“…การกระทำของจำเลยทั้งสี่ ไม่ว่าจะเป็นการลงมติเป็นเสียงข้างมากในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 ที่ไม่เห็นชอบให้โจทก์ (นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล) ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. หรือการลงมติเป็นเสียงข้างมากในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 14/2567 ที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งคำสั่งทางปกครองของโจทก์...กรณียังฟังไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ หรือโดยทุจริตตามฟ้อง…”
.....................................
จากกรณีที่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อท 68/2568 คดีหมายเลขแดงที่ อท 93/2568 ซึ่งเป็นคดีที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.) (โจทก์)
ยื่นฟ้อง พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ,ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ,รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. และรศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 1-4) ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
กรณีกรรมการ กสทช. ทั้ง 4 ราย ลงมติเสียงข้างมาก ไม่เห็นชอบให้นายไตรรัตน์ (โจทก์) ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. โดยอ้างว่าไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสรรหาเลขาธิการฯ และลงมติเสียงข้างมาก ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของนายไตรรัตน์ ซึ่งเป็นการกระทำหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้นายไตรรัตน์ได้รับความเสียหาย
โดยศาลฯพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า กรณียังฟังไม่ได้ว่า การที่กรรมการ กสทช. ทั้ง 4 ราย ลงมติเสียงข้างมากไม่เห็นชอบให้นายไตรรัตน์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ (อ่านประกอบ : ‘ศาลอาญาคดีทุจริตฯ’ยกฟ้อง‘4 กสทช.’ ลงมติไม่เห็นชอบ‘ไตรรัตน์’นั่งเก้าอี้‘เลขาธิการ’คนใหม่)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดคำพิพากษาในคดีนี้ (คดีหมายเลขดำที่ อท 68/2568 คดีหมายเลขแดงที่ อท 93/2568) ดังนี้
@‘ประธานฯ’ประกาศเปิดสรรหา‘เลขาธิการ กสทช.’คนใหม่
โจทก์ (นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล) ฟ้องและแก้ฟ้องว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรียกโดยอว่า “กสทช.” เป็นองค์กรอิสระ จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553
ประกอบด้วย กรรมการรวม 7 คน มีศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธานกรรมการ กับกรรมการอีก 6 คน คือ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 (พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ที่ 1 ,ศ.พิรงรอง รามสูต ที่ 2 ,รศ.ศุภัช ศุภชลาศัย ที่ 3 และ รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ที่ 4) นายต่อพงศ์ เสลานนท์ และ พลตำรวจเอกณัฐธร เพราะสุนทร
คณะกรรมการ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ไว้ในมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว และในมาตรา 25 ยังได้บัญญัติให้กรรมการ กสทช. เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 56 กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “สำนักงาน กสทช.” เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น
สำนักงาน กสทช. มีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว และในมาตรา 60 กำหนดให้สำนักงาน กสทช. มีเลขาธิการ กสทช. คนหนึ่งรับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช. ขึ้นตรงต่อประธานกรรมการ และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน กสทช.
โจทก์ (นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล) เป็นรองเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร และเป็นพนักงานผู้ปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช. ตามระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2565 ข้อ 16
และเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2563 ตามคำสั่งประธาน กสทช. ที่ 2/2563 ลงวันที่ 18 มิ.ย.2563 และตามระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการรักษาการแทน การปฏิบัติการแทน และการปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทน ในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. และพนักงานของสำนักงาน กสทช. พ.ศ.2555
เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2566 ประธาน กสทช. มีประกาศประธาน กสทช. เรื่อง รับสมัครคัดเลือกบุคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. และโจทก์ได้ยื่นใบสมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ดังกล่าว
ต่อมาวันที่ 12 พ.ค.2566 ประธาน กสทช. มีคำสั่งประธาน กสทช.ที่ 15/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. โดยให้กรรมการมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกตามประกาศข้างต้น และเสนอรายชื่อผู้สมัครที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติต่อประธาน กสทช.
