“….เมื่อประมวลพยานหลักฐานพฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 (พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ ,ศ.ดร.พิรงรอง, รศ.ดร.ศุภัช และ รศ.สมภพ) แล้วเห็นว่า การกระทำของคณะกรรมการ กสทช. เสียงข้างมากดังกล่าวไม่โปร่งใส มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง โดยอาศัยมติเสียงข้างมากแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์…”
............................................
จากกรณีที่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อท 155/2566 คดีหมายเลขแดงที่ อท 64/2568 ซึ่งเป็นคดีที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.) (โจทก์)
ยื่นฟ้อง พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 1) ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 2) , รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 3) ,รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 4) และ ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. (จำเลยที่ 5)
ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 กรณีแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการสอบสวนทางวินัย’ แก่นายไตรรัตน์โดยไม่ชอบ เป็นเหตุในการปลดนายไตรรัตน์พ้นจากตำแหน่ง ‘รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.’
โดยคดีนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษา ‘ยกฟ้อง’ จำเลยทั้ง 5 เนื่องจากพยานหลักฐานของโจทก์ (นายไตรรัตน์) ยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงให้รับฟังได้ว่า จําเลยทั้ง 5 กระทำผิดตามฟ้อง (อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม! ยกฟ้อง‘4 กสทช.’ ตั้งกก.สอบ‘ไตรรัตน์’-เปลี่ยน‘รักษาการเลขาฯ’ชอบด้วยกม.-ไม่เร่งรัด)
อนึ่ง คดีนี้ ในการประชุมเพื่อมีคำพิพากษา มีความเห็นแย้งกันเป็น ‘สองฝ่าย’ หาเสียงข้างมากมิได้ จึงให้ผู้พิพากษา ซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมาก ‘ยอมเห็นด้วย’ ผู้พิพากษา ซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีความอาญา มาตรา 184 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอ ‘บันทึกความเห็นแย้งคำพิพากษา’ ของ ‘ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมาก’ ในคดีดังกล่าว (คดีหมายเลขดำที่ อท 155/2566 คดีหมายเลขแดงที่ อท 64/2568) มีรายละเอียด ดังนี้
@ชี้‘กสทช. เสียงข้างมาก’ฝ่าฝืนหลักการในการดำเนินการทางวินัย
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่
ปัญหาข้อแรกต้องพิจารณาก่อนว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มีอำนาจหน้าที่พิจารณาความเห็นและลงมติตามรายงานของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามระเบียบวาระที่ 5 : 22 หรือไม่
เห็นว่า คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายนั้น เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ กสทช. จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กสทช. ที่จะต้องพิจารณาและลงมติในเรื่องดังกล่าว แต่การลงมติ ต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องด้วย
ในข้อนี้ มติของคณะอนุกรรมการที่บรรจุวาระให้ที่ประชุมต่อคณะกรรมการ กสทช. ญัตติดังกล่าว เสนอให้ที่ประชุมฯ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยโจทก์ (นายไตรรัตน์) และเปลี่ยนตัวผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เป็นบุคคลอื่น
โดยระบุว่า การกระทำของโจทก์ ในการดำเนินการค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายว่า อาจมีการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายประกาศที่เกี่ยวข้องและมติที่ประชุมของ กสทช. และ กทท. โดยไม่ได้ระบุถึงพฤติการณ์ว่า
โจทก์ (นายไตรรัตน์) กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องใด มาตราใด ฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับ มติข้อใด เพื่อให้โจทก์เข้าใจข้อกล่าวหาได้ดี และเปิดโอกาสให้โจทก์ แสวงหาพยานหลักฐานมาสนับสนุนข้ออ้างข้อเถียงของตน ในอันที่จะหักล้างพยานหลักฐานของอีกฝ่ายหนึ่ง
ซึ่งการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ สังกัดกระทรวง ทบวง กรม หรือ พนักงาน สังกัดองค์กรใดก็ตาม ต้องอาศัยหลักการที่กล่าวมา ซึ่งถูกกำหนดไว้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2555 กฎ ก.พ.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.2556 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
แม้กระทั่งการเสนอคำฟ้องคดีอาญาต่อศาลก็ใช้หลักการนี้เช่นกัน โดยมาตรา 158 กำหนดว่า คำฟ้องต้องระบุข้อเท็จจริง การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด อีกทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควร ที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี เพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสต่อสู้คดีได้
มติของคณะกรรมการ กสทช. เสียงข้างมาก จึงฝ่าฝืนหลักการในการดำเนินการทางวินัย
@แต่งตั้งกก.สอบสวนวินัยฯ‘ไตรรัตน์’ไม่เป็นไปตามขั้นตอน
ประกอบกับผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ (นายไตรรัตน์) ต้องเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์เท่านั้น
กล่าวคือ เป็นผู้มีอำนาจบรรจุแต่งตั้งและถอดถอนโจทก์ เมื่อโจทก์ดำรงตำแหน่งรักษาการ เลขาธิการ กสทช. โจทก์ จึงเป็นผู้บริหารและเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเจ้าหน้าที่ในงานธุรการของสำนักงาน กสทช. โดยมีประธาน กสทช. เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง แยกต่างหากจาก คณะกรรมการ กสทช.
