"...การใช้งบประมาณแจกเงินหมื่นเฟส 1 อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสอง ซึ่งเป็นคนละกรณีกับที่คณะบุคคล 4-5 คน ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่องการแปรญัตติตัดทอนรายจ่ายเพื่อส่งใช้ต้นเงินกู้และดอกเบี้ย จำนวน 35,000 ล้านบาท เพื่อนำงบประมาณปี 2568 ไปใช้ในการแจกเงินหมื่นตั้งแต่ เฟส 2 เป็นต้นไป ซึ่งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคหนึ่ง โดยเป็นการกระทำคนละกรณีกัน..."
โครงการแจกเงินหมื่น 5 แสนล้านบาท ที่แจกไปแล้ว 2 เฟส ให้กับกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นเงินเกือบ 2 แสนล้านบาท
จะเดินต่อหรือพอแค่นี้
เพราะเฟส 3 ที่จะแจกให้กับกลุ่มวัยรุ่นอีก 2.7 หมื่นล้านบาท ได้ถูกชะลอนำเสนอเข้า ครม.ส่อแววว่าอาจหยุดลงแค่ 2 เฟส เนื่องจากรัฐบาลมีปัญหาอย่างมากในการหางบประมาณที่ถูกต้องมาใช้ดำเนินการตั้งแต่เฟส 1 ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูกรอบงบประมาณของ เฟส 1 ที่ตั้งไว้สูงถึง 1.45 แสนล้านบาท เพื่อแจกให้กับกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการกว่า 14.5 ล้านคน เป็นการดึงเอางบลงทุนจาก พรบ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวน 122,000 ล้านบาท มาใช้แจก ซึ่งประชาชนที่รับแจกสามารถนำไปใช้จ่ายได้อย่างอิสระ โดยไม่มีระบบควบคุมให้นำเงินไปใช้ลงทุนหรือซื้อสินค้าทุน ล่อแหลมที่จะถือว่าแปลงเอางบลงทุนใน พรบ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมที่ผ่านการเห็นชอบจากทั้ง 2 สภามาแล้ว ไปใช้ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งทำให้ ครม.ส่วนหนึ่งที่เป็น สส.หรือสมาชิกของพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนกว่า 10 ล้านคน เป็นประโยชน์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป อันอาจถือว่ามีการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้ตนเองมีส่วนได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากการใช้งบประมาณจำนวนนี้
ภาพ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร จาก www.innnews.co.th
ย้อนกลับไปดูการประชุมนัดแรกของ ครม. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2567 ได้มีมติอนุมัติเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 23,552.40 ล้านบาท เพื่อสมทบกับเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท รวมเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 145,552.40 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านการแจกเงินให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางคนละ 10,000 บาท ซึ่งการตรา พรบ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม มีคำแถลงประกอบงบประมาณของนายกรัฐมนตรีคนก่อนต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอความเห็นชอบว่า จะใช้งบประมาณเพิ่มเติม 122,000 ล้านบาท เป็นรายจ่ายลงทุน ร้อยละ 80
ครม.นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนก่อน ได้นำเสนอร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเพื่อขอความเห็นชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2567 โดยเอกสารและคำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมที่นายเศรษฐาแถลงด้วยวาจาในที่ประชุมสภามีสาระสำคัญว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวน 122,000 ล้านบาท มีที่มาจากรายได้ของรัฐบาลจากการจัดเก็บภาษี 10,000 ล้านบาท และจากเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก 112,000 ล้านบาท
โดยนายเศรษฐาได้เน้นให้สภาเห็นว่า งบประมาณส่วนใหญ่จะนำไปใช้เป็นรายจ่ายลงทุนซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้งบประมาณเพิ่มเติมจะมีที่มาจากเงินกู้เป็นส่วนใหญ่ก็ตาม โดยกล่าวว่า เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิมแม้จะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเป็นรายจ่ายลงทุน 97,600 ล้านบาท หรือร้อยละ 80 ซึ่งทำให้รายจ่ายลงทุนของงบประมาณปี 2567 ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากรายจ่ายลงทุนของปี 2566 ร้อยละ 17.1
