‘ศาลอาญาคดีทุจริตฯ’ นัดฟังคำพิพากษาคดี ‘ไตรรัตน์’ ฟ้อง ‘4 กสทช.’ ลงมติปลดพ้นเก้าอี้ ‘รักษาการเลขาฯ’ โดยมิชอบ 8 เม.ย.นี้
.......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในวันที่ 8 เม.ย.นี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อท 155/2566 ซึ่งเป็นคดีที่นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (โจทก์) ยื่นฟ้อง พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 1)
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 2) , รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 3) ,รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 4) และ ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. (จำเลยที่ 5) ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172
สำหรับคดีนี้โจทก์ (นายไตรรัตน์) ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2566 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีคำสั่ง กสทช. (ลับ) ที่ 7/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
โดยอนุกรรมการที่ได้รับแต่งตั้ง เป็นบุคคลที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้เสนอให้เข้ามาทำหน้าที่ในคณะอนุกรรมการเองทั้งสิ้น อันอาจมีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และมติที่ประชุม กสทช. รวมทั้งข้อเสนอของ กกท. ที่ได้ยื่นการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ตลอดจนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2566 คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง จัดทำรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง (ลับ) โดยคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว ได้ประชุมพิจารณา และมีความเห็นในการประชุมคณะอนุกรรมการ ครั้งที่ 6/2566 ด้วยคะแนนเสียงส่วนมาก 4 เสียง มีความเห็นว่า
กรณีการดำเนินการสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย อาจมีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และมติที่ประชุม กสทช.รวมทั้งข้อเสนอของ กกท. ที่ได้ยื่นการขอรับการสนับสนุนจาก กองทุน กทปส. ตลอดจนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่ได้ทำกับสำนักงาน กสทช.
ส่วนอนุกรรมการอีก 2 เสียง ไม่ลงความเห็น ความเห็นของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นแต่เพียงความเห็นลอยๆ ว่า อาจมีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และมติที่ ประชุม กสทช. รวมทั้งข้อเสนอของ กกท. ที่ได้ยื่นการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) เท่านั้น
ต่อมาในวันประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 วันศุกร์ที่ 9 มิ.ย.2566 ระเบียบวาระที่ 5.22 : รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด รายการแข่งขัน ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายนั้น ที่ประชุมได้มีมติ ดังนี้
1.รับทราบรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุน ค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
2.ที่ประชุมมีการพิจารณาข้อเสนอตามรายงานฯ ข้อ 1 ที่เสนอว่า การดำเนินการของ การกระทำของ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล (โจทก์) รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย อาจมีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และมติที่ประชุม กสทช. รวมทั้งข้อเสนอของ กกท. ที่ได้ยื่นขอรับการสนับสนุนจากกองทุน กทปส. ตลอดจน บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่ได้ทำไว้กับสำนักงาน กสทช.
โดยจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ลงมติเสียงข้างมากให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ และลงมติให้มีการเปลี่ยนตัวรองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. (หมายถึงโจทก์) จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น
การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่พิจารณาลงมติระเบียบวาระที่ 5.22 เป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ.2555 ข้อ 21 และข้อ 29 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ในฐานะ กสทช. จึงไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการลงมติให้ประธานกรรมการหรือสำนักงาน กสทช. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ได้สมคบกันเพื่อใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะกรรมการ กสทช. โดยวางแผนการและแบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อให้ที่ประชุม กสทช. ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 วาระที่ 5.22 มีมติปลดโจทก์ (นายไตรรัตน์) ออกจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อเอื้อประโยชน์ มีมติปลดโจทก์ออกจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อเอื้อประโยชน์ให้จำเลยที่ 5