คณะกรรมการ กสทช. จึงมิใช่ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ ไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ ทั้งนี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดสรรและกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 61
ประกอบระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการรักษาการแทน การปฏิบัติการแทน และการปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. พ.ศ.2555 ว่า เลขาธิการ กสทช. ได้รับการแต่งตั้งและถอดถอนจากประธาน กสทช. ด้วยความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กสทช.
ดังนั้น กระบวนการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในเรื่องนี้ คณะกรรมการ กสทช. ต้องดำเนินการตามขั้นตอน กล่าวคือ เมื่อมีการบรรจุระเบียบวาระ รายงานของคณะอนุกรรมการเสียงข้างมาก เรื่องที่โจทก์ถูกตั้งข้อสังเกตเข้าสู่ที่ประชุม
หากคณะกรรมการเสียงข้างมากเห็นว่า การกระทำของโจทก์อาจฝ่าฝืนกฎหมาย และกรณียังไม่ทราบรายละเอียดและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดชัดเจน ให้รายงานเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงไว้ก่อนต่อประธาน กสทช. ผู้บังคับบัญชาโจทก์
ภายหลังหากพบพยานหลักฐานชัดเจนว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง จึงจะเสนอให้ประธาน กสทช. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย เมื่อประธาน กสทช. มีคำสั่งประการใดแล้ว จึงนำเรื่องบรรจุเข้าวาระการประชุมของคณะกรรมการ กสทช. เพื่อให้คณะกรรมการ กสทช. เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ไม่ใช่ลงมติแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ (นายไตรรัตน์) โดยไม่ผ่านขั้นตอนดังกล่าว
@‘4 กสทช.’ลงมติเปลี่ยนตัว‘รักษาการเลขาฯ’ฝ่าฝืนกม.ชัดเจน
ส่วนมติเสียงข้างมากที่ให้เปลี่ยนตัวโจทก์ (นายไตรรัตน์) และมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จำเลยที่ 5 (ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์) เป็นรักษาการเลขาธิการ กสทช. แทนโจทก์ เป็นมติที่ฝ่าฝืนกฎหมายกฎหมายชัดเจน เพราะผู้มีอำนาจการบรรจุแต่งตั้ง หรือถอดถอนเลขาธิการ กสทช. คือ ประธาน กสทช. คณะกรรมการ กสทช. เป็นเพียงผู้ให้ความเห็นชอบเท่านั้น
คณะกรรมการ กสทช. เสียงข้างมาก ทราบดีว่า วิธีที่ตนปฏิบัตินั้น ขัดต่อกฎหมายและระเบียบชัดแจ้ง ดังจะเห็นได้จากกรณีที่ ดร.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ คณะกรรมการเสียงข้างมาก (จำเลยที่ 1) มีบันทึกด่วนที่สุด ที่ สทช 1002 มีข้อความบางส่วนบางตอนระบุว่า
การตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยและให้รักษาการเลขาธิการพ้นจากตำแหน่ง เป็นอำนาจร่วมกันของประธาน กสทช. กับคณะกรรมการ กสทช. ตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการรักษาการแทน การปฏิบัติการแทน และการปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. พ.ศ.2555
ทั้งนี้ ประธาน กสทช. เป็นผู้อนุมัติให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมและรับทราบอยู่แล้วว่า ในรายงานของอนุกรรมการมีข้อเสนอให้รักษาการเลขาธิการพ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย รักษาการเลขาธิการ กสทช. ด้วย ดังนั้น จึงถือได้ว่าเมื่อที่ประชุมเสียงข้างมากดังกล่าว ถือว่าประธาน กสทช. ร่วมกันพิจารณาหาผู้เหมาะสมให้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. แล้ว
การที่คณะกรรมการ กสทช. มีความเห็นเช่นนี้ เป็นความเห็นที่ขัดแย้งต่อกฎหมาย หากยึดถือตามแนวทางนี้ เท่ากับว่า คณะกรรมการ กสทช. ตรากฎหมายขึ้นมาใหม่ โดยไม่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ประกอบกับ พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร คณะกรรมการ กสทช. เสียงข้างน้อย ทำบันทึกความเห็นแย้งว่า การดำเนินการทางวินัยต่อโจทก์ (นายไตรรัตน์) ควรต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่า โจทก์ได้กระทำความผิดวินัยไม่ร้ายแรงหรือร้ายแรงอย่างไร ลำพังเพียงรายงานของคณะอนุกรรมการเสียงข้างมากยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์ได้ เท่ากับเตือนสติว่า การกระทำนั้นฝ่าฝืนกฎหมาย
แต่คณะกรรมการ กสทช. เสียงข้างมาก หาได้ทบทวนมติของตนกลับดำเนินการต่อไป และอ้างเหตุที่ต้องเปลี่ยนตัวโจทก์ เพราะเกรงว่าโจทก์จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ทั้งที่ทุกฝ่ายต่างก็ทราบดีว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีพยานหลักฐานที่บุคคลใดจะเข้าไปแทรกแซงได้ ข้อเท็จจริงตามรายงานของคณะอนุกรรมการ ไม่มีลักษณะใดบ่งบอกว่าเป็นการกล่าวโทษโจทก์ แต่เห็นว่าเป็นเพียงข้อสังเกตมากกว่า
เมื่อประมวลพยานหลักฐานพฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 (พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ ,ศ.ดร.พิรงรอง, รศ.ดร.ศุภัช และ รศ.สมภพ) แล้วเห็นว่า การกระทำของคณะกรรมการ กสทช. เสียงข้างมากดังกล่าวไม่โปร่งใส มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง โดยอาศัยมติเสียงข้างมากแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ เพื่อใช้มิติดังกล่าวเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้การดำเนินการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้บรรลุวัตถุประสงค์เท่านั้น
โดยมีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มต้นจากที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อตรวจสอบการทำงานโจทก์ จากนั้นกระบวนการสรรหาตัวบุคคลที่จะเข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการ ก็ไม่ได้ตั้งบุคคลที่เป็นกลางเป็นคณะกรรมการสรรหา แต่ดำเนินการโดยคณะกรรมการเสียงข้างมากเป็นผู้เจรจาทาบทามด้วยตนเอง
และบุคคลเหล่านั้น ก็ล้วนเป็นสมัครพรรคพวกที่รู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี สุดท้ายคณะอนุกรรมการเสียงข้างมาก เป็นผู้เสนอญัตติให้ตั้งกรรมการสอบสวนวินัย และเสนอให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งหน้าที่
แม้วิญญูชนทั่วไปที่ได้รู้ได้ทราบเหตุการณ์ดังกล่าวก็สามารถพิจารณาวินิจฉัยได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มีเจตนาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง สร้างความมัวหมองต่อหน้าที่การงาน ถูกตั้งคำถามจากสาธารณชน เคลือบแคลงสงสัยถึงความซื่อสัตย์สุจริตในการกระทำหน้าที่ อีกทั้งยังมุ่งหมายให้โจทก์ไม่ได้รับค่าตอบแทนจากเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง สำหรับตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. เมื่อได้กระทำในตำแหน่งหน้าที่ดังที่กล่าวไว้
ในเบื้องต้นแล้ว แม้จะได้กระทำล้ำออกนอกขอบเขตของกฎหมายในตำแหน่งหน้าที่นั้น หรือได้กระทำโดยปราศจากอำนาจของกฎหมายบัญญัติกับอำนาจหน้าที่ของบุคคลในตำแหน่งนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นความผิดตามฟ้องโจทก์
ส่วนจำเลยที่ 5 (ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์) แม้มิได้เป็นกรรมการร่วมลงมติ กับจำเลยที่ 1 ถึง ที่ 4 แต่ก็ได้แต่งตั้งตนเองเป็นพนักงานผู้รักษาการแทนเลขาธิการแทนโจทก์ โดยอาศัยมติที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งยังมิได้รับรองจากที่ประชุมเป็นการกระทำที่ลัดขั้นตอนผิดกฎหมาย และผิดระเบียบ ข้อบังคับของ กสทช. ซึ่งจำเลยที่ 5 ก็ทราบดี จึงเป็นตัวการร่วมในการกระทำผิดกับ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4
ส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งห้าว่า ได้กระทำหน้าที่โดยสุจริตปราศจากอคติใดๆ เนื่องจากได้รับรายงานจากคณะอนุกรรมการว่า การดำเนินการค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายว่า โจทก์อาจมีการกระทำที่ฝ้าฝืนกฎหมายระเบียบ ข้องบังคับ และมติของ กสทช. จึงดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ อันเป็นข้อต่อสู้ที่ศาลพิจารณาวินิจฉัยแล้วว่า จำเลยทั้งห้าได้กระทำไปโดยฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบฯ ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งห้า จึงฟังไม่ขึ้น
@เห็นควรจำคุก‘จำเลยทั้ง 5’คนละ 1 ปี-แต่ให้รอลงโทษ 2 ปี
อนึ่ง แม้พยานหลักฐานมีน้ำหนักโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งทั้งห้าร่วมกระทำความผิด แต่ภายหลังมีการยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ (นายไตรรัตน์) และประธาน กสทช. ก็ไม่ได้หยิบยก เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ขึ้นพิจารณาอีก เท่ากับว่าโจทก์ยังคงดำรงตำแหน่งรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ได้ต่อไป
การกระทำของจำเลยทั้งทั้งห้าส่งผลกระทบต่อโจทก์ในระยะแรก แต่ต่อมาก็คลี่คลายไปในทิศทางที่ไม่เลวร้ายนัก ประกอบกับข้อพิพาทเป็นเรื่องจำกัดระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้า ไม่ส่งผลกระทบต่อสาธารณชนโดยรวม พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงนัก
อีกทั้งจำเลยทั้งห้าเป็นบุคลากรผู้ทรงด้วยความรู้ความสามารถมีประสบการณ์ ซึ่งสามารถใช้ประสบการณ์และความรู้ช่วยเหลือองค์กร ประเทศชาติ และประชาชนได้ การลงโทษจำคุกจำเลยทั้งห้าในสถานการณ์นี้ จึงไม่เหมาะสม เห็นสมควรรอการลงโทษให้จำเลยทั้งห้า
พิพากษาว่าจำเลยทั้งห้า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 การกระทำของจำเลยทั้งห้า เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทแต่ละบทมีโทษเท่ากัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด คนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
เหล่านี้เป็น ‘บันทึกความเห็นแย้งคำพิพากษา’ ของ ‘ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมาก’ ในคดีที่ นายไตรรัตน์ ฟ้อง ‘4 กรรมการ กสทช. กับพวก’ กรณีแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการสอบสวนทางวินัย’ แก่นายไตรรัตน์โดยไม่ชอบ เป็นเหตุในการปลดนายไตรรัตน์พ้นจากตำแหน่ง ‘รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.’!
อ่านประกอบ :
- ฉบับเต็ม! ยกฟ้อง‘4 กสทช.’ ตั้งกก.สอบ‘ไตรรัตน์’-เปลี่ยน‘รักษาการเลขาฯ’ชอบด้วยกม.-ไม่เร่งรัด
- สรุปคำพิพากษา! ยกฟ้อง 4 กสทช.คดี ‘ไตรรัตน์’ เสียงแตก1:1 ยกประโยชน์ให้จำเลย
- ยกฟ้อง! 4 กสทช. คดี ‘ไตรรัตน์’ กล่าวหาลงมติปลดพ้นเก้าอี้มิชอบ-พ.1 ราย เห็นแย้งว่าผิด
- ‘ศาลคดีทุจริตฯ’นัดชี้ชะตาคดี‘ไตรรัตน์’ฟ้อง‘4 กสทช.’เด้งพ้น‘รักษาการเลขาฯ’มิชอบ 8 เม.ย.
- 'พิรงรอง เอฟเฟกต์': สะท้อนปัญหาวงการสื่อ: เสรีภาพ ทุนผูกขาด และอนาคต กสทช.
- สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ : อะไรคือผลกระทบระยะยาว จากคดีพิรงรอง ?
- ชำแหละคดี 'ทรูไอดี' ฟ้อง กสทช. 'พิรงรอง' โทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เหมาะสมหรือไม่?