ต่อมาวันที่ 27 มิ.ย.2566 ประธาน กสทช. ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. โดยมีโจทก์ (นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล) รวมอยู่ด้วย
และได้มีประกาศประธาน กสทช. กำหนดให้มีการแสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์คัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ในวันที่ 20 ก.ค.2566 ณ สำนักงาน กสทช. ซึ่งประธาน กสทช. จะเป็นผู้คัดเลือก โดยการประเมินจากเอกสารประกอบการสมัคร การแสดงวิสัยทัศน์ คลิปวิดีโอ และการสัมภาษณ์ แล้วประธาน กสทช. จะเสนอชื่อผู้ที่เห็นควรให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ กสทช. ให้คณะกรรมการ กสทช. เห็นชอบต่อไป
@ยื่นคัดค้าน‘4 กสทช.’ร่วมลงมติเห็นชอบ‘เลขาธิการฯ’
หลังจากโจทก์ (นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล) ได้เข้าแสดงวิสัยทัศน์ ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดแล้ว โจทก์ทราบว่า จะมีการประชุม กสทช. ครั้งที่ 20/2566 ในวันที่ 12 ต.ค.2566 ซึ่งบรรจุวาระ เรื่อง การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. เสนอให้ที่ประชุมพิจารณา
โจทก์ (นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล) ได้มีบันทึกข้อความที่ สทช 2000/108 ถึงประธาน กสทช. ลงวันที่ 9 ต.ค.2566 ขอคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่พิจารณาและลงมติของจำเลยทั้งสี่ ในวาระพิจารณา เรื่อง การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.
เนื่องจากโจทก์ ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่ เป็นจำเลยต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 155/2566 โดยมีมูลเหตุจากการประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 วันที่ 9 มิ.ย.2566 ที่จำเลยทั้งสี่ ลงมติเป็นเสียงข้างมากให้โจทก์ออกจากรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. และให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อโจทก์โดยทุจริต และมีเจตนาให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
โจทก์เชื่อว่าจำเลยทั้งสี่ ต้องไม่เห็นชอบให้โจทก์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. อย่างแน่นอน จึงขอคัดค้านว่าจำเลยทั้งสี่ในฐานะ กสทช. เป็นเจ้าหน้าที่ผู้เป็นคู่กรณีที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 13 (1) แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แต่ปรากฏว่าที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. ครั้งที่ 20/2566 ไม่ได้พิจารณาระเบียบวาระ เรื่อง การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. แต่อย่างใด
ต่อมาวันที่ 15 พ.ค.2567 ประธาน กสทช. ได้มีหนังสือสำนักงาน กสทช. ด่วนที่สุด ที่ สทช 1001/19847 ถึงโจทก์ แจ้งผลการพิจารณารายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.ว่า ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 วันที่ 17 ม.ค.2567 มีระเบียบวาระที่ 5.1 เรื่อง การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.
โดยเสนอชื่อโจทก์ (นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล) ให้ กสทช. พิจารณาเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. และที่ประชุมเสียงข้างมาก ซึ่งประกอบด้วยจำเลยทั้งสี่
“ไม่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ตามมาตรา 61 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ตามที่ประธาน กสทช. เสนอ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสรรหา”
และที่ประชุมเสียงข้างน้อยเห็นชอบให้บันทึกมติที่ประชุมดังกล่าว โดยมีถ้อยคำ ดังนี้
“ไม่เห็นชอบการแต่งตั้งนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ตามมาตรา 61 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ตามที่ประธาน กสทช.เสนอ
อนึ่ง หากท่านไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาของ กสทช. ตามมติที่ประชุม กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 ลงวันที่ 17 ม.ค.2567 ระเบียบวาระที่ 5.1 ให้อุทธรณ์ต่อประธาน กสทช. ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนี้”