ดังนั้น เมื่อมีการใช้งบประมาณส่วนที่เพิ่มเติมจริง จะต้องนำไปใช้เพื่อการลงทุนร้อยละ 80 หรือ 97,600 ล้านบาท
ต่อมาเมื่อนางสาวแพทองธารเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากนายเศรษฐา ในเดือน ก.ย.2567 ครม.นางสาวแพทองธาร ได้อนุมัติให้นำงบประมาณเพิ่มเติมทั้งจำนวน 122,000 ล้านบาท ไปใช้เป็นแหล่งเงินหลักในการแจกเงินให้กับประชาชนแบบให้เปล่าคนละ 10,000 บาท ตามโครงการแจกเงินดิจิทัล เฟส 1 โดยแจกให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ที่ส่วนหนึ่งเป็นผู้มีฐานะยากจนทั่ว ๆ ไป และอีกส่วนหนึ่งเป็นทั้งผู้มีฐานะยากจนและมีสภาพร่างกายไม่สมประกอบ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อการบริโภคที่ยังขาดแคลนอยู่ มากกว่าจะนำเงินที่ได้รับแจกไปใช้เพื่อการลงทุน โดยไม่มีเหตุผลที่จะนำเงินไปใช้ซื้อสินค้าทุนถึงร้อยละ 80 ตามการจำแนกการใช้งบประมาณที่รัฐบาลได้แถลงต่อสภาเพื่อตรา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
การอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินงบประมาณเพิ่มเติมของ ครม.นางสาวแพทองธาร ซึ่งไม่ได้นำไปใช้ตามคำแถลงงบประมาณต่อสภา มีลักษณะเช่นเดียวกับกรณี สส. สว.หรือคณะกรรมาธิการ แปรญัตติ หรือกระทำการด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้ตนเองมีส่วนรวมไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณ ที่จะกระทำมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสอง และได้ห้ามไม่ให้ ครม.กระทำในลักษณะดังกล่าวด้วยเช่นกันตามวรรคสาม การที่รัฐธรรมนูญห้าม ครม ไม่ให้กระทำ
ทั้งที่ ครม.ไม่ได้มีหน้าที่แปรญัตติ จึงหมายความว่า หาก ครม. แม้ไม่ได้ทำหน้าที่แปรญัตติ แต่ได้กระทำการด้วยประการใด ๆ ที่ทำให้ ครม.มีส่วนร่วมไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณ ก็จะกระทำไม่ได้เช่นกัน โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 เป็นบทบัญญัติที่มีความเข้มงวดอย่างยิ่งเพื่อควบคุมการใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญถึงขั้นกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้ ครม.ที่กระทำการดังกล่าว พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตซึ่งจะกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ไม่ได้อีกต่อไป และยังต้องชดใช้เงินคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอีกด้วย
การที่ ครม.นางสาวแพทองธาร อนุมัติให้นำเงินจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมไปใช้ แม้ว่าจะเป็นการใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตามหลักการและเหตุผลในการขอความเห็นชอบจากสภาก็ตาม แต่ก็จะต้องเป็นไปตามคำแถลงประกอบงบประมาณที่นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีคนก่อน ที่ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วย คือการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการใช้งบประมาณผ่านรายจ่ายลงทุนร้อยละ 80 หรือ 97,600 ล้านบาท ซึ่งเมื่อนำไปใช้จริงจะต้องเห็นได้ชัดเจนว่า งบประมาณ จำนวน 97,600 ล้านบาท ถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อการลงทุน
กรณีนำไปแจกแบบให้เปล่าแก่ประชาชนผ่านโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ครม.จะต้องกำหนดวิธีการควบคุมให้ประชาชนที่ได้รับแจกเงิน นำเงินที่ได้รับแจกไปใช้ซื้อสินค้าทุนให้ครบจำนวน 97,600 ล้านบาท ตามคำแถลงงบประมาณของนายเศรษฐา โดยในขณะนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ ครม.นายเศรษฐา จะเป็นการเติมเงิน 10,000 บาท เข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลให้กับประชาชนทั่วไป ที่ไม่ใช่เป็นผู้มีฐานะยากจนหรือคนพิการ โดยกระเป๋าเงินดิจิทัลจะมีระบบที่สามารถควบคุมการใช้จ่ายเงินของประชาชนได้อย่างเข้มงวด ทำให้ทั้งสองสภาเชื่อว่างบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 122,000 ล้านบาท จะสามารถควบคุมให้นำไปใช้เพื่อการลงทุนร้อยละ 80 ได้จริง ซึ่งจะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล จึงได้ให้ความเห็นชอบในการตรา พรบ.งบประมาณเพิ่มเติม
