‘สภาพัฒน์’ เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/68 เติบโต 3.1% จากแรงหนุน ‘ภาคการผลิต-การใช้จ่าย-ส่งออก’ ที่ขยายตัวได้ดี วาง 3 ฉากทัศน์ ‘สงครามการค้า’ ก่อนหั่นคาดการณ์จีดีพีทั้งปี 68 เหลือโต 1.3-2.3%
...................................
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2568 และแนวโน้มปี 2568 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2568 ขยายตัว 3.1% โดยเครื่องชี้ทั้งฝั่งภาคการผลิตและฝั่งการใช้จ่ายยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการลงทุนรวมที่ขยายตัว 4.7% จากการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัว 26.3% อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนหดตัว -0.9% จากการลดลงในภาคก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์และอาคารพาณิชย์ แต่การก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ 3.7%
ส่วนปริมาณการส่งออกสินค้า ขยายตัว 13.8% โดยมูลค่าการส่งออก ขยายตัว 15% สูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส ,การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 2.6% ,การอุปโภคภาครัฐบาล ขยายตัว 3.4% ,ปริมาณการส่งออกบริการ ขยายตัว 7% ,ภาคเกษตร ขยายตัว 5.7% ,สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัว 0.6% ,สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ซึ่งผูกพันกับภาคท่องเที่ยว ขยายตัว 7.2% ,สาขาการค้า ขยายตัว 4.7% ,สาขาขนส่ง ขยายตัว 5.4% ,สาขาก่อสร้าง ขยายตัวที่ 16.2% ซึ่งมีส่วนสำคัญจากการลงทุนของภาครัฐ และสาขาการเงิน ขยายตัว 3.1%
“ถ้าเทียบเป็นไตรมาสต่อไตรมาส หรือเทียบไตรมาส 4/2567 กับไตรมาส 1/2568 เศรษฐกิจไทยยังขยายได้ 0.7% ซึ่งมาจากส่วนสำคัญ คือ การขยายตัวของภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการค้าส่งค้าปลีกที่ขยายตัวเร่งขึ้น ในขณะที่การใช้จ่ายและการส่งออกขยายตัวในเกณฑ์สูง ส่วนการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ไตรมาส 1/2568 ขยายตัว 2.6% ชะลอตัวลงจากไตรมาส 4/2567 ซึ่งการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 3.4%” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา ระบุด้วยว่า แม้ว่าในช่วงไตรมาส 1/2568 มูลค่าการส่งออกสินค้าไทย ขยายตัวได้ 15% ซึ่งขยายตัวสูงกว่าประเทศอื่นๆ แต่คงไว้ใจไม่ได้ เพราะเมื่อมองไปข้างหน้า มาตรการภาษีตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ (Reciprocal tariff) กับประเทศต่างๆทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ยังคงดำรงอยู่ มีความผันผวน และยังหาข้อยุติไม่ได้ ถึงแม้ว่าขณะนี้จะมีการผ่อนปรนลงระดับหนึ่งแล้วก็ตาม
“ถ้าปริมาณการค้าโลกลดลง การส่งออกของเราจะลดลงตามไปด้วย และถ้าไปดูอัตราภาษีนำเข้า (Effective rate) ของสหรัฐฯ พบว่า ณ สิ้นเดือน เม.ย.2568 ได้เพิ่มมาอยู่ที่ 24.7% จากสิ้นปี 2567 ที่อยู่ที่ 2.4% โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผ่านไปยังการส่งออกสินค้าไปสหรัฐ การส่งออกภายใต้ห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงไปยังสหรัฐ และส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะเดียวกัน สินค้าที่จะถูกส่งเข้ามาในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น การลงทุนภาคเอกชนจะชะลอตัวลงจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น รวมทั้งจะเกิดความผันผวนของตลาดเงิน ตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ” นายดนุชา ระบุ
นายดนุชา กล่าวว่า สศช.ได้จัดทำสมมติฐานเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกในกรณีต่างๆ เป็น 3 กรณี ได้แก่ กรณีฐาน (Base case) เช่น จีนถูกสหรัฐเก็บภาษี 54% และจีนตอบโต้ 34% ขณะที่ภาษี Reciprocal tariffs อยู่ที่ครึ่งหนึ่งของที่ประกาศ แต่มาต่ำกว่า 10% เป็นต้น เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 2.6% และปริมาณการค้าโลกจะขยายตัว 1.8% กรณีสูง (Low tariff case) เช่น จีนถูกสหรัฐเก็บภาษี 30% และจีนตอบโต้ 10% ขณะที่ภาษี Reciprocal tariffs อยู่ที่ 10% ยกเว้นจีน แคนาดา และเม็กซิโก เป็นต้น เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 2.8% และปริมาณการค้าโลกจะขยายตัว 2.2%
