ป.ป.ช.เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา 'อำนาจ พิณสุวรรณ' อดีตนิติกรสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดสมุทรสาคร-พวก เรียกรับเงินจากนายประกันตอบแทนอำนวยความสะดวกรวดเร็วจัดทำคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา - ร่ำรวยผิดปกติ ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบภาค 7 พิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 5 ปี ไม่รอลงอาญา- จำเลยยันใช้สิทธิ์อุทธรณ์สู้คดีต่อ คดีวินัยศาลปกครองสูงสุด เพิกถอนคำสั่งให้ออกจากราชการไปแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายอำนาจ พิณสุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนิติกรชำนาญการส่วนบริการประชาชนและประชาสัมพันธ์สำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดสมุทรสาคร กับพวก คือ นายยสวัสร์ ทองดีสุธีรไกร เรียกรับเงินจากนายประกันอาชีพเพื่อเป็นค่าตอบแทนเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกและรวดเร็วในการจัดทำคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลย และร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 , 157 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 มีคำพิพากษาว่า นายอำนาจ พิณสุวรรณ จำเลยที่ 1 และ นายยสวัสร์ ทองดีสุธีรไกร จำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 149
ลงโทษจำคุกคนละ 5 ปี ไม่รอการลงโทษจำคุก
อย่างไรก็ดี คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งสอง มีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
เบื้องต้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษา
สำหรับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต
ต่อมา นายยสวัสร์ ทองดีสุธีรไกร ติดต่อมายังสำนักข่าวอิศรา เพื่อชี้แจงว่า ตามที่สำนักข่าวอิศราได้เสนอข่าวดังกล่าวนั้น เนื่องด้วยคดีนี้ตนและจำเลยอีกรายได้ถูกร้องเรียนทั้งคดีวินัยและคดีอาญา ซึ่งคดีวินัยและคดีอาญาเป็นมูลเหตุในการร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติการณ์ โดยบุคคลที่ร้องเรียน คือ นายประกันอาชีพกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ ซึ่งในคดีวินัยนั้นศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งให้ตนและจำเลยอีกรายออกจากราชการ ส่วนคดีอาญาได้ต่อสู้แสดงความบริสุทธิ์และจะใช้สิทธิ์เพื่อจะให้ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาได้พิจารณาให้ความเป็นธรรมต่อไป