ต่อมาวันที่ 23 พ.ค.2567 โจทก์ได้มีบันทึกข้อความ ลับ ด่วนที่สุด ที่ สทช 2000/80 ถึงประธาน กสทช. เรื่องอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตามมติ กสทช. ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 ในวันที่ 17 ม.ค.2567 ระเบียบวาระที่ 5.1 ดังกล่าว
โดยเห็นว่าการประชุมดังกล่าว มีการลงมติที่ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 61 และไม่เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2555 ข้อ 29
@อ้าง‘4 กสทช.’ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้‘เสียหาย’
ต่อมาในวันที่ 12 มิ.ย.2567 โจทก์มีบันทึกข้อความ ลับ ด่วนที่สุด ที่ สทช 2000/95 ถึงประธาน กสทช. เรื่อง อุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตามมติ กสทช. ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 ในวันที่ 17 ม.ค.2567 ระเบียบวาระที่ 5.1 (เพิ่มเติม) ว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 155/2566 ที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นจำเลยไว้พิจารณา
ทำให้จำเลยทั้งสี่ในคดีนี้ มีสถานะเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว จำเลยทั้งสี่ จึงถือเป็นคู่พิพาทที่จะทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 16
ต่อมาในวันที่ 24 ก.ค.2567 ประธาน กสทช. ได้มีหนังสือสำนักงาน กสทช. ด่วนที่สุด ที่ สทช 1001/29840 ถึงโจทก์ แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตามมติ กสทช. ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 ระเบียบวาระที่ 5.1 ว่า
ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 14/2567 ในวันที่ 3 ก.ค.2567 ที่ประชุมเสียงข้างมากคือ จำเลยทั้งสี่ มีมติไม่รับอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง ตามมติ กสทช. ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 ระเบียบวาระที่ 5.1 ทั้งนี้ ตามมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
โดยให้แจ้งคู่กรณีเพื่อใช้สิทธิโต้แย้งต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาของ กสทช. ตามมติที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 ดังกล่าว คำสั่งทางปกครองตามมติ กสทช. ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 14/2567 วันที่ 3 ก.ค.2567 ระเบียบวาระที่ 1.25 ที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ ถือเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 วันที่ 17 ม.ค.2567 ระเบียบวาระที่ 5.1 นั้น จำเลยทั้งสี่ยืนยันว่า ตนไม่ใช่คู่กรณี สามารถพิจารณาทางปกครองต่อไปได้ โดยจำเลยทั้งสี่ไม่ได้อออกจากที่ประชุมตามที่กำหนดแต่อย่างใด
เจตนาโดยทุจริตของจำเลยทั้งสี่ ปรากฏชัดตั้งแต่จำเลยทั้งสี่ลงมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. และให้สำนักงาน กสทช. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อโจทก์ ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566 แล้ว
การที่จำเลยทั้งสี่ ลงมติเสียงข้างมาก ไม่เห็นชอบโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. เป็นการกีดกันและกลั่นแกล้งมิให้โจทก์ (นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล) ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ กสทช. เช่นเดียวกันกับกรณีที่ลงมติให้โจทก์ออกจากตำแหน่งรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. และตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์
จำเลยทั้งสี่ จึงถือเป็นผู้ซึ่งมีสภาพร้ายแรง อันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 16
นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 61 มิได้กำหนดให้ กสทช. เสียงข้างมาก อ้างเหตุความไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสรรหาของประธาน กสทช. มาเป็นเหตุไม่เห็นชอบรายชื่อ ที่ประธาน กสทช. เสนอ อันถือว่าเป็นการพิจารณาทางปกครองที่ไม่ให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์
การกระทำของจำเลยทั้งสี่ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และเหตุที่ยังคงไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. จนถึงปัจจุบัน เป็นเพราะจำเลยทั้งสี่ ซึ่งเป็นเสียงข้างมากในการประชุม กสทช. ไม่ยอมรับการดำเนินการของประธาน กสทช.
โดยจำเลยทั้งสี่ได้พยายามขัดขวางกระบวนการคัดเลือกมาโดยตลอด และลงมติขัดขวางไม่ให้กระบวนการให้ความเห็นชอบเป็นไปตามกฎหมาย จำเลยทั้งสี่พยายามขัดขวาง และไม่ให้ความร่วมมือกับการสรรหาบุคคลของประธาน กสทช. ในทุกวิถีทาง ด้วยการทำหนังสือโต้แย้ง และไม่ส่งตัวแทนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบคุณสมบัติ มีการแสดงถึงการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันอย่างเหนียวแน่น ด้วยการทำหนังสือถึงประธาน กสทช. และลงชื่อร่วมกันทั้ง 4 คน
ดังนั้น การที่โจทก์เป็นบุคคลที่ประธาน กสทช. เสนอรายชื่อขอความเห็นชอบจาก กสทช. และจำเลยทั้งสี่เป็นผู้มีข้อพิพาทในชั้นชั้นศาลกับโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้มีบันทึกข้อความถึงประธาน กสทช. คัดค้านการปฏิบัติหน้าที่พิจารณาและลงมติของจำเลยทั้งสี่ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 20/2566 วันที่ 12 ต.ค.2566 วาระพิจารณา เรื่อง การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. แล้ว
จำเลยทั้งสี่ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ผู้เป็นคู่กรณี จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ เพราะเป็นบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 13 (1) แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ต้องออกจากที่ประชุม
แต่จำเลยทั้งสี่กลับยืนยันว่า ตนไม่ใช่คู่กรณี สามารถที่จะพิจารณาทางปกครองต่อไปได้ และไม่ได้ออกจากที่ประชุม ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว แล้วจำเลยทั้งสี่ได้ลงมติไม่เห็นชอบโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสรรหา แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสี่ มีเจตนาละเว้นการดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
เมื่อต่อมาวันที่ 31 พ.ค.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 155/2566 มีคำสั่งประทับรับฟ้อง ทำให้จำเลยทั้งสี่มีสถานะเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ซึ่งถือเป็นคู่พิพาทตามกฎหมายแล้ว
จำเลยทั้งสี่ จึงเป็นเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคุณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครอง ซึ่งมีสภาพร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 16 อันอาจทำให้การพิจารณาไม่เป็นกลาง ซึ่งจะทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นไม่ได้
แต่ปรากฎว่า ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 14/2567 เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2567 ระเบียบวาระที่ 4.25 : อุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตามมติ กสทช. ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 วันที่ 17 ม.ค.2567 ระเบียบวาระที่ 5.1 จำเลยทั้งสี่โดยทุจริต ทำการพิจารณาทางปกครองในระเบียบวาระดังกล่าว
ทั้งที่รู้ดีอยู่แล้วว่า เป็นบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 13 และมาตรา 16 แห่ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ต้องออกจากที่ประชุม แต่จำเลยทั้งสี่กลับอยู่ในที่ประชุม แล้วลงมติเป็นที่ประชุมเสียงข้างมาก ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของโจทก์
การกระทำของจำเลยทั้งสี่ ที่ลงมติไม่เห็นชอบให้โจทก์ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. กับที่ลงมติไม่รับอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของโจทก์ เป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ต้องเสียโอกาสและความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
การลงมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้ เกิดขึ้นวันที่ 17 ม.ค.2567 (การประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567) เวลากลางวัน และวันที่ 3 ก.ค.2567 (การประชุม กสทช. ครั้งที่ 14/2567) เวลากลางวัน ณ สำนักงาน กสทช. แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
โจทก์มิได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพราะประสงค์จะดำเนินคดีด้วยเอง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ,86 ,157 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172
@การพิจารณาลงมติของ‘4 กสทช.’เป็นไปตามระเบียบวาระ
ศาลฯพิเคราะห์ฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องประกอบกันแล้ว
เห็นว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า "กสทช." เป็นองค์กรอิสระ จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 (พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ที่ 1 ,ศ.พิรงรอง รามสูต ที่ 2 ,รศ.ศุภัช ศุภชลาศัย ที่ 3 และ รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ที่ 4) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดให้กรรมการ กสทช. เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
จำเลยทั้งสี่ จึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ตามมาตรา 4 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
โจทก์ (นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล) ฟ้องกล่าวอ้างว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ ที่ลงมติในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 ในวันที่ 17 ม.ค.2567 เป็นการลงมติที่ขัดต่อ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่า “ให้ประธานกรรมการ โดยความเห็นชอบของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช.”