และแม้ว่าต่อมาที่ประชุม กสทช. จะได้มีการพิจารณาทบทวนมติดังกล่าว และมีการลงมติใหม่อีกครั้งให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2565 แต่ด้วยเจตนาทุจริตจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ก็ยืนยันเสนอและลงมติไม่เห็นชอบให้โจทก์ดำรงตำแหน่งรักษาการ เลขาธิการ กสทช. จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น ทั้งนี้ เพื่อเปิดทางให้จำเลยที่ 5 มาดำรงตำแหน่งแทนโจทก์
อีกทั้งการที่จำเลยที่ 5 มีคำสั่งแต่งตั้งให้ศาสตราจารย์ ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมาเป็นประธานกรรมการสอบสวน ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องมีการติดต่อประสานกับบุคคลนั้นก่อนว่า ยินดีจะรับเป็นประธานกรรมการสอบสวนหรือไม่ และต้องตรวจสอบว่าบุคคลดังกล่าวมีคุณสมบัติตามประกาศฯ ข้อ 3 หรือไม่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร แต่จำเลยที่ 5 ซึ่งเพิ่งได้รับหนังสือจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เพียงวันเดียว กลับสามารถออกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนลงวันที่ 16 มิ.ย.2566 ได้ทันที แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 5 รับรู้ล่วงหน้าและสมคบกับจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4
การกระทำของจำเลยทั้งห้า ทำให้โจทก์หมดโอกาสในการเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน และทำให้โจทก์ได้รับผลกระทบต่อการพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ซึ่งจะมีขึ้นในภายภาคหน้าต่อไปด้วย
นอกจากนี้ ภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 ได้ร่วมกันลงมติตามระเบียบวาระ 5.22 ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566 และจำเลยที่ 5 ได้จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์แล้ว ปรากฏว่าสื่อมวลชนได้มีการนาเสนอและเผยแพร่ข่าวที่ กสทช. มีมติปลดโจทก์ และให้โจทก์หยุดปฏิบัติหน้าที่ผ่านทางสื่อหลายสำนักหลายช่องทาง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงจากการนำเสนอข่าวดังกล่าว ทั้งชื่อเสียง รวมถึงเสียโอกาสในหน้าที่การงาน
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับคดีนี้ (คดีหมายเลขดำที่ อท.155/2566) มีองค์คณะผู้พิพากษาชุดเดียวกับองค์คณะฯ ที่เคยพิพากษาในคดีหมายเลข ดำที่ อท.147/2566 ซึ่งเป็นคดีที่ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด (โจทก์) ฟ้อง ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. เป็นจำเลย ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
กรณีสั่งการให้รักษาการรองเลขาธิการ กสทช.ในขณะนั้น ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จำนวน 127 ราย โดยมีข้อความว่า โจทก์ (บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด) เป็นผู้ประกอบกิจการที่ยังไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทั้งที่ขณะนั้นยังไม่ต้องมีการขอใบอนุญาต อีกทั้งมีการกล่าวถ้อยคำในที่ประชุมที่เป็นเหตุ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ได้รับความเสียหาย โดยคดีนี้ ศาลฯพิพากษาว่าจำเลย (ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต) กระทำความผิด มีโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
นอกจากนี้ ผู้พิพากษา 1 ราย ในองค์คณะฯชุดนี้ (คดีหมายเลขดำที่ อท.155/2566) เป็นองค์คณะผู้พิพากษาในคดีหมายเลข ดำที่ อท 199/2565 ซึ่งเป็นคดีที่ น.ส.ธนิกานต์ บำรุงศรี (โจทก์) ยื่นฟ้อง ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบ ชัยพฤกษ์ ,นายต่อพงศ์ เสลานนท์, พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, น.ส.พิรงรอง รามสูต และนายศุภัช ศุภชลาศัย (จำเลยที่ 1-5) ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ (ป.อ.157) กรณีที่ประชุม กสทช. เสียงข้างมากมีมติรับทราบการควบรวมระหว่างบริษัททรู และดีแทค โดยไม่ใช้อำนาจของ กสทช. ตามประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวกับการป้องกันการผูกขาด
โดยคดีดังกล่าว ศาลฯพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้ากระทำผิดตามฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบกับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องต่อไป
อ่านประกอบ :
- 'พิรงรอง เอฟเฟกต์': สะท้อนปัญหาวงการสื่อ: เสรีภาพ ทุนผูกขาด และอนาคต กสทช.
- สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ : อะไรคือผลกระทบระยะยาว จากคดีพิรงรอง ?
- ชำแหละคดี 'ทรูไอดี' ฟ้อง กสทช. 'พิรงรอง' โทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เหมาะสมหรือไม่?
- พิรงรอง รามสูต: ทีวีไทยต้องไปต่อ ทำหน้าที่เป็นกลาง เชื่อถือได้-เชื่อมโยงสังคม
- วิเคราะห์คำพิพากษาคดี ‘พิรงรอง’ ใช้เหตุผล-ตรรกะขัดแย้งกันเอง?
- ‘สำนักงาน กสทช.’แถลงการณ์ปกป้องสิทธิฯ‘พนง.’ถูกอ้าง‘ชื่อ-รูปถ่าย’โดยมิชอบ โยงคดี‘พิรงรอง’
- ‘ภาคปชช.’ชี้คดี‘พิรงรอง’สะเทือนกระบวนการ‘ยุติธรรม’-จับตา‘กสทช.’ส่อถูก‘กลุ่มทุน’แทรกแซง
- 'พิรงรอง Effect' : กฎหมาย กสทช.ล้าหลัง ไม่ตอบโจทย์-ไร้อำนาจคุม OTT
- วารสารฯ มธ.-นิเทศฯ ม.อ.ปัตตานี แถลงการณ์ ‘พิรงรอง’ การพิทักษ์ผลประโยชน์สาธารณะคือสิ่งสำคัญ
- วงเสวนานิเทศจุฬาฯชี้ 'พิรงรอง Effect' กระทบการกำกับดูแลในอนาคต เหตุ จนท.เสี่ยงถูกฟ้อง
- นิเทศจุฬาฯ โชว์จุดยืนสนับสนุน 'พิรงรอง' จัดเสวนาด่วน Effect ทิศทางคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ
- เปิดใจ พิรงรอง ก่อนโดนคุก 2 ปี
- ฉบับเต็ม! คำพิพากษาคุก 2 ปี ‘พิรงรอง’ อ้าง 'ตลบหลัง-ล้มยักษ์' พูดหลังประชุมแค่เปรียบเปรย
- ‘ศาลคดีทุจริตฯ’นัดฟังคำพิพากษาคดี‘ทรู ดิจิทัลฯ’ฟ้อง‘กก.กสทช.’ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ 6 ก.พ.
- ‘ศาลอาญาคดีทุจริตฯ’ยกคำร้อง‘ทรู ดิจิทัล’ ขอสั่ง‘พิรงรอง’หยุดปฏิบัติหน้าที่‘กสทช.’
- อาจเข้าข่ายฟ้องปิดปาก! ‘สภาผู้บริโภค’ออกแถลงการณ์จี้‘ทรู ดิจิทัล’ถอนฟ้อง‘กรรมการ กสทช.’
- ‘ไตรรัตน์’ฟ้อง'4 กสทช.-พวก’ ปมสอบค่าซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก-เปลี่ยน‘รักษาการเลขาธิการฯ’มิชอบ
- เปิดสรรหาฯใหม่! บอร์ดมีมติ 4 ต่อ 3 ไม่เห็นชอบตั้ง‘ไตรรัตน์’นั่งเก้าอี้‘เลขาธิการ กสทช.’
- จับตาถกบอร์ด กสทช.เคาะชื่อ‘เลขาธิการฯ’คนใหม่ ส่อวุ่น-พบชงหนังสือ‘ไตรรัตน์’ค้าน 4 กก.โหวต
- บรรจุเป็นวาระพิเศษ! ‘ประธาน กสทช.’นัด‘กรรมการ’ถกแต่งตั้ง‘เลขาธิการฯ’คนใหม่ 17 ม.ค.นี้
- ไม่ได้ขัดแย้งส่วนตัว! 4 กสทช. แถลงร่วมยก 6 พฤติกรรม‘ปธ.’ทำภารกิจบอร์ดฯติดขัด-งานไม่เดิน
- ได้ข้อมูล‘ทรู’ฝ่ายเดียว! ‘บอร์ด กสทช.’ยังไม่สรุปค่าบริการมือถือลด 12% หลังควบ TRUE-DTAC
- ‘ภูมิศิษฐ์’ร้อง‘ปธ.วุฒิ’ตรวจสอบคุณสมบัติ‘ประธาน กสทช.’-‘โฆษกฯ’ชี้แจงไม่มีลักษณะต้องห้าม
- ศาลฯรับไต่สวนมูลฟ้อง คดี‘ไตรรัตน์’ฟ้อง‘4 กสทช.-พวก’ ปมตั้งกก.สอบ-เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาฯ