ป.ป.ช.เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา 'ศุภรัตน์ มุสิกะ' อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีปากพนัง นครศรีธรรมราช -พวก รายงานข้อมูลนักเรียนห่างไกลพักนอนเป็นเท็จ ล่าสุด ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนโทษจำคุกคนละ 5 ปี รับสารภาพลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายศุภรัตน์ มุสิกะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีปากพนัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช กับพวก คือ นายวรงค์ บุญทอง และนางสุวรรณา จันทรโชตะ หรือ ทวีกาญจน์ รายงานข้อมูลนักเรียนห่างไกลพักนอนของโรงเรียนสตรีปากพนังเป็นเท็จ ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 151 , 157 , 162 (1), (4) และพ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบพ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 192 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564
ความคืบหน้าคดีล่าสุด เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนตามศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 ที่มีคำพิพากษาดังนี้
1. นายศุภรัตน์ มุสิกะ จำเลยที่ 1 นายวรงค์ บุญทอง จำเลยที่ 2 และนางสุวรรณา จันทรโชตะ หรือ ทวีกาญจน์ จำเลยที่ 3 มีความผิดตามกฏหมาย ลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 3 ราย คนละ 5 ปี
2. จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน
3. ให้ นายศุภรัตน์ มุสิกะ จำเลยที่ 1 และนางสุวรรณา จันทรโชตะ หรือ ทวีกาญจน์ จำเลยที่ 3 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 125,610 บาท ที่ยังไม่คืนแก่ผู้เสียหาย
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐเทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