และขัดต่อระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2555 ข้อ 29 วรรคหนึ่งที่กำหนดว่า
“ในการประชุมคณะกรรมการ ให้ที่ประชุมพิจารณาเฉพาะเรื่องที่มีอยู่ในระเบียบวาระการประชุม ตามระเบียบวาระการประชุมที่จัดไว้”
ซึ่งตามรายงานการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 18 มีการกำหนดระเบียบวาระที่ 5.1 : การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ไว้ การพิจารณาลงมติของจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นไปตามระเบียบวาระดังกล่าวแล้ว
ส่วนที่จำเลยทั้งสี่ ลงมติเป็นเสียงข้างมากไม่เห็นชอบให้โจทก์ (นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล) ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการ กสทช.ตามวาระที่ประธาน กสทช. เสนอ โดยให้เหตุผลในการไม่เห็นชอบว่า “เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสรรหา”
เมื่อพิจารณามาตรา 61 แห่ง พ.ร.บ.ข้างต้น กำหนดไว้แต่เพียงว่า ให้ กสทช. เห็นชอบหรือไม่ กับรายชื่อที่ประธาน กสทช. เสนอเท่านั้น มิได้กำหนดว่าต้องให้เหตุผลในการเห็นชอบหรือไม่ อย่างไร ทั้งตามรายงานการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 ดังกล่าว ยังมีการเห็นชอบให้บันทึกมติที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 โดยมีถ้อยคำ ดังนี้
“ไม่เห็นชอบการแต่งตั้งนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ตามมาตรา 61 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามที่ประธาน กสทช. เสนอ”
การให้เหตุผลของจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นเพียงการถกเถียงและให้เหตุผลกันในที่ประชุม กสทช. เท่านั้น ทั้งมิได้นำเหตุผลดังกล่าว มาบันทึกเป็นมติที่ประชุมแต่อย่างใด
@ฟังไม่ได้ว่า‘4 กสทช.’ปฏิบัติ-ละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างว่า ก่อนการประชุม กสทช. ที่มีการพิจารณาระเบียบวาระ เรื่อง การแต่งตั้งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. โจทก์ยื่นบันทึกข้อความถึงประธาน กสทช. เพื่อคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่พิจารณาและลงมติของจำเลยทั้งสี่ไว้แล้ว สืบเนื่องจากโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่ เป็นจำเลยต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
จำเลยทั้งสี่จึงถือเป็นคู่กรณีตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 จำเลยทั้งสี่ จะลงมติในการพิจารณาระเบียบวาระเรื่องการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ไม่ได้ โดย พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 13 (1) กำหนดให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นคู่กรณีเองจะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ และมาตรา 15 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า
เมื่อมีกรณีคู่กรณีคัดค้านว่า กรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองคณะใดมีลักษณะตามมาตรา 13 ให้ประธานกรรมการเรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเหตุคัดค้านนั้น ในการประชุมดังกล่าว กรรมการผู้ถูกคัดค้าน เมื่อได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและตอบข้อชักถามแล้วต้องออกจากที่ประชุม
มาตรา 16 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ในกรณีมีเหตุอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครอง ซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง เจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้นั้นจะทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้น ไม่ได้นั้น
เมื่อพิจารณารายงานการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 18 มีรายละเอียดเกี่ยวกับการคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ตามฟ้องโจทก์ดังกล่าว ว่า
“ก่อนพิจารณาให้ความเห็นชอบชื่อที่ประธาน กสทช. เสนอ ประธาน กสทช. ให้นิติกรเชี่ยวชาญพิเศษ รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการภูมิภาค รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. (นายสมบัติ ลีลาพตะ) ซึ่งทำหน้าที่เลขานุการ แจ้งรายละเอียดเรื่องหนังสือที่มีผู้ร้องเรียน และหนังสือที่มีการคัดค้านการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. สรุป ดังนี้
(1) การคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่พิจารณา และลงมติของ กสทช. พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ฯ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรองฯ (จำเลยที่ 2 คดีนี้) กสทช. รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัชฯ (จำเลยที่ 3 คดีนี้) และ กสทช. รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพฯ (จำเลยที่ 4 คดีนี้)
เนื่องจากเป็นบุคคลต้องห้ามตามนัย มาตรา 13 (1) แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ตามหนังสือที่ สทช. 2000/108 ลงวันที่ 9 ต.ค.2566 ของนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ที่เสนอประธาน กสทช. พิจารณา โดยฝ่ายเลขานุการได้อ่านขั้นตอนกระบวนการพิจารณา กรณีมีหนังสือคัดค้าน ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ให้ที่ประชุมพิจารณา
ทั้งนี้ ก่อนการพิจารณาตามมาตรา 15 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 กสทช. รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพฯ (จำเลยที่ 4 คดีนี้) ได้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า กสทช. ทั้ง 4 ท่าน ไม่ใช่คู่กรณีเอง ตามมาตรา 13 (1)
เนื่องจากนิยามของคำว่า “คู่กรณี” ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 5 หมายความว่า ผู้ยื่นคำขอหรือผู้คัดค้านคำขอ ผู้อยู่ในบังคับหรือจะอยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครอง และผู้ซึ่งได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง เนื่องจากสิทธิของผู้นั้นจะถูกกระทบกระเทือนจากผลของคำสั่งทางปกครอง
โดยยกคำอธิบายของประธานศาลปกครองสูงสุดว่า การเป็นคู่กรณีเองตามมาตรา 13 (1) คือ เป็นผู้ยื่นคำขอหรือจะได้รับผลจากคำสั่งทางปกครองเอง แต่เป็นผู้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งทางปกครองเอง เช่น การยื่นขออนุญาตตั้งโรงงานในขณะที่ตนเองเป็นผู้มีอำนาจให้ตั้งโรงงาน เป็นต้น
ดังนั้น การที่ผู้ยื่นคัดค้าน กสทช. ทั้ง 4 ท่าน ได้อ้างถึงมาตรา 13 (1) ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 นั้น ไม่เข้าข่าย และไม่จำเป็นต้องนำเหตุแห่งการคัดค้านดังกล่าวมาพิจารณาหรือวินิจฉัย เพราะกรณีนี้ไม่เข้าข่ายตามมาตรา 13 (1) ตั้งแต่แรก จึงไม่จำต้องดำเนินการตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
และ กสทช. พลตำรวจเอกณัฐธร และ กสทช. นายต่อพงศ์ ให้ความเห็นว่า เนื่องจาก กสทช. ทั้ง 4 ท่าน ท่านมีหนังสือยืนยันว่า ไม่ได้เป็นคู่กรณีเอง ประกอบกับทั้ง 4 ท่าน เป็นกรรมการเสียงส่วนใหญ่ในกรรมการ กสทช. ดังนั้น กรรมการ กสทช. ที่เหลืออยู่เพียงสองเสียง จึงไม่อาจพิจารณาประเด็นนี้ได้
ข้อความช่วงท้ายนี้ที่ กสทช. 2 ท่านมีความเห็นว่า กรรมการ กสทช. ที่เหลืออยู่เพียงสองเสียง จึงไม่อาจพิจารณาประเด็นนี้ได้นั้น ก็สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 18 ที่บัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรา 13 ถึงมาตรา 16 ไม่ให้นำมาใช้บังคับกับกรณี...หรือไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนผู้นั้นได้”
ดังนั้น การลงมติของจำเลยทั้งสี่ ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 ในวาระพิจารณา เรื่อง การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. จึงมิใช่การลงมติ โดยไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แต่อย่างใด
