การพูดแนว “จุดพลุ” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่เล่าว่าตนเองเคยแอบคิดว่า ปลายทางของการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ “เขตปกครองพิเศษ” ในโมเดล “มณฑลซินเจียง” ของสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือไม่นั้น
เรื่องนี้ได้กลายเป็นประเด็นอ่อนไหว และถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่เกาะติดปัญหาชายแดนภาคใต้จากทุกภาคส่วน
อ่านประกอบ : “ทวี” จุดพลุชายแดนใต้ “ปกครองพิเศษ”
สาเหตุเพราะ พ.ต.อ.ทวี มีสถานะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คำพูดของเจ้าตัว จึงเป็นเหมือนท่าทีจากตัวแทนรัฐบาลไทย
นอกจากนั้น พ.ต.อ.ทวี ยังเป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติ พรรคการเมืองซึ่งมีฐานะเสียงสำคัญอยู่ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มี สส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์มากที่สุดในการเลือกตั้ง 2 ครั้งหลังสุด การพูดของ พ.ต.อ.ทวี ในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง นจึงมีนัยเหมือนพูดแทนคนพื้นที่จำนวนหนึ่งด้วยหรือไม่
ที่สำคัญ โมเดลการปกครองที่มลฑลซินเจียง ถูกตั้งคำถามว่า ทำให้คนท้องถิ่นซึ่งนับถือศาสนาอิสลามมีความสุขจริงหรือไม่ การปกครองตนเองที่อ้างถึงนั้น ใช่ของจริงหรือเปล่า เพราะมีการศึกษาดูงาน และงานวิจัยมากมายที่เห็นต่างจากสิ่งที่ พ.ต.อ.ทวี พูด
“ทีมข่าวอิศรา” ลงพื้นที่ตรวจสอบความเห็นของคนในพื้นที่และบุคคลที่เกาะติดปัญหาไฟใต้ในหลากหลายมิติ
@@ อย่าคิดเองเออเอง แนะรับฟังทุกเสียงใน จชต.
นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ นักวิชาการอิสระจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอดีตประธานสภาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้คนแรก ให้ความเห็นว่า ความเห็นของ พ.ต.อ.ทวี เป็นการคิดเอง เออเอง ซึ่งไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
อาจารย์ประสิทธิ์ แนะว่า ในฐานะตัวแทนรัฐบาลและเป็นพรรคการเมืองที่มีบทบาทในพื้นที่ ควรเปิดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชน และกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ต่อสู้กับคฐไทยจะดีกว่า
“ประเด็นนี้ควรเข้าให้ถึงและถามองค์กรนำ (ภาพองค์กรนำ : คณะผู้นำสูงสุด) ของ BRN ไปเลยว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรจะจัดการปกครองอย่างไร จึงจะเป็นที่พอใจของกลุ่มที่ต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐบาลในปัจจุบัน”
“ทางออกของเรื่องนี้ รัฐบาลควรจะเปิดใจให้กว้าง แล้วตั้งคณะทำงาน ร่วมระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่าย BRN แล้วร่วมกันหาทางออก ยกร่างรูปแบบการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ร่วมกัน แล้วจัดเวทีรับฟังความเห็น โดยการเปิดให้กว้าง รับฟังประชาชนอย่างหลากหลาย จัดหลายๆ เวที เพื่อนำมาเป็นประเด็นการแก้ไขร่างรูปแบบการปกครองให้สมบูรณ์ แล้วนำเสนอต่อรัฐบาล” อาจารย์ประสิทธิ์ ระบุ