และกรณีต่ำ (High tariff case) เช่น จีนถูกสหรัฐเก็บภาษี 145% และจีนตอบโต้ 146% ขณะที่ภาษี Reciprocal tariff เป็นไปตามที่ประกาศ เป็นต้น เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 2.2% และปริมาณการค้าโลกจะขยายตัว 0.5%
อย่างไรก็ตาม ภายใต้กรณีฐาน (Base case) สศช. คาดว่า ในปี 2568 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทย 37 ล้านคน และมีรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.71 ล้านล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33.5-34.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 65-75 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
@หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจปี 68 โต 1.3-2.3%
นายดนุชา กล่าวต่อว่า สศช.ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยเศรษฐกิจไทยปี 2568 ซึ่งอ้างอิงจาก 3 ฉากทัศน์ คือ กรณีฐาน (Base case) กรณีสูง (Low tariff case) และกรณีต่ำ (High tariff case) โดยคาดว่าเศรษฐกิจปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 1.3-2.3% โดยมีค่ากลาง 1.8% จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจปี 2568 จะขยายตัวที่ 2.3-3.3% เนื่องจากคาดว่าการลงทุนเอกชนจะหดตัว -0.7% การบริโภคเอกชน ขยายตัว 2.4% และมูลค่าการส่งออกขยายตัว 1.8% ในขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัว 5.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.0-1.0% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.5% ต่อจีดีพี
“กรณีที่เป็นกรณีต่ำ (High tariff case) ซึ่งเป็นกรณีเลวร้ายที่สุด เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 1.3% แต่ถ้าเป็นกรณีสูง (Low tariff case) คือ คุยกันได้รู้เรื่องทั้งหมด ทุกอย่างปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ 2.3%" นายดนุชา กล่าว
สำหรับปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยปี 2568 ได้แก่ 1.การเพิ่มขึ้นของแรงสนับสนุนของการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน ซึ่งจะต้องมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายหรือเกินเป้าหมาย 2.การขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และ 3.การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มตลาดระยะไกลที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น
ส่วนข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปี 2568 ได้แก่ 1.แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ซึ่งขณะนี้การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับประเทศต่างๆยังไม่ได้ข้อยุติ ขณะที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัว 2.การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า โดยการขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ที่เรียกเก็บต่อประเทศไทยในอัตราที่สูง ซึ่งรวมถึงภาษีนำเข้าสินค้าแบบเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะภาษีนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์
2.ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ภายใต้มาตรฐานสินเชื่อที่มีความเข้มงวดสูง และแม้ว่าหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แต่ยังต้องมีการบริหารคุณสภาพสินเชื่อ เพื่อไม่ให้ Special Mention Loan (SM) หรือหนี้คงค้างระหว่าง 1-3 เดือน เปลี่ยนมาเป็นหนี้เสีย (NPLs) และ 4.ความเสี่ยงจากความผันผวนของภาคการเกษตร โดยผลผลิตเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จะสร้างแรงกดดันให้ราคาสินค้าเกษตรลดลง โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย จึงต้องมีมาตรการรองรับเพื่อช่วยให้ราคาสินค้าเกษตรมีเสถียรภาพมากที่สุด
@เสนอ 6 แนวทางบริหารเศรษฐกิจปี 68
นายดนุชา กล่าวว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2568 ควรให้ความสำคัญกับ