และต่อมาเมื่อมีข้อเท็จจริงว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องคดีอาญา อท 155/2566 ในวันที่ 31 พ.ค.2567 ซึ่งทำให้จำเลยทั้งสี่มีสถานะเป็นจำเลยแล้วในคดีดังกล่าว ก็มิได้ทำให้การลงมติของจำเลยทั้งสี่ ซึ่งเป็นเสียงข้างมากในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 14/2567 ในวันที่ 3 ก.ค.2567 โดยมีมติไม่รับอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของโจทก์ เป็นการลงมติที่มิได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
เนื่องด้วยมีการพิจารณาเหตุคัดค้านของโจทก์ (นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล) ไว้แล้ว ในรายงานการประชุม เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 18 ข้างต้นว่า มิไช่คู่กรณีตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 โดยรายงานการประชุมดังกล่าว ที่ประชุม กสทช. มิได้พิจารณาถึงการมีสถานะของจำเลยทั้งสี่ในคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบว่าจะตกเป็นจำเลยแล้วหรือไม่
เมื่อต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีคำสั่งให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการวินิจฉัยการเป็นคู่กรณีตามรายงานการประชุมดังกล่าวแต่อย่างใด
การกระทำของจำเลยทั้งสี่ ไม่ว่าจะเป็นการลงมติเป็นเสียงข้างมากในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 ที่ไม่เห็นชอบให้โจทก์ (นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล) ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. หรือการลงมติเป็นเสียงข้างมากในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 14/2567 ที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งคำสั่งทางปกครองของโจทก์ ดังได้วินิจฉัยเหตุและผลไว้ทั้งหมดข้างต้น
กรณียังฟังไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ หรือโดยทุจริตตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
เหล่านี้เป็นรายละเอียดคำพิพากษาในคดีที่ นายไตรรัตน์ ยื่นฟ้อง ‘4 กสทช.’ กรณีที่กรรมการ กสทช. ทั้ง 4 ราย ลงมติ ‘เสียงข้างมาก’ ไม่เห็นชอบให้นายไตรรัตน์ ดำรงตำแหน่ง ‘เลขาธิการ กสทช.’ ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษา ‘ยกฟ้อง’ กรรมการ กสทช.ทั้ง 4 ราย
อีกทั้งการ ‘ยกฟ้อง’ ในคดีนี้ นับเป็น ‘คดีที่ 2’ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ยกฟ้อง '4 กสทช.' หลังจากก่อนหน้านี้ นายไตรรัตน์ ยื่นฟ้อง ‘4 กสทช.’ ต่อศาลฯ กรณีลงมติให้ ‘เปลี่ยนตัว’ นายไตรรัตน์ พ้นจากตำแหน่ง ‘รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.’ และตั้ง ‘คณะกรรมการสอบสวนฯ’ แก่นายไตรรัตน์ กรณีการสนับสนุนเงินค่าซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก โดยมิชอบ
อ่านประกอบ :
- ‘ศาลอาญาคดีทุจริตฯ’ยกฟ้อง‘4 กสทช.’ ลงมติไม่เห็นชอบ‘ไตรรัตน์’นั่งเก้าอี้‘เลขาธิการ’คนใหม่
- จับตา'บอร์ด กสทช.'ตั้ง'รักษาการเลขาฯ'-ถกปม'ไตรรัตน์'เซ็นต่ออายุปฏิบัติงาน'สุทธิศักดิ์'
- 'ตุลาการผู้แถลงคดี'ชี้'สรณ'ละเลยหน้าที่ เมิน'มติ กสทช.'เปลี่ยน‘รักษาการเลขาฯ’-สอบวินัย
- ความเห็นแย้งคดีฟ้อง‘4 กสทช.'! 'ผู้พิพากษา'ชี้พฤติการณ์‘ไม่โปร่งใส’มุ่งปลด‘รักษาการเลขาฯ’
- ฉบับเต็ม! ยกฟ้อง‘4 กสทช.’ ตั้งกก.สอบ‘ไตรรัตน์’-เปลี่ยน‘รักษาการเลขาฯ’ชอบด้วยกม.-ไม่เร่งรัด
- สรุปคำพิพากษา! ยกฟ้อง 4 กสทช.คดี ‘ไตรรัตน์’ เสียงแตก1:1 ยกประโยชน์ให้จำเลย
- ยกฟ้อง! 4 กสทช. คดี ‘ไตรรัตน์’ กล่าวหาลงมติปลดพ้นเก้าอี้มิชอบ-พ.1 ราย เห็นแย้งว่าผิด
- ‘ศาลคดีทุจริตฯ’นัดชี้ชะตาคดี‘ไตรรัตน์’ฟ้อง‘4 กสทช.’เด้งพ้น‘รักษาการเลขาฯ’มิชอบ 8 เม.ย.
- 'พิรงรอง เอฟเฟกต์': สะท้อนปัญหาวงการสื่อ: เสรีภาพ ทุนผูกขาด และอนาคต กสทช.
- สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ : อะไรคือผลกระทบระยะยาว จากคดีพิรงรอง ?
- ชำแหละคดี 'ทรูไอดี' ฟ้อง กสทช. 'พิรงรอง' โทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เหมาะสมหรือไม่?
- พิรงรอง รามสูต: ทีวีไทยต้องไปต่อ ทำหน้าที่เป็นกลาง เชื่อถือได้-เชื่อมโยงสังคม
- วิเคราะห์คำพิพากษาคดี ‘พิรงรอง’ ใช้เหตุผล-ตรรกะขัดแย้งกันเอง?
- ‘สำนักงาน กสทช.’แถลงการณ์ปกป้องสิทธิฯ‘พนง.’ถูกอ้าง‘ชื่อ-รูปถ่าย’โดยมิชอบ โยงคดี‘พิรงรอง’
- ‘ภาคปชช.’ชี้คดี‘พิรงรอง’สะเทือนกระบวนการ‘ยุติธรรม’-จับตา‘กสทช.’ส่อถูก‘กลุ่มทุน’แทรกแซง
- 'พิรงรอง Effect' : กฎหมาย กสทช.ล้าหลัง ไม่ตอบโจทย์-ไร้อำนาจคุม OTT
- วารสารฯ มธ.-นิเทศฯ ม.อ.ปัตตานี แถลงการณ์ ‘พิรงรอง’ การพิทักษ์ผลประโยชน์สาธารณะคือสิ่งสำคัญ
- วงเสวนานิเทศจุฬาฯชี้ 'พิรงรอง Effect' กระทบการกำกับดูแลในอนาคต เหตุ จนท.เสี่ยงถูกฟ้อง
- นิเทศจุฬาฯ โชว์จุดยืนสนับสนุน 'พิรงรอง' จัดเสวนาด่วน Effect ทิศทางคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ
- เปิดใจ พิรงรอง ก่อนโดนคุก 2 ปี
- ฉบับเต็ม! คำพิพากษาคุก 2 ปี ‘พิรงรอง’ อ้าง 'ตลบหลัง-ล้มยักษ์' พูดหลังประชุมแค่เปรียบเปรย
- ‘ศาลคดีทุจริตฯ’นัดฟังคำพิพากษาคดี‘ทรู ดิจิทัลฯ’ฟ้อง‘กก.กสทช.’ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ 6 ก.พ.
- ‘ศาลอาญาคดีทุจริตฯ’ยกคำร้อง‘ทรู ดิจิทัล’ ขอสั่ง‘พิรงรอง’หยุดปฏิบัติหน้าที่‘กสทช.’
- อาจเข้าข่ายฟ้องปิดปาก! ‘สภาผู้บริโภค’ออกแถลงการณ์จี้‘ทรู ดิจิทัล’ถอนฟ้อง‘กรรมการ กสทช.’
- ‘ไตรรัตน์’ฟ้อง'4 กสทช.-พวก’ ปมสอบค่าซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก-เปลี่ยน‘รักษาการเลขาธิการฯ’มิชอบ
- เปิดสรรหาฯใหม่! บอร์ดมีมติ 4 ต่อ 3 ไม่เห็นชอบตั้ง‘ไตรรัตน์’นั่งเก้าอี้‘เลขาธิการ กสทช.’
- จับตาถกบอร์ด กสทช.เคาะชื่อ‘เลขาธิการฯ’คนใหม่ ส่อวุ่น-พบชงหนังสือ‘ไตรรัตน์’ค้าน 4 กก.โหวต
- บรรจุเป็นวาระพิเศษ! ‘ประธาน กสทช.’นัด‘กรรมการ’ถกแต่งตั้ง‘เลขาธิการฯ’คนใหม่ 17 ม.ค.นี้
- ไม่ได้ขัดแย้งส่วนตัว! 4 กสทช. แถลงร่วมยก 6 พฤติกรรม‘ปธ.’ทำภารกิจบอร์ดฯติดขัด-งานไม่เดิน
- ได้ข้อมูล‘ทรู’ฝ่ายเดียว! ‘บอร์ด กสทช.’ยังไม่สรุปค่าบริการมือถือลด 12% หลังควบ TRUE-DTAC
- ‘ภูมิศิษฐ์’ร้อง‘ปธ.วุฒิ’ตรวจสอบคุณสมบัติ‘ประธาน กสทช.’-‘โฆษกฯ’ชี้แจงไม่มีลักษณะต้องห้าม
- ศาลฯรับไต่สวนมูลฟ้อง คดี‘ไตรรัตน์’ฟ้อง‘4 กสทช.-พวก’ ปมตั้งกก.สอบ-เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาฯ