“…อนึ่ง การที่มาตรา 14 วรรคสาม ข้างต้น บัญญัติให้กรรมการสรรหาต้องเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนได้เสียเชิงธุรกิจกับผู้ประกอบกิจการพลังงาน มีความมุ่งหมายที่จะให้เกิดความโปร่งใสและสาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม ในการปฎิบัติหน้าที่ของกรรมการสรรหาซึ่งมีลักษณะดังกล่าวนั้น ก็ต้องพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักความเป็นกลางและไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกันในเรื่องที่พิจารณา โดยหากมีเหตุต้องห้ามหรือมีเหตุอื่นใดซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง กรรมการสรรหาผู้นั้นจะทำการพิจารณาในเรื่องนั้นไม่ได้…”
สืบเนื่องจากกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ตอบข้อหารือสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรื่อง การมีส่วนได้เสียเชิงธุรกิจกับผู้ประกอบกิจการพลังงานของกรรมการสรรหาตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ตามที่รายงานไปแล้วนั้น
อ่านประกอบ : ‘กฤษฎีกา’ ชี้ ‘บอร์ดสรรหา กกพ.’ มีส่วนได้เสียกับธุรกิจพลังงาน ไม่เป็นลักษณะต้องห้าม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org.) ขอนำฉบับเต็ม เรื่องเสร็จที่ 315/2568 บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การมีส่วนได้เสียเชิงธุรกิจกับผู้ประกอบกิจการพลังงานของกรรมการสรรหาตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ดังต่อไปนี้
เพื่อให้เกิดความชัดเจนถูกต้องในการพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการสรรหาฯ สำนักงาน กกพ. ในฐานะหน่วยงานธุรการในการดำเนินงานคัดเลือกกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จึงขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง การพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการสรรหาฯ ต้องเป็นไปตามที่กำหนดในมาตรา 13 และมาตรา 14 วรรคเก้าเท่านั้นหรือไม่
ประเด็นที่สอง มาตรา 14 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “กรรมการสรรหาจะต้องเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนได้เสียเชิงธุรกิจกับผู้ประกอบกิจการพลังงานของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะในช่วงสองปีที่ผ่านมาให้สาธารณชนทราบและต้องไม่เป็นผู้มีคดีความเป็นส่วนตัวกับผู้ประกอบกิจการพลังงานในช่วงเวลาดังกล่าว” นั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจากการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนได้เสียของกรรมการสรรหาฯ ว่า
กรณีที่ 1 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา กรรมการสรรหาฯ คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เคยถือหุ้นหรือถือหุ้น เคยดำรงตำแหน่งหรือดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทพลังงาน
กรณีที่ 2 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา กรรมการสรรหาฯ คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานด้านการบริหารในบริษัทพลังงาน แต่เป็นกรรมการที่ได้รับการคัดเลือกโดยผ่านขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามที่กำหนดในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าและแต่งตั้งโดยภาครัฐ หรือดำรงตำแหน่งเป็นผู้ตรวจการสิ่งแวดล้อมซึ่งได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งจากคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อเป็นตัวแทนในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรับเรื่องร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้า
การมีส่วนได้เสียเชิงธุรกิจกับผู้ประกอบการกิจการพลังงานของกรรมการสรรหาฯ ตามกรณีที่ 1 และ 2 ถือเป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 13 และมาตรา 14 หรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) พิจารณาข้อหารือของ สำนักงาน กกพ. โดยมีผู้แทนกระทรวงพลังงาน (สำนักงานปลัดกระทรวงและสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) และผู้แทนสำนักงาน กกพ. เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า เมื่อพิจารณาพ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 แล้ว จะเห็นได้ว่า ได้บัญญัติคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการสรรหาไว้สองส่วน
ส่วนแรก เป็นกรณีตามมาตรา 14 วรรคเก้า ที่บัญญัติให้กรรมการสรรหาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 13 ซึ่งเป็นการกำหนดให้กรรมการสรรหาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามในลักษณะเดียวกับกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
ส่วนที่สอง กรณีตามมาตรา 14 วรรคสาม ความตอนท้าย ที่บัญญัติให้กรรมการสรรหาต้องไม่เป็นผู้มีคดีความเป็นส่วนตัวกับผู้ประกอบกิจการพลังงานในช่วงสองปีที่ผ่านมา
ดังนั้น การพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการสรรหาจึงต้องพิจารณาตามมาตรา 14 วรรคสาม และมาตรา 14 วรรคเก้า ประกอบกับมาตรา 13
ประเด็นที่สอง เห็นว่า การที่ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงานฯ มาตรา 14 วรรคสาม บัญญัติให้กรรมการสรรหาจะต้องเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนได้เสียเชิงธุรกิจกับผู้ประกอบกิจการพลังงานของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะในช่วงสองปีที่ผ่านมาให้สาธารณชนทราบนั้น เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดหน้าที่ของกรรมการสรรหาในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว แต่ไม่ได้เป็นบทบัญญัติห้ามการมีส่วนได้ส่วนเสียเชิงธุรกิจกับผู้ประกอบกิจการพลังงาน จึงไม่ได้เป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหา ทั้งนี้ ตามนัยความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 3) ในเรื่องเสร็จที่ 521/2544
ดังนั้น หากปรากฏข้อเท็จจริงจากการเปิดเผยข้อมูลของกรรมการสรรหาตามกรณีที่ 1 และกรณีที่ 2 หรือมีกรณีอื่นใดซี่งปรากฏในเวลาต่อมาอันอาจเป็นเหตุให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้นั้นไม่เป็นกลาง จึงย่อมอยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานผู้เสนอชื่อคณะกรรมการสรรหาและคณะรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาที่จะพิจารณาดำเนินการเปลี่ยนแปลงได้ตามที่เห็นสมควร
อนึ่ง การที่มาตรา 14 วรรคสาม ข้างต้น บัญญัติให้กรรมการสรรหาต้องเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนได้เสียเชิงธุรกิจกับผู้ประกอบกิจการพลังงาน มีความมุ่งหมายที่จะให้เกิดความโปร่งใสและสาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม ในการปฎิบัติหน้ที่ของกรรมการสรรหาซึ่งมีลักษณะดังกล่าวนั้น ก็ต้องพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักความเป็นกลางและไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกันในเรื่องที่พิจารณา โดยหากมีเหตุต้องห้ามหรือมีเหตุอื่นใดซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง กรรมการสรรหาผู้นั้นจะทำการพิจารณาในเรื่องนั้นไม่ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539