"...ขอยืนยันว่าส่วนกลางไม่สามารถไปสั่งการอะไรได้ และผมคิดว่าโรงเรียนเองก็ไม่มีใครที่จะกล้ารับคำสั่งแล้วมาทำแบบนี้อย่างแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาผมย้ำตลอดว่าการใช้จ่ายงบประมาณของทุกโครงการจะต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้...”
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก!
กรณี เพจเฟซบุ๊ก ชมรม STRONGต้านทุจริตประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อมูล บริษัท ดิ อาร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้รับงานว่าจ้างโครงการหน่วยงานภาครัฐ ช่วงปี 2565-2568 ทั้งหมด 1,467 โครงการ วงเงินสัญญา 386,940,765.50 บาท เฉพาะโครงการปรับปรุงซ่อมแซมระบบไฟฟ้า โรงเรียนทั่วประเทศ ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ไม่เกินวงเงิน 5 แสนบาท รวมมูลค่า 200 กว่าล้านบาท แยกเป็นปี 2567 รวม 473 โครงการ รวม 183.52 ล้านบาท ปี 2568 รวม 178 โครงการ รวม 67.78 ล้านบาท
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบยืนยันข้อมูลพบว่า จากเว็บไซต์ภาษีไปไหน พบว่าบริษัท ดิ อาร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด เริ่มปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญาจ้างปรับปรุงซ่อมแซมระบบไฟฟ้าโรงเรียนทั่วประเทศ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ในช่วงปี 2566 , 2567 และ 2568 จำนวน 697 โครงการ รวมวงเงินกว่า 281.22 ล้านบาท (เท่าที่ตรวจสอบพบ) ขณะที่วงเงินว่าจ้างงานเกือบ 100% มูลค่างานไม่เกิน 500,000 บาท
เบื้องต้น ตัวแทน บริษัท ดิ อาร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ชี้แจงสำนักข่าวอิศราว่า บริษัทฯ ได้รับงานโครงการซ่อมระบบไฟฟ้าโรงเรียนของ สพฐ.จริง แต่ไม่ได้เป็นเจ้าเดียวที่ได้รับงาน ยังมีบริษัทอื่นได้รับงานด้วย ส่วนการเข้าไปรับงาน บริษัทให้ฝ่ายขายของบริษัทเข้าไปนำเสนอผลงานที่ติดตั้งระบบไฟฟ้า โดยทราบข้อมูลมาจากเว็บไซต์ของสพฐ. ที่ประกาศ ซึ่งทุกบริษัทก็ได้รับข้อมูลคล้าย ๆ กับบริษัทตนเอง เป็นขั้นตอนปกติของแต่ละบริษัทที่จะเข้ามานำเสนอผลงานตามโรงเรียน ขณะที่การจัดซื้อแบบเจาะจงนั้น สพฐ.ไม่ได้เจาะจงรายบริษัท เพราะการจัดซื้อจัดจ้างเป็นอำนาจของโรงเรียนที่ได้รับงบประมาณจาก สพฐ.
- ชมรม STRONGฯ ขุด สพฐ.ซอยงบถี่ยิบไม่เกิน 5 ส. จ้างบ.ซ่อมระบบไฟฟ้าร.ร.ทั่วปท. 2 ปี 251 ล.
- ดิ อาร์ทฯ แจงรับงานเจาะจงซ่อมไฟฟ้า ร.ร.สพฐ 251 ล.ทำตามขั้นตอนปกติ-เจ้าอื่นได้ด้วย
- ขุดชัดๆ 'ดิ อาร์ทฯ' รับงานเจาะจงซ่อมไฟฟ้า ร.ร.สพฐ ยอดพุ่ง 3 ปี 281 ล.- บ.ในเครือได้ด้วย
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าว สพฐ.ว่า โครงการปรับปรุงซ่อมแซมไฟฟ้าและประปา ของโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ดำเนินการมาหลายปีแล้ว ในลักษณะการจัดสรรงบประมาณให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน ทำเรื่องของบประมาณเข้ามา สพฐ.ก็จะมีการพิจารณาอนุมัติให้ตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ
อย่างไรก็ดี ในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมา มีการเร่งดำเนินการจัดสรรเงินมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปี 2567 ซึ่งอาจเป็นผลมาจากในช่วงเดือนเมษายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ออกมากล่าวอ้างถึงนโยบายของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ขับเคลื่อนนโยบายเรียนดีมีความสุข โดยเฉพาะการลดภาระครูและนักเรียนนั้น ขณะนี้การลดภาระครูมีการดำเนินการคืบหน้าไปมาก ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกครูเวร การได้งบประมาณมาจ้างนักการภารโรง การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา ยังระบุด้วยว่า โดยในส่วนเรื่องของนักเรียน สพฐ. ได้สำรวจความคิดเห็นของนักเรียนว่าต้องการให้มีการปรับปรุงเรื่องใดบ้างภายในโรงเรียน ซึ่งผลสำรวจส่วนใหญ่พบว่า นอกจากนักเรียนจะได้เรียนในห้องเรียนที่ดี มีบรรยากาศที่สร้างสรรค์กับครูผู้สอนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้เรียนต้องการมากที่สุดคือให้มีการปรับปรุงเรื่องของห้องน้ำ
ดังนั้น สพฐ. จึงรับเสียงสะท้อนเหล่านี้ของนักเรียนมาดำเนินการ พร้อมสำรวจสภาพห้องน้ำของโรงเรียนแต่ละแห่ง โดยเป็นนโยบายสุขาดีมีความสุข ซึ่ง สพฐ. จะจัดสรรงบประมาณปรับปรุงห้องน้ำโรงเรียนให้จำนวน 100 ล้านบาท ในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 9,700 แห่ง ที่มีนักเรียน 80 คน ลงมาก่อน
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา ยังย้ำด้วยว่า “ขณะนี้เราได้ส่งคณะทำงานลงไปสำรวจในโรงเรียนกลุ่มดังกล่าวแล้วพบ สภาพห้องน้ำชำรุดทรุดโทรม กลอนประตูชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ โดยงบที่จัดสรรให้จะให้โรงเรียนทาสีห้องน้ำ เปลี่ยนสุขภัณฑ์ รื้อระบบประปาใหม่ อีกทั้งจะไม่แบ่งแยกห้องน้ำครูหรือห้องน้ำนักเรียนแล้ว จากนี้ทุกอย่างต้องเท่าเทียม เด็กและครูสามารถใช้ห้องน้ำร่วมกันได้ โดยจะแบ่งแยกแค่เฉพาะห้องน้ำชายและหญิงเท่านั้น ส่วนโรงเรียนอื่นๆ ที่เป็นโรงเรียนขนาดกลางและใหญ่ ขอให้สำรวจสภาพห้องน้ำและจัดหางบอื่นๆ ในการปรับปรุงด้วยเช่นกัน"
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา ยังย้ำในขณะนั้นด้วยว่า สพฐ. จะปรับปรุงระบบไฟฟ้าโรงเรียนด้วย โดยจะจัดสรรงบประมาณในหมวดงบดำเนินงานปรับปรุงให้อีก 100 ล้านบาท เนื่องจากมีการสำรวจพบว่า การเกิดอัคคีภัยในสถานศึกษาส่วนใหญ่มาจากสาเหตุไฟฟ้าลัดวงจร เพราะระบบไฟของโรงเรียนมีการใช้งานมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ถือว่าหมดอายุการใช้งานแล้ว และจำเป็นต้องรื้อทำระบบไฟฟ้าใหม่ เพื่อความปลอดภัยของเด็กและบุคลากรในโรงเรียน นอกจากนี้จะออกแนวปฏิบัติเรื่องการปรับปรุงพัฒนาห้องเรียนและอาคารเรียน ซึ่งโรงเรียนจะต้องดำเนินการการปรับปรุงทุกอย่างให้แล้วเสร็จ ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 เดือน พ.ค.2567 ที่ผ่านมา และในวันที่ 23 เมษายน รมว.ศธ. จะประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เพื่อมอบนโยบายเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนใหม่ของปีการศึกษา 2567 ด้วย
@ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลพบว่า ในช่วงต้นปี 2567 สพฐ. ได้ทำหนังสือแจ้งหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติการเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ งบดำเนินงาน รายการค่าปรับปรุงซ่อมแซมระบบไฟฟ้า ประปา (ฉบับปรับปรุง) ไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ซึ่งมีการเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารหัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบ กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
- (คลิกดูหลักเกณฑ์ ปฏิบัติที่นี่ https://drive.google.com/drive/folders/1ouFSCWQShXoRNBpfxlrLycUlpRNqEthS)
ทั้งนี้ ภายหลังเกิดข่าว สพฐ.ซอยงบซ่อมไฟฟ้าโรงเรียน วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท และมีเอกชนบางรายได้รับงานไปจำนวนมากนั้น
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษจินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้หลายครั้ง แต่ไม่สามารถติดต่อได้ จึงทำให้ยังไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการฯ นี้ ในส่วนของ สพฐ. เป็นทางการ
แต่มีรายงานข่าวว่า หลังเกิดข่าว ว่าที่ร้อยตรีธนุ ได้มอบหมายให้นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. ตรวจสอบเรื่องนี้ พร้อมชี้แจงเบื้องต้นว่าโครงการซ่อมระบบไฟฟ้าโรงเรียนนั้น ทาง สพฐ.ได้จัดสรรงบประมาณตามคำขอของทางโรงเรียน มีวงเงินหลักหมื่นบาทสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก และวงเงินหลักแสนบาทสำหรับโรงเรียนขนาดกลาง และใหญ่ตามลำดับ ส่วนเรื่องการจัดจ้างดำเนินการโดยผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่เกี่ยวกับ สพฐ.
ด้าน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยได้สอบถามและให้ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษจินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นประเด็นที่สังคมจับตา ทั้งนี้จากการรับฟังข้อมูลจาก สพฐ.เบื้องต้นระบุว่า กระบวนการการจัดทำข้อกำหนดเงื่อนไขของงาน หรือ Terms of Reference (TOR) เป็นไปตามขอบเขตที่โรงเรียนดำเนินการได้ และมีบริษัทเข้าประกวดแข่งขันตามข้อกำหนดของระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง
“เท่าที่ผมรับฟังการายงานอาจมีกลุ่มบุคคลที่เสียประโยชน์ และเป็นการซอยงบประมาณให้ดูเหมือนใช้เงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าเอารายละเอียดมาดูจะพบว่า ไม่ได้มีบริษัทเดียวที่ได้รับงาน แต่เป็นการตัดซอยงบประมาณให้ดูเหมือนว่าบริษัทเอกชนรายดังกล่าวได้รับการว่าจ้างเยอะ ซึ่งกระบวนการจัดสรรงบประมาณซ่อมแซมปรับปรุงระบบไฟฟ้าของโรงเรียนจะมีการโอนงบจากส่วนกลางไปให้โรงเรียน และโรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเอง ดังนั้น ขอยืนยันว่าส่วนกลางไม่สามารถไปสั่งการอะไรได้ และผมคิดว่าโรงเรียนเองก็ไม่มีใครที่จะกล้ารับคำสั่งแล้วมาทำแบบนี้อย่างแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาผมย้ำตลอดว่าการใช้จ่ายงบประมาณของทุกโครงการจะต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว (อ้างอิงข่าวส่วนนี้จาก At HeaR )
แต่มีข้อสังเกตสำคัญจากคำชี้แจงของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ที่ระบุว่า ถ้าเอารายละเอียดมาดูจะพบว่า ไม่ได้มีบริษัทเดียวที่ได้รับงาน แต่เป็นการตัดซอยงบประมาณให้ดูเหมือนว่าบริษัทเอกชนรายดังกล่าวได้รับการว่าจ้างเยอะ
เพราะข้อเท็จจริงที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบไปแล้ว คือ
1. นับตั้งแต่ช่วงปี 2566-2568 บริษัท ดิ อาร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้รับงานจ้างปรับปรุงซ่อมแซมระบบไฟฟ้าโรงเรียนทั่วประเทศ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง รวมจำนวน 697 โครงการ รวมวงเงินกว่า 281.22 ล้านบาท (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงินว่าจ้างงานเกือบ 100% มูลค่างานไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งกรณีนี้ ถูกจับตามองว่า เป็นการซอยงบถี่ยิบไม่ให้เกิน 5 แสน เพื่อหลีกเลี่ยงใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ?
2. ในช่วงปี 2567 -2568 มีบริษัทเอกชนรายอื่น ได้งานด้วย ตามที่ บริษัท ดิ อาร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ชี้แจง แต่ส่วนใหญ่จะได้งานไม่เกินหลักสิบโครงการ วงเงินหลักล้านบาท (ตามข้อมูลที่ปรากฏในเว็บภาษีไปไหน)
3. ที่สำคัญ เมื่อตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก บริษัท ดิ อาร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท ทีเจซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท ตั้งใจ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นกลุ่มเอกชนที่มีความเกี่ยวข้องกัน ทั้งกรรมการ ผู้ถือหุ้น และที่ตั้งสาขาเดียวกันด้วย
ไม่แน่ใจว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะผู้มอบนโยบายเรื่องนี้ให้ สพฐ.ดำเนินการ ตามที่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาฯ กพฐ. กล่าวอ้าง ได้รับทราบข้อเท็จจริงเหล่านี้บ้างหรือไม่?
ถ้าทราบแล้ว ไม่มีข้อสงสัยอะไรบ้างเลยหรือ ว่าทำไม เอกชนกลุ่มนี้ ถึงได้รับงานจำนวนมากแบบที่เห็นและเป็นไปอยู่ในขณะนี้?
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป