“…การขัดแย้งครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ มันเป็นความขัดแย้งที่มีหลายมิติ และจะลึกล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วจะนำไปสู่การต่อสู้ ผมคิดว่า แม้ว่าคุณทรัมป์จะลงจากตำแหน่งไปแล้ว แต่เรื่องเหล่านี้จะยังเดินหน้าต่อไป เพราะเป็นความขัดแย้งระดับประเทศอย่างแท้จริง…”
.......................................
เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา สมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดงานเสวนา “Trade War 2025: จะรับมือกับ Trump อย่างไร?” ซึ่งในการเสวนาหัวข้อ “มุมมองนักเศรษฐศาสตร์ต่อสงครามการค้าและแนวโน้ม” นักเศรษฐศาสตร์ มองว่า ความผันผวนจากสงครามการค้าจะอยู่กับไทยไปอีก 4 ปี และไทยจะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ
กอบศักดิ์ ภูตระกูล นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรากำลังเข้าสู่โลกยุค ‘เผชิญหน้า’ ซึ่งปกติก็เผชิญหน้าอยู่แล้ว เป็นการเผชิญหน้าอย่างสุภาพ แต่วันนี้เป็นการเผชิญหน้า แบบไม่มีอะไรต้องแอบแฝงกันต่อไป โดยโลกได้เปลี่ยนไปตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.2568 เปลี่ยนไปอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และมรสุมลูกหนี้จะอยู่กับเราอีก 4 ปี
“เขา (ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์) จะอยู่กับเรา 4 ปี คลื่นลมจะแรง ท่ามกลางความผันผวนเหล่านี้ สินทรัพย์หลายประเภทจะผันผวนไปมา และยากที่จะเห็นทิศทาง บางทีการ Hedging หรือการบริหารจัดการตัวเองจะมีความสำคัญ รวมถึงนักลงทุนด้วย เราต้องเข้าใจว่า นี่คือโลกใหม่ สถานการณ์ใหม่
จากที่คลื่นลมสงบๆ ลงทุนได้ แต่ตอนนี้ จะกลายเป็นโต้คลื่น เราต้องทำใจว่า ถ้าอยู่ในตลาดในรอบนี้ เราต้องสามารถรับความผันผวนที่แรงกว่าเดิมหลายเท่าได้ นี่คือหัวใจ และนี่เพิ่งเริ่มต้นได้แค่เดือนเดียว แต่คำถาม คือ ถ้าเขาพัด 4 ปี มันจะระเนระนาดแค่ไหน ผลกระทบจะมากน้อยแค่ไหน” กอบศักดิ์ กล่าว
กอบศักดิ์ ระบุว่า ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจเป้าหมายสูงสุด (Ultimate Goal) ของประธานาธิบดีทรัมป์ก่อน เพื่อจะประเมินได้ว่า ความผันผวนในครั้งนี้จะมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป้าหมายของคำว่า Make America Great Again และ America First นั้น ส่วนตัวมองว่าในความจริงแล้ว คือ Make America Number One Again ไม่ใช่ America First
"ทุกประเทศ มีขึ้นลงเสมอ มีเบอร์หนึ่งเสมอ หลายครั้งเบอร์หนึ่งจะถูกเบอร์สองแย่งชิงไป ทุกครั้งโดยส่วนมาก 80% จะเกิดการขัดแย้งรุนแรง ระหว่างเบอร์หนึ่งกับเบอร์สอง โดย 80% นำไปสู่สงคราม มี 20% ที่ไม่เกิดสงคราม และทุกครั้งที่มีคนมากล้าท้าทายเบอร์หนึ่ง เบอร์หนึ่งก็ต้องจัดการ เพียงแต่สุภาพหรือไม่สุภาพเท่านั้นเอง
ในการท้าชิงเบอร์หนึ่งก่อนหน้านี้ รัสเซีย มีทหาร แต่ไม่มีเศรษฐกิจ ญี่ปุ่น มีเศรษฐกิจ แต่ไม่มีทหาร แต่ครั้งนี้ (จีน) เขามีทั้งคู่เลย เขามีทั้งทหารและเศรษฐกิจ ดังนั้น การท้าชิงในครั้งนี้ จะไม่เหมือนครั้งก่อนๆ ที่เบอร์สองพ่ายแพ้ไป แล้วเบอร์หนึ่งก็รอดพ้นมาได้” กอบศักดิ์ กล่าว
@‘ทรัมป์’พ้นตำแหน่ง แต่ความขัดแย้ง‘สหรัฐ-จีน’ไม่จบ
กอบศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อ Ultimate Goal ของ Trump 2.0 คือ การรักษาความเป็นเบอร์หนึ่งของอเมริกา ให้พ้นจากภัยของเบอร์สอง คือ จีน สิ่งที่ Trump 2.0 จะทำนั้น สรุปได้เป็น 3 เรื่อง คือ 1.อเมริกาตั้งใจจะปรับโครงสร้างภายในเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อทำให้สามารถต่อสู้ได้เต็มที่ เช่น การลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลอเมริกา
2.การปรับสมดุลกับต่างประเทศ ลดภาระ และการถูกเอาเปรียบ ดังนั้น การค้าเสรีอยู่ที่อยู่ภายใต้ร่ม Free Trade นั้น ตอนนี้ไม่สำคัญอีกแล้ว ต้องเป็น Fair Trade ต้อง Fair กับอเมริกา อเมริกาไม่ถูกเอาเปรียบ เพราะที่ผ่านมาอเมริกามีปัญหาการขาดดุลการค้าอย่างมาก และ3.การจัดการกับจีนที่เป็นคู่แข่งสำคัญให้ได้
“ขณะนี้เรื่อง tariffs มาเพียบเลย เขาตั้งใจจะปรับสมดุลกับคนข้างนอก ให้กลับมาเป็นภาระน้อยที่สุด เขาคิดว่าอเมริกาถูกเอาเปรียบ และวันที่อเมริกาถูกเอาเปรียบ จบแล้ว เขาดำเนินการเพื่อนำไปสู่ Fair Trade และนอกจากเรื่อง tariffs แล้ว ยังมีเรื่อง non-tariffs การอุดหนุน (Subsidies) เรื่องภาษีมูลค่า (Vat) ที่ต่างกัน และภาษี Digital Service
ล่าสุดเขาบอกว่า อย่าคิดว่าเขาไม่รู้ว่ามีประเทศที่ทำให้ค่าเงินอ่อน (Currency Depreciation) เพื่อรับกับ tariffs เดี๋ยวจะไปคำนวณเพิ่ม ซึ่งตรงนี้จะหนักหน่วง เพราะแทนที่จะจบรอบเดียว จะมีรอบสอง รอบสาม รอบสี่ ถ้ามีมาตรการตอบโต้ มีการปล่อยให้ค่าเงินอ่อน ก็จะถูกนำมาคำนวณอีกรอบ หมายความว่า ความกว้างขวางจะมากขึ้น
ส่วนที่เขาตั้งใจจะจัดการกับจีน เพราะเขามองว่า จีนกำลังใช้นโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) หรือเส้นทางสายไหม ซึ่งเขามองว่าจริงๆแล้ว เป็นมาตรการที่จะเบียดอเมริกาออกจากการเป็นเบอร์หนึ่งในเชิงอิทธิพล เขาจึงต้องจัดการกับนโยบาย BRI รวมถึงนโยบายเรื่อง BRICS (กลุ่มประเทศบริกส์) ที่มีพี่เบิ้ม คือ จีน ด้วย” กอบศักดิ์ ระบุ
กอบศักดิ์ กล่าวว่า การแข่งขันระหว่างอเมริกากับจีนนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องสงครามการค้า (Trade War) เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสงครามเทคโนโลยี (Tech War) สงครามด้านการเงิน (Financial War) การแข่งขันด้านเขตอิทธิพล (sphere of influence) และสงครามทางทหาร (Military War)
“การขัดแย้งครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ มันเป็นความขัดแย้งที่มีหลายมิติ และจะลึกล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วจะนำไปสู่การต่อสู้ ผมคิดว่า แม้ว่าคุณทรัมป์จะลงจากตำแหน่งไปแล้ว แต่เรื่องเหล่านี้จะยังเดินหน้าต่อไป เพราะเป็นความขัดแย้งระดับประเทศอย่างแท้จริง” กอบศักดิ์ กล่าว
กอบศักดิ์ กล่าวด้วยว่า การประเมินผลกระทบของสงครามการค้าทั้งหมดว่า มีอะไรบ้างนั้น อาจเป็นสิ่งที่เร็วเกินไป เพราะทรัมป์เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น และต้องรอดูว่าในวันที่ 2 เม.ย.นี้ มาตรการภาษีของสหรัฐฯที่จะประกาศออกมา มีอะไรบ้าง และครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งจะมีการตอบโต้กันอย่างไร
“ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ถ้าเดินตามทางนี้ในวันที่ 2 เม.ย. คือ เงินเฟ้อที่สหรัฐฯจะมาแน่ เศรษฐกิจจะขยายตัวช้าลง การจ้างงานจะค่อยๆลดลง และความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐจะลดลง เพราะสินค้าที่สหรัฐนำเข้ามาประกอบเพื่อส่งออกจะมีต้นทุนที่แพง แล้วจะส่งออกในราคาที่ดีได้อย่างไร” กอบศักดิ์ กล่าว
กอบศักดิ์ ย้ำว่า “เดี๋ยวต้องรอดูว่าสงครามครั้งนี้ จะลุกลามแค่ไหน แต่คงไม่เลิกกันง่าย”
@เปิดลิสต์‘สินค้าไทย’ส่อเจอกำแพงภาษี‘ทรัมป์ 2.0’
กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า สงครามการค้าจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ เรื่องแรก สงครามการค้าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศคู่ค้าต่างๆ
เรื่องที่สอง การส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯจะได้รับผลกระทบ จากการที่สหรัฐฯใช้มาตรการทางภาษีกีดกันสินค้าจากไทย เนื่องจากไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯเป็นอันดับที่ 11 และเกินดุลฯสูงถึง 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าที่มีความเสี่ยงถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้า เช่น ยางรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ แผงโซลาร์เซลล์ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
“ถ้าเขาเก็บภาษีจากไทย น้อยกว่าที่เขาเก็บจากจีน หรือน้อยกว่าที่เก็บจากเวียดนาม เราก็อาจมีโอกาส เพราะในสายตาผู้นำเข้าสหรัฐ สินค้าเราจะถูกกว่า เช่น กรณี Trump 1.0 เขาเก็บภาษีจีน แต่ไม่เก็บเรา ทำให้สัดส่วนการนำเข้าสินค้าจีนไปสหรัฐลดลงๆ แต่สินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น และคนที่เพิ่มขึ้นเยอะ คือ เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้” กิริฎา กล่าว
ขณะเดียวกัน จะมีสินค้าที่ไทยต้องนำเข้าจากสหรัฐฯมากขึ้น ตามคำร้องขอของสหรัฐฯที่ต้องการให้ไทยเปิดตลาด เนื่องจากที่ผ่านมาไทยมีการกำหนดมาตรการเพื่อกันไม่ให้สินค้าสหรัฐฯเหล่านี้เข้ามาไทย เช่น รถยนต์ จักรยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ถั่วเหลือง มันฝรั่ง เนื้อหมู ข้าวโพด เบียร์ ไวน์ กาแฟ และน้ำมันปาล์ม เป็นต้น
“เวลาเราไปเจรจากับเขา ตัวไหนที่ถ้าเราเปิดแล้ว ไม่กระทบเรามาก เช่น ไวน์ เนื้อวัว เราไม่ได้ผลิตเอง ก็เปิดไปก่อน ตัวอื่นๆที่กระทบธุรกิจในประเทศไทย เราก็ต้องเจรจา นอกเหนือจากที่เราจะนำเข้าแก๊สธรรมชาติจากสหรัฐเพิ่มขึ้น หรือไปจะซื้อเครื่องบินรบ แต่ก็มีคนจองยาวเหยียดหลายปี” กิริฎา กล่าว
เรื่องที่สาม จะมีสินค้าจากประเทศต่างๆเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจากจีน โดยสินค้านำเข้าจากจีนเข้ามาประเทศไทยเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว เพราะมีความต้องการในประเทศไทย ซึ่งสินค้าจีนที่ไทยนำเข้ามากที่สุด ไม่ใช่รองเท้า เสื้อผ้า แต่เป็นวัตถุดิบและชิ้นส่วน เครื่องจักรอุปกรณ์ เนื่องจากคุณภาพดีและราคาไม่แพง
“ตอนนี้ไม่ใช่แค่ธุรกิจไทยที่อยากสินค้าจากจีนแล้ว แต่โรงงานจีนที่มาตั้งเยอะในประเทศไทย และจะเยอะขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เขาคงจะซื้อชิ้นส่วนและเครื่องจักรจากจีน ดังนั้น การไหลบ่าเข้ามาของสินค้าจีนจะมากขึ้น และเราคงไม่ใช้ tariffs ไปหยุด เพราะมีคนที่ได้ประโยชน์เช่นกัน แต่ต้องทำให้มั่นใจว่าสินค้าได้คุณภาพ” กิริฎา ระบุ
