“...ปัจจุบันทางรถไฟเรายังสู้ประเทศมาเลเซียไม่ได้ แล้วก็ประมาทเวียดนามและกัมพูชาไม่ได้ด้วย ดังนั้น ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านภูมิภาคแล้ว และถ้าหากโครงการต่า่งๆที่วางไว้ทยอยเสร็จตามแผน คาดว่าใน 3-4 ปีนี้ ระบบรางของประเทศไทยจะแข็งแกร่งขึ้นมาก…”
เป็นเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว ที่จีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ประกาศยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road) หรือในชื่อปัจจุบัน “ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) เพื่อหวังที่จะรังสรรค์เส้นทางสายไหมใหม่” (New Silk Road) ที่จะเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างจีนกับประเทศต่างๆทั่วโลก ซึ่งข้อมูลถึงปี 2567 มีประเทศต่างๆเข้าร่วมด้วยแล้ว 140 ประเทศ และแน่นอนมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย
ดอกผลอย่างหนึ่งของนโยบายดังกล่าว ทำให้เกิดระเบียงเศรษฐกิจมากมายขึ้น และหนึ่งในนั้นคือ ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ 国际陆海贸易新通道: New International Land-Sea Trade Corridor: ILSTC) ซึ่งมีศูนย์กลางการค้าและการขนส่งอยู่ที่นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ความสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจนี้คือ เป็นการเชื่อมโยงท่าเรือทั่วโลกด้วยทางรถไฟ เส้นทางเดินเรือ และทางหลวงผ่านภูมิภาคทางตอนใต้ของจีน เช่น กว่างซีและยูนาน โดยปัจจุบันมีบริการขนส่งสินค้าครอบคลุมท่าเรือ 555 แห่งใน 127 ประเทศ
ระหว่างวันที่ 3-5 เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้นำคณะสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมโครงการดังกล่าวถึงมหานครฉงชิ่ง โดยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ร่วมคณะเดินทางไปด้วย
ภาพภายในบริเวณศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท ILSTC ที่นครฉงชิ่ง ประเทศจีน
@ไทยบนเส้นทาง ILSTC ของจีน
‘พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์’ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ให้สัมภาษณ์ว่า สาเหตุที่พามาเยี่ยมชม เนื่องจากช่วงเดือน เม.ย.ของทุกปี ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ ขณะที่ประเทศจีนกำลังเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งในช่วงนี้สินค้าทางการเกษตรที่เป็นที่นิยมของคนจีนอย่าง ทุเรียน,มังคุด, เงาะ, ลำไย กำลังออกผล หากดูตามแผนที่ (ภาพประกอบด้านล่าง) จะพบว่า ศูนย์กลางของ ILSTC อยู่ทางภาคตะวันตกของจีน มีศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดของจีนอยู่ที่นครฉงชิ่งนี้
“ศักยภาพของ ILSTC สามารถรองรับตู้สินค้าได้ 50,000 TEU มีสินค้นไทยเข้ามาตรงนี้ 20% เป็นปริมาณสินค้าที่เยอะพอสมควร ซึ่งทางการจีนสร้างมาแล้ว 8 ปี ส่วนการขนส่งสินค้าจากไทยมาถึง ILSTC ที่ฉงชิ่ง ปัจจุบันใช้การขนส่งทางรางเป็นหลัก โดยเปลี่ยนขบวนที่นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว แล้วเดินทางผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีนขึ้นมา” อธิบดีกรมการขนส่งทางระบุ
อธิบดีพิเชฐกล่าวต่อว่า แต้มต่อของไทยบนเส้นทางรถไฟนี้คือ การขนส่งสินค้าเข้าไปยังภูมิภาคยุโรป ซึ่งตามเส้นทาง ILSTC ที่จีนวางไว้ สามารถทะลุทะลวงไปถึงได้ ซึ่งในปีนี้ก็เริ่มมีการทดลองขนส่งสินค้าเคมีจากท่าเรือมาบตาพุต จ.ระยอง เข้าไปถึงท่าเรือท่าเรือฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี 2 ครั้ง ครั้งแรกใช้เวลาขนส่ง 30 วัน และครั้งที่ 2 เหลือ 22 วัน โดยใช้เส้นทางรถไฟลากจากท่าเรือมาบตาพุตและแหลมฉบัง เชื่อมไปถึง จ.หนองคาย แล้วเปลี่ยนถ่ายระบบรางที่นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว พาดผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวผ่านหมู่บ้านบ่อเต็น, เมืองบ่อหาน บริเวณเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน, จนมาถึงนครฉงชิ่ง แล้วกระจายไปทั่วประเทศจีน ส่วนเส้นทางที่จะต่อเชื่อมไปถึงทวีปยุโรป ก็จะใช้เส้นทางไปต่อยังเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เมืองอี๋หนิง เข้าสู่ประเทศคาซัดสถาน ข้ามไปยังประเทศรัสเซีย เบลารุส และโปแลนด์