@@ ให้น้ำหนัก “คนใน”ก่อนฟัง “คนนอกประเทศ”
ด้านอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รายหนึ่ง ให้ความเห็นคล้ายๆ กันว่า เรื่องรูปแบบการปกครองหรือการบริหารจัดการพื้นที่ ผ่านการพูดคุยเจรจา ควรให้น้ำหนักกับคนในพิ้นที่ก่อน ถามคนในพื้นที่ให้ชัดว่าต้องการอะไร ต้องการแบบไหน ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลบวกมากกว่าไปคุยกับคนนอกประเทศ หรือไปคุยกันนอกประเทศ
“มั่นใจว่าคนที่อยู่ข้างในคือคนที่จะสามารถบอกได้ว่าเขาต้องการอะไร เพราะเขาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ทุกวัน เขารู้ตัวเองว่าต้องการให้มีการปกครองแบบไหน เพราะเขารู้ดีกว่าคนนอกประเทศอยู่แล้ว”
@@ ทหารระดับปฏิบัติการไม่ติดใจปม “ปกครองพิเศษ”
เจ้าหน้าที่ทหารระดับปฏิบัติการในพื้นที่รายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ให้ความเห็นว่า ตนไม่ติดเรื่องการพูดคุยเกี่ยวกับรูปแบบการปกครอง เพราะเรื่องนี้ควรเป็นแบบไหนก็ได้ที่ชาวบ้านอยากได้
“ส่วนตัวชื่นชมท่านทวีที่กล้าพูดแบบชัดเจน เพื่อเป็นการชี้เป้าให้คนพื้นที่ได้เลือก เพราะเอาจริงๆ สุดท้ายไม่ว่าจะปกครองพิเศษแบบไหน คนพื้นที่ต้องกำหนดรูปแบบ ไม่ได้มาจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ท่านแค่ชี้แนะและนำประสบการณ์ที่ได้ไปมณฑลซินเจียงมาเล่าให้คนพื้นที่ได้เห็น ได้เข้าใจ เพราะความเป็นมุสลิมด้วยกัน”
@@ ชาวบันนังสตาหนุน “ทวี” คนกล้า พูดในฐานะรัฐบาล
ฟังเสียงจากชาวบ้านแท้ๆ บ้าง มูฮัมหมัด สาและ ชาวบันนังสตา จ.ยะลา บอกว่า เป็นความคิดเห็นที่ควรรับฟังเพื่อนำมาเป็นแบบอย่าง เพราะรูปแบบการปกครองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรนำตัวอย่างจากหลากหลายมิติ ไม่ใช่แค่เฉพาะแบบอาเจะห์ (อินโดนีเซีย) มินดาเนา (ฟิลิปปินส์) หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง
“ความเห็นของท่านทวี ก็เป็นอีกความเห็นที่รับฟังได้ ที่สำคัญท่านคือรัฐบาล กล้านำเสนอประเด็นนี้ให้คนพื้นที่ได้รับฟัง และท่านก็ได้เดินทางไปรับฟัง ไปพื้นที่จริง (มณฑลซินเจียง) ขณะที่หลายคนไม่เคยไปจริง แต่กลับใช้ความรู้สึกมานำเสนอ”
“ปัญหาสามจังหวัดที่มันเละ เพราะคนเก่งเยอะ คนทำไม่มี แค่เพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ติดกัน บางคนยังนิ่งเฉย แล้วมาเสนอนั่นนี่เพื่อให้คนส่วนใหญ่รับฟัง ทั้งที่จริงแล้วทุกความเห็นเราก็ควรฟัง ทุกคนก็บอกอยู่ต้องฟังความเห็นหลายๆ ส่วน ความเห็นของท่านทวีก็เป็นอีกมิติ แถมยังเป็นคนของรัฐบาลด้วยที่กล้าเสนอรูปแบบนี้ ก็ไม่ผิด และไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย”
@@ หวั่น “ทวี” เสนอจะถูกค้าน แนะ “ธนาธร” ช่วยขยับ
ยังมีการแสดงความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์จากผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายคน
อย่างเช่น เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “Loy Chunpongtong” หรือ อาจารย์ลอย ชุนพงษ์ทอง นักคณิตศาสตร์ ซึ่งมีบทบาทในการตรวจสและวิจารณ์เรื่องสำคัญๆ หลายเรื่องของเมืองไทย รวมถึง “โพยฮั้ว สว.” โพสต์ข้อความสนับสนุน พ.ต.อ.ทวี
“ผมเห็นด้วยนะ เป็นเขตปกครองพิเศษ กระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นให้มาก เคารพสิทธิเสรีภาพชาวมุสลิมที่แตกต่าง ทำให้ขอบเขตการบริหารการศึกษา ศธ.เล็กลง ให้ว่องไวเหมือนประเทศเล็ก ภายใต้ธรรมนูญเดียวกัน กลาโหมอันเดียวกัน และนำเศรษฐกิจท้องถิ่นดีแน่นอน แต่สังคมไทยแบ่งขั้วกันจน ไม่ฟังเหตุผล เรื่องนี้ถ้าธนาธรหรือพรรคเป็นธรรมเสนอ ด้อมส้มจะไม่คัดค้านเลย”
“สังคมไทยแบ่งขั้วจนผู้ติดตามผมบอก ถ้ามาจากปาก ธนาธร จะดีมาก มาจากทวีจะไม่ผ่าน ทั้งๆ ที่ไอเดียการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้บริหารจัดการ รับผิดชอบงบ ภาษี เหมือนกัน ขึ้นกับหลุดออกมาจากปากใคร”
@@ “กัณวีร” มาแล้ว! ตอก “ทวี” เข้าใจผิดสิ้นเชิง เตือนศึกษาให้ดีก่อนพูด
ฝ่ายการเมืองที่เกิดติดปัญหาภาคใต้ได้ออกมาแสดงความเห็นด้วยเช่นกัน
นายกัณวีร์ สืบแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นการเพิกเฉยต่อความละเอียดอ่อนของบริบทในพื้นที่ และอาจสะท้อนถึงทัศนคติที่ไม่เข้าใจในสิทธิขั้นพื้นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตปกครองพิเศษ เช่น ซินเจียง ซึ่งมีประวัติด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการกลืนกลายทางวัฒนธรรม
“คิดได้ยังไง? หากไม่รู้ความละเอียดอ่อนของการถูกกดทับ ก็ควรศึกษาให้ดีก่อนพูด หรืออย่าพูดเลยจะดีกว่า”
นายกัณวีร์ ตั้งข้อสังเกตอีกว่า การผลักดันผู้ลี้ภัยอุยกูร์กลับจีนในช่วงที่ผ่านมา อาจสะท้อนแนวคิดเดียวกันที่มองว่าเป็นแนวทาง “ยั่งยืน” ทั้งที่ละเลยหลักสิทธิมนุษยชน การนำโมเดล “ซินเจียง” มาใช้กับพื้นที่ชายแดนใต้ ไม่เพียงแต่เป็นอันตราย แต่ยังสะท้อนการเข้าใจผิดอย่างรุนแรง เพราะไทยคือรัฐประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบรวมศูนย์แบบคอมมิวนิสต์จีน
พร้อมเรียกร้องให้ “หยุดการกลืนกินอัตลักษณ์ และกดทับความเป็นมนุษย์ที่มีความหลากหลายเสียที ความเข้าใจในบริบทพื้นที่และการยอมรับความแตกต่างเท่านั้นที่จะสร้างเอกภาพอย่างแท้จริง”
@@ ให้ประชาชนกำหนดอนาคตตัวเอง ไม่ใช่รัฐเป็นผู้เสนอ
นอกจากนี้ นายกัณวีร์ ยังระบุอีกด้วยว่า การจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ หรือการกระจายอำนาจ ควรเป็นผลจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ไม่ใช่ข้อเสนอจากผู้มีอำนาจฝ่ายเดียว โดยเฉพาะในพื้นที่ละเอียดอ่อนอย่างสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ควรให้ชาวบ้านเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเอง
“ถึงเวลาที่คนรุ่นเก่าๆ ต้องถอยออกจากเวทีแก้ไขปัญหาประเทศเสียที เพื่อให้เกิดพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” เขาระบุทิ้งท้าย