แต่เมื่อ ครม.นางสาวแพทองธารดำเนินนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 1 โดยใช้เงินจากงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 122,000 บาท กลับไม่ได้แจกเงินให้กับประชาชนทั่วไป แต่นำไปแจกให้กับผู้ยากไร้และคนพิการที่มีโอกาสน้อยมากที่จะนำเงินไปใช้ซื้อสินค้าทุน ประการสำคัญคือไม่ใช่เป็นการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลซึ่งมีระบบควบคุมให้ประชาชนนำเงินไปใช้ซื้อสินค้าทุน แต่เป็นการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของประชาชนโดยตรง ซึ่งประชาชนสามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้อย่างอิสระ โดยรัฐบาลไม่ได้ควบคุมการใช้จ่ายเงินของประชาชนแต่ประการใด การอนุมัติให้ใช้งบประมาณ และการเห็นชอบวิธีการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 1 ของ ครม.นางสาวแพทองธาร จึงทำให้การใช้เงินงบประมาณ ตาม พรบ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท ไม่เป็นไปตามที่สภาให้ความเห็นชอบในการตรา พรบ.งบประมาณเพิ่มเติม ที่มีคำแถลงงบประมาณของนายกรัฐมนตรีคนก่อนประกอบการพิจารณา
การกระทำของ ครม.นางสาวแพทองธารเช่นนี้ ย่อมทำให้ ครม.มีส่วนได้รับประโยชน์โดยทางอ้อม จากการใช้งบประมาณจำนวนสูงถึง 122,000 ล้านบาท
เนื่องจากเป็นการนำเอาเงินที่มาจากการเก็บภาษีประชาชน และจากเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่เป็นหนี้สาธารณะซึ่งประชาชนทุกคนต้องรับผิดชอบ ไปใช้เพื่อทำให้รัฐมนตรีใน ครม.ซึ่งเป็น สส.หรือสมาชิกพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 12.2 ล้านคน ซึ่งเป็นฐานคะแนนที่สำคัญในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จากการที่ประชาชนกลุ่มนี้ได้รับแจกเงินแบบให้เปล่าคนละ 10,000 บาท และสามารถนำไปใช้จ่ายได้อย่างอิสระโดยไม่มีการควบคุมจากรัฐบาล ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้จะนำเงินไปใช้เพื่อการบริโภคเป็นหลัก โดยไม่นำไปลงทุนหรือซื้อสินค้าทุนซึ่งกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า ทำให้เงินงบประมาณ 122,000 ล้านบาท มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นดังที่ปรากฏให้เห็นในเวลาต่อมา จึงเป็นประโยชน์ให้กับรัฐมนตรีซึ่งเป็น สส.หรือสมาชิกพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล มากกว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยทำให้ได้ความนิยมจากประชาชนจำนวนมากถึง 12.2 ล้านคน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
บทวิเคราะห์งบประมาณ ของสำนักงบประมาณของรัฐสภา (สงร.) ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแม้เป็นหน่วยงานของรัฐก็ยังมีความเห็นว่าคำแถลงงบประมาณของนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งจะเป็นการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลให้กับประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ยากไร้ ก็ยังอาจเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ โดยได้สรุปบทวิเคราะห์ไว้ว่า งบประมาณเพิ่มเติมที่จะนำไปใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิตอลวอลเล็ต ซึ่งรัฐบาลได้จำแนกเป็นรายจ่ายลงทุนไว้ถึงร้อยละ 80 โดยผู้ได้รับเงิน 10,000 บาท จำนวน 12.2 ล้านคน จะมีการนำเงินไปลงทุนต่อ มากถึง 9.76 ล้านคน ที่คิดเป็นร้อยละ 80 เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงและอาจเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
การใช้งบประมาณแจกเงินหมื่นเฟส 1 อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสอง ซึ่งเป็นคนละกรณีกับที่คณะบุคคล 4-5 คน ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่องการแปรญัตติตัดทอนรายจ่ายเพื่อส่งใช้ต้นเงินกู้และดอกเบี้ย จำนวน 35,000 ล้านบาท เพื่อนำงบประมาณปี 2568 ไปใช้ในการแจกเงินหมื่นตั้งแต่ เฟส 2 เป็นต้นไป ซึ่งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคหนึ่ง โดยเป็นการกระทำคนละกรณีกัน
การแจกเงินหมื่นของรัฐบาลนายกแพทองธารที่ผ่านมา จึงอาจขัดรัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 เฟส น่าจะเป็นเหตุให้หยุดลงเพียงแค่ 2 เฟส ที่แจกไปแล้ว.....โดยไม่แจกอีกต่อไป