โครงข่ายระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ ILSTC
ที่มาภาพ: https://www.ichongqing.info/2019/03/06/chongqing-proposal-to-make-ilstc-as-a-national-strategic-project/
@ไฮสปีดไทย-จีนเฟส 2 / ทางคู่ขอนแก่น - หนองคาย ตัวช่วยร่นเวลา
จากเส้นทางที่เชื่อมต่อจาก 2 ท่าเรือในแดนตะวันออกของไทย ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้ทางกระทรวงคมนาคมก็มีแผนโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ที่ในเส้นทางภาคอีสานก็เชื่อมไกลจากขอนแก่น - หนองคาย แถมมีรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเส้นทางกรุงเทพฯ - นครราชสีมา - หนองคาย รออีก ถ้า 2 โครงการนี้เกิด จะมีผลให้การขนส่งทางรางเร็วขึ้นหรือไม่
อธิบดีกรมการขนส่งทางรางตอบว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งอนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงสายอีสานระยะที่ 2 นครราชสีมา - หนองคายไปเมื่อเดือน ก.พ. 2568 ที่่ผ่านมา แต่โครงการนี้เน้นขนส่งคนมากกว่าสินค้า โดยสินค้าที่จะสามารถขนส่งได้ ต้องเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงและน้ำหนักเบา เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจร ชิ้นส่วนรถยนต์ EV เป็นต้น โดยคาดว่าหากสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถร่นระยะเวลาลงมาได้ 3-4 วัน เหลือ 18-19 วัน
@คุณภาพวัสดุมาจากในประเทศ เหล็กดี
ส่วนข้อกังวลหลังจากเกิดเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ซึ่งมีการพบว่าใช้ผู้รับเหมาจีนนั้น อธิบดีกรมรางให้สัมภาษณ์ว่า ก็กังวลใจบ้าง แต่ยืนยันว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและจีนที่เริ่มสร้างกันมาตั้งแต่ปี 2560 ใช้วัสดุภายในประเทศในการก่อสร้างอยู่แล้ว โดยเหล็กก็มาจากโรงงานคุณภาพอย่าง บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด แม้จะไม่ใช่เหล็กไทย แต่ก็เอามาขึ้นรูปในประเทศไทยอยู่แล้ว และเหล็กที่เอามาใช้ทำโครงการรถไฟความเร็วสูงก็ต้องการเหล็กที่มีความเหนียวเป็นพิเศษ โดยจะต้องรอให้เย็นโดยธรรมชาติ ไม่ใช่พ่นน้ำใส่ให้เย็น ซึ่งกำหนดมานาน 8 ปีแล้ว เพราะถ้าใช้เหล็กที่พ่นน้ำ เหล็กมันจะแข็งข้างนอก แต่เนื้อในเปราะ
“เหล็กทุกเส้นมีการตรวจสอบ เมื่อลงจากรถบรรทุกจะมีการชักเอาเหล็กบางส่วนไปตรวจเสมอ ยิ่งกังวลใจก็มีการตรวจสอบที่เข้มข้นมากขึ้น” อธิบดีกรมกรมขนส่งทางรางกล่าว
@หวัง 3-4 ปี ถ้าแผนเดินเสร็จ ไทยแกร่งระบบราง
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ประเมินการเติบโตของการขนส่งสินค้าทางรางไว้อย่างไรบ้าง นายพิเชฐกล่าวว่า ทางการจีนให้ความสำคัญกับพื้นที่ตรงนี้มาก เพราะตรงนี้คือศูนย์กลางฝั่งตะวันตกของประเทศ ส่วนประเทศไทยเราก็อยู่ตรงกลางของทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลงใต้เราต่อกับสิงคโปร์ มาเลเซีย ไปทางตะวันออกก็เจอเวียดนาม กัมพูชา ด้านตะวันตกติดต่อกับประเทศเมียนมา ขึ้นไปทางเหนือก็เจอลาวไปจีน ลากไปถึงยุโรปได้แล้ว ถ้าอาศัยความได้เปรียบในภูมิภาค ทางรถไฟเชื่อมโลกจะเกิดขึ้นได้จริง
ขณะที่จุดอ่อนของไทยในด้านการขนส่งสินค้าก็ยังมีอยู่ นั่นคือการก่อสร้างรถไฟทางคู่ที่ยังติดปัญหาบางจุด เพราะปัจจุบันทางรถไฟเรายังสู้ประเทศมาเลเซียไม่ได้ และก็ประมาทเวียดนามและกัมพูชาไม่ได้ด้วย ดังนั้น ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านภูมิภาคแล้ว และถ้าหากโครงการต่า่งๆที่วางไว้ทยอยเสร็จตามแผน
…คาดว่าใน 3-4 ปีนี้ ระบบรางของประเทศไทยจะแข็งแกร่งขึ้นมาก
แม้จิ๊กซอว์โปรเจ็กต์ยักษ์ของจีนยังอยู่ระหว่างการเติมส่วนที่ขาดให้เต็ม โดยเฉพาะโครงการรถไฟของไทยที่ยังถึงก็ช่าง ไม่ถึงช่างตามสไตล์ไทยๆ
แต่ลำพังการผลักดันโครงการต่างๆให้ผ่านการอนุมัติ ครม. นำไปสู่การประมูล สร้าง และใช้งาน คงไม่พอ
เพราะการเชื่อมโลกที่ไทยแลนด์ต้องอาศัยการยืนบนบ่าพี่ใหญ่จีน ก็ต้องยกระดับหลายๆปัจจัยให้ทัดเทียมมาตรฐานโลกด้วย
…เพราะบทเรียนหลายๆอย่างที่ผ่านมาก็พอสะท้อนได้แล้วว่า ก่อนฝันไกลที่จะยืนบนบ่าพี่ใหญ่
ไทยควรต้องทำอะไรก่อน?
‘พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์’ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.)