- พิรงรอง รามสูต: ทีวีไทยต้องไปต่อ ทำหน้าที่เป็นกลาง เชื่อถือได้-เชื่อมโยงสังคม
- วิเคราะห์คำพิพากษาคดี ‘พิรงรอง’ ใช้เหตุผล-ตรรกะขัดแย้งกันเอง?
- ‘สำนักงาน กสทช.’แถลงการณ์ปกป้องสิทธิฯ‘พนง.’ถูกอ้าง‘ชื่อ-รูปถ่าย’โดยมิชอบ โยงคดี‘พิรงรอง’
- ‘ภาคปชช.’ชี้คดี‘พิรงรอง’สะเทือนกระบวนการ‘ยุติธรรม’-จับตา‘กสทช.’ส่อถูก‘กลุ่มทุน’แทรกแซง
- 'พิรงรอง Effect' : กฎหมาย กสทช.ล้าหลัง ไม่ตอบโจทย์-ไร้อำนาจคุม OTT
- วารสารฯ มธ.-นิเทศฯ ม.อ.ปัตตานี แถลงการณ์ ‘พิรงรอง’ การพิทักษ์ผลประโยชน์สาธารณะคือสิ่งสำคัญ
- วงเสวนานิเทศจุฬาฯชี้ 'พิรงรอง Effect' กระทบการกำกับดูแลในอนาคต เหตุ จนท.เสี่ยงถูกฟ้อง
- นิเทศจุฬาฯ โชว์จุดยืนสนับสนุน 'พิรงรอง' จัดเสวนาด่วน Effect ทิศทางคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ
- เปิดใจ พิรงรอง ก่อนโดนคุก 2 ปี
- ฉบับเต็ม! คำพิพากษาคุก 2 ปี ‘พิรงรอง’ อ้าง 'ตลบหลัง-ล้มยักษ์' พูดหลังประชุมแค่เปรียบเปรย
- ‘ศาลคดีทุจริตฯ’นัดฟังคำพิพากษาคดี‘ทรู ดิจิทัลฯ’ฟ้อง‘กก.กสทช.’ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ 6 ก.พ.
- ‘ศาลอาญาคดีทุจริตฯ’ยกคำร้อง‘ทรู ดิจิทัล’ ขอสั่ง‘พิรงรอง’หยุดปฏิบัติหน้าที่‘กสทช.’
- อาจเข้าข่ายฟ้องปิดปาก! ‘สภาผู้บริโภค’ออกแถลงการณ์จี้‘ทรู ดิจิทัล’ถอนฟ้อง‘กรรมการ กสทช.’
- ‘ไตรรัตน์’ฟ้อง'4 กสทช.-พวก’ ปมสอบค่าซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก-เปลี่ยน‘รักษาการเลขาธิการฯ’มิชอบ
- เปิดสรรหาฯใหม่! บอร์ดมีมติ 4 ต่อ 3 ไม่เห็นชอบตั้ง‘ไตรรัตน์’นั่งเก้าอี้‘เลขาธิการ กสทช.’
- จับตาถกบอร์ด กสทช.เคาะชื่อ‘เลขาธิการฯ’คนใหม่ ส่อวุ่น-พบชงหนังสือ‘ไตรรัตน์’ค้าน 4 กก.โหวต
- บรรจุเป็นวาระพิเศษ! ‘ประธาน กสทช.’นัด‘กรรมการ’ถกแต่งตั้ง‘เลขาธิการฯ’คนใหม่ 17 ม.ค.นี้
- ไม่ได้ขัดแย้งส่วนตัว! 4 กสทช. แถลงร่วมยก 6 พฤติกรรม‘ปธ.’ทำภารกิจบอร์ดฯติดขัด-งานไม่เดิน
- ได้ข้อมูล‘ทรู’ฝ่ายเดียว! ‘บอร์ด กสทช.’ยังไม่สรุปค่าบริการมือถือลด 12% หลังควบ TRUE-DTAC
- ‘ภูมิศิษฐ์’ร้อง‘ปธ.วุฒิ’ตรวจสอบคุณสมบัติ‘ประธาน กสทช.’-‘โฆษกฯ’ชี้แจงไม่มีลักษณะต้องห้าม
- ศาลฯรับไต่สวนมูลฟ้อง คดี‘ไตรรัตน์’ฟ้อง‘4 กสทช.-พวก’ ปมตั้งกก.สอบ-เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาฯ