้อจากทางรัสเซียมีชื่อว่าระบบต่อต้านอากาศยาน Pantsir-S1M
รายละเอียดเกี่ยวกับการขายอาวุธให้กับซาอุดิอาระเบียและประเทศอื่นๆนั้นถูกเปิดเผยโดยมีที่มาจากเอกสารภายในที่รั่วไหลของบริษัท Roselectronics โดยสำนักข่าว OCCRP ได้รวบรวมข้อมูลเอกสารเหล่านี้ ขณะที่สำนักงาน Kyiv Independent ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลเอกสาร
สำหรับบริษัท Roselectronics นั้นแท้จริงแล้วเป็นบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ Rostec ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติของรัสเซีย โดยภายใต้ข้อตกลง ซาอุดิอาระเบียได้จ่ายเงินกว่า 2.2 พันล้านยูโร (77,558,800,000 บาท) ให้กับบริษัท Rosoboronexport ซึ่งบริษัทนี้ก็เป็นบริษัทลูกอีกแห่งของ Rostec เช่นกัน ซึ่งหลังจาการรับเงิน ทาง Rosoboronexport ได้มีการโอนเงินไปยังภาคอุตสาหกรรมผลิตอาวุธต่อไป
เอกสารของ Roselectronics ที่ถูกเปิดเผย ยังปรากฎข้อมูลใบแจ้งหนี้และใบแจ้งยอดบัญชีธนาคารที่แสดงให้เห็นว่าซาอุดีอาระเบียโอนงวดแรกจํานวน 326 ล้านยูโร (11,492,804,000 บาท) ในเดือน ส.ค.2564 อย่างไรก็ตามไม่สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ว่าทางซาอุดิอาระเบียได้ชำระเงินในงวดอื่นๆหลังจากนี้อีกหรือไม่ เพราะว่าเอกสารของ Roselectronics ที่ถูกเปิดเผยแสดงข้อมูลธุรกรรมแต่ถึงเดือน พ.ค.2565 เท่านั้น
อนึ่งความร่วมมือความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างรัสเซียและซาอุดิอาระเบียนั้นไม่ได้ขัดกฎหมายในซาอุดิอาระเบียเนื่องจากซาอุดิอาระเบียไม่ได้ร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย แต่ก็มีการวิจารณ์ว่าซาอุดิอาระเบียเสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตรจากทางสหรัฐอเมริกาหากพวกเขาทำธุรกิจกับกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย
ทางผู้สื่อข่าวได้มีการติดต่อสอบถามไปยังกระทรวงกลาโหมซาอุดิอาระเบียเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับการทำสัญญานี้ รวมไปถึงความร่วมมืออื่นๆกับบริษัทกลาโหมรัสเซีย แต่ว่ากระทรวงไม่ได้แสดงความเห็นแต่อย่างใด
เอกสารจาก Roselectronics ยังระบุด้วยว่านอกเหนือจากซาอุดิอาระเบียแล้ว ประเทศอื่นๆรวมถึง จีน อินเดีย แอลจีเรีย และอียิปต์ ยังคงมีการสั่งซื้ออาวุธจากรัสเซียอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่มีการรุกรานยูเครนอย่างเต็มที่ โดยข้อมูลนำเข้าและส่งออกได้มีการบันทึกการถ่ายโอนอาวุธเหล่านี้
ทางด้านของสำนักข่าว Defense Express ของยูเครนรายงานว่าแท้จริงแล้วสัญญาการจัดซื้อระบบต่อต้านอากาศยาน Pantsir-S1M ซึ่งมีการเซ็นกันในปี 2564 ไม่เคยถูกเผยแพร่สู่สาธารณะมาก่อนเลย จนกระทั่งถึงปี 2567
ข่าวซาอุดิอาระเบีย ซื้อระบบต่อต้านกาอาศยาน Pantsir-S1M จากรัสเซีย (อ้างอิงวิดีโอจาก Military Coverage)
โดยเอกสารข่าวคราวเกี่ยวกับระบบต่อต้านอากาศยานของรัฐบาลซาอุดิอาระเบียหรือที่มีชื่อว่า ก็ไม่เคยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้อระบบ Pantsir ซึ่งมีศักยภาพในการยิงจรวดนำวิถี สามารถยิงเครื่องบินและอากาศยานไร้คนขับให้ตกลงมาได้ แต่การจัดซื้อเหล่านี้กลับถูกเปิดโปงโดยเอกสารที่รั่วไหลของ Roselectronics
สำหรับระบบ Pantsir ถ้าจะให้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ ระบบนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “แบตเตอรี่ต่อต้านอากาศยาน” ซึ่งจะประกอบไปด้วยยานพาหนะหลายคันที่สามารถยิงจรวดนำวิถีได้และกระสุนปืนใหญ่ต่อต้านอากาศยานได้ ซึ่งรายละเอียดระบุว่าทางซาอุดิอาระเบียได้มีการจัดซื้อแบตเตอรี่ต่อต้านอากาศยานหลายระบบ
ข้อมูลเอกสารแสดงให้เห็นอีกว่าซาอุดิอาระเบียมีการสั่งรถบรรทุกจำนวน 39 คัน ที่มีความสามารถในการยิงต่อต้านอากาศยาน สั่งซื้อรถอีกสิบคันทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการ เพื่อกำกับการทำงานของยานพาหนะในการสู้รบ นอกจากนี้ยังมีการสั่งซื้อจรวดนำวิถีอีกหลายร้อยลูกและสั่งซื้อยานพาหนะเพิ่มเติมอีก
ยิ่งไปกว่านั้นหนึ่งในบริษัทอีกแห่งในเครือรัฐวิสาหกิจ Rostec ชื่อว่าบริษัท United Instrument Manufacturing Corporation ยังได้รับการแต่งตั้งให้ดูแลการจัดหาระบบวิทยุสื่อสารที่จัดซื้อภายใต้สัญญานี้ด้วย
รายนามบริษัทรัสเซียและประเทศที่คว่ำบาตร
นอกเหนือจากระบบต่อต้านอากาศยาน Pantsir แล้ว ในข้อมูลเอกสารที่รั่วไหล ยังมีการระบุถึงข้อเสนอความหนา 69 แผ่น เพื่อจะหารือความร่วมมือกันในอนาคตระหว่างซาอุดิอาระเบียและบริษัทรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตรต่อไป โดยข้อเสนอความร่วมมือได้สรุปสัญญาที่เป็นไปได้จำนวนสามสัญญาด้วยกัน
ในสัญญาหนึ่งมีการระบุรายละเอียดครอบคลุมการก่อสร้างสิ่งอํานวยความสะดวกในการบํารุงรักษา ในขณะที่อีกสัญญาหนึ่งจะสร้างศูนย์ฝึกอบรมขนาด 15,000 ตารางเมตรในเจดดาห์สำหรับบุคลากรเกี่ยวกับการใช้ระบบ Pantsir ส่วนสัญญาฉบับที่สาม ที่เป็นไปได้ว่าจะมีขึ้นในอนาคต จะเป็นสัญญาการก่อสร้างโรงงานประกอบชิ้นส่วนในซาอุดีอาระเบียเพื่อผลิตอะไหล่สนับสนุนการใช้งานระบบ Pantsir และกระสุนต่อต้านอากาศยานที่เกี่ยวข้อง
เอกสารที่รั่วไหลระบุว่าสัญญาเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงงานจะมีการเซ็นกันในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 อย่างไรก็ตาม OCCRP ไม่สามารถจะยืนยันได้ว่าสัญญาก่อสร้างโรงงานนี้รวมไปถึงสัญญาที่เกี่ยวข้องอีกสองฉบับได้มีการเซ็นสัญญากันจริงหรือไม่ เพราะรายละเอียดตามที่เรียนไปเบื้องต้นว่าเอกสารที่รั่วไหลนั้นบันทึกเหตุการณ์ถึงแค่เดือน พ.ค.2565 เท่านั้น
อนึ่งในรายละเอียดสัญญาที่เซ็นกันเพื่อจัดซื้อระบบ Pantsir ของซาอุดิอาระเบีย มีข้อกำหนดสำคัญอย่างหนึ่งก็คือว่าจะต้องให้ซาอุดิอาระเบียสามารถผลิตระบบนี้ในประเทศได้ในอนาคต
ทางด้านของนายอีวาน คิริเชฟสกี้ (Ivan Kirichevsky) ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธที่เขียนบทความลงบน Defense Express กล่าวว่ามีความเป็นไปได้มากที่การคว่ำบาตรจะทำให้ส่งผลกระทบลามไปถึงการจัดตั้งโรงงานผลิตระบบ Pantsir ในซาอุดิอาระเบีย เพราะว่าบริษัทรัสเซียจะหาวัตถุดิบมาสนับสนุนได้ยากกว่าแต่ก่อนมาก
“มีข้อสงสัยบางประการว่ารัสเซียสามารถไปถึงขั้นตอนต่อไปของสัญญาซาอุดีอาระเบียได้หรือไม่ นั่นคือการจัดตั้งโรงงานการผลิตร่วมกัน” นายคิริเชฟสกี้กล่าว
เรียบเรียงจาก:https://www.occrp.org/en/scoop/sanctioned-russian-firms-sold-2b-air-defense-system-to-saudi-arabia-leaked-documents-show