@มองผลกระทบ‘เทรดวอร์’กระทบไทย 6 ประเด็น
รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ระเบียบโลกใหม่เริ่มขึ้นแล้ว โดยปฐมบทเริ่มมาจากยุทธศาสตร์ชาติของสหรัฐฯ ปี พ.ศ.2560 (ค.ศ.2017) ที่มองว่าจีนเป็นประเทศเดียวที่มีความสามารถและเจตนารมณ์ในการที่จะแซงหน้าสหรัฐ จีนจึงเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งของสหรัฐ
“โจทย์ของ Trump 2.0 จีน คือ ภัยคุกคามอันดับหนึ่ง ทำอย่างไร ถึงจะลดเงินเฟ้อในอเมริกา เพื่อลดค่าครองชีพของคนอเมริกัน ทำอย่างไรจึงจะดึงเงินลงทุนเข้ามาในอเมริกาและเกิดการจ้างงานในอเมริกา โจทย์ของทรัมป์เป็นโจทย์ที่ถูก แต่ทรัมป์คำตอบที่ผิด เพราะทรัมป์เลือกใช้แสนยานุภาพอันดับหนึ่ง ทำการเปลี่ยนระเบียบโลกอย่างน้อย 2 ข้อ
ข้อแรก สถาบันระหว่างประเทศที่ถูกใช้มา 80 ปี ตั้งแต่โลกครั้งที่ 2 เพื่อทำให้เกิดสันติภาพในโลก ถูกทำลาย และระเบียบโลกใหม่ คือ รัฐที่มีอำนาจเหนือกว่าสามารถละเมิดอธิปไตยเข้ายึดครองพื้นที่ของรัฐที่มีพลังอำนาจอ่อนด้อยกว่าได้ หากการยึดครองนั้นสอดคล้องกับประโยชน์ของสหรัฐฯ
ข้อสอง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งทรัมป์คิดถึงเพียงตัวเลขที่บวกและลบ เป็นกลไกที่ขับเคลื่อนมิติทางความมั่นคง ดังนั้น สงครามการค้า สงครามเศรษฐกิจ และสงครามในสนามรบจริง คือ สิ่งที่สามารถเจรจาแลกเปลี่ยนกันได้” รศ.ดร.ปิติ กล่าว พร้อมระบุว่า นโยบายของสหรัฐฯภายใต้ทรัมป์ จะทำให้ประเทศต่างๆหันกลับมาทำให้ตัวเองเข้มแข็งมากขึ้น
รศ.ดร.ปิติ ยังประเมินผลกระทบของสงครามการค้า (Trade War) ที่มีต่อประเทศไทย ว่า จะมีผลกระทบอย่างน้อย 6 ประเด็น ได้แก่ 1.กำแพงภาษีสหรัฐฯที่สูงขึ้น โดยเฉพาะมาตรการภาษีที่จะออกมาในวันที่ 2 เม.ย.นี้ ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ และส่งผลให้ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯได้น้อยลง
2.จีนที่โดนกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ ซึ่งอาจโดนเก็บภาษีสูงถึง 60% หรือ 150% และทำให้สินค้าจีนเข้าสหรัฐยากขึ้น โดยสินค้าจีนเหล่านั้นจะถูกนำมาขายในประเทศไทยมากขึ้น และให้การแข่งขันในตลาดภายในประเทศรุนแรงมากขึ้น 3.สินค้าจีนที่ส่งไปขายในสหรัฐฯไม่ได้ ก็ต้องนำมาขายในจีน ทำให้สินค้าไทยที่ไปขายในจีน ต้องเจอการแข่งขันที่รุนแรง
4.ในประเทศที่ 3 ผู้ประกอบการไทย จีน และประเทศอื่นๆ ที่ต้องการตลาดใหม่ๆ จะมีการเอาสินค้าไปแข่งในตลาดประเทศที่ 3 เหล่านั้น เพราะไม่สามารถส่งออกไปขายในสหรัฐฯได้ และกลายเป็นคู่แข่งซึ่งกันและกัน 5.เงินลงทุนจีนที่เคยมาลงทุนในไทยจะลดลง เพราะไทยไม่ใช่ตั๋วสำหรับนำสินค้าเข้าไปขายในสหรัฐฯได้ง่ายๆ โดยไม่มีกำแพงภาษี
และ 6.เงินลงทุนของนักลงทุนสหรัฐฯที่เคยนำมาลงทุนในไทย จะกลับไปลงทุนในสหรัฐ เพราะสหรัฐฯจะใช้ทุกมาตรการเพื่อดึงเงินลงทุนกลับไปที่สหรัฐฯ
“เราจะโดน 6 เด้ง และผลไม่ใช่แค่เรื่องการค้า ที่เกิดจากช้างสารชนกันหญ้าแพรกก็แหลกราญ แต่ในปี 1973 ลีกวนยู พูดว่า เวลาช้างสารมัน Make love กัน มันคือความหายนะ” รศ.ดร.ปิติ ย้ำ
อ่านประกอบ :
วงเสวนาฯห่วง‘สงครามการค้า’ลาม ส่อนำไปสู่‘ศก.ตกต่ำครั้งใหญ่’-ชี้ช่องรบ.รับมือ‘ทรัมป์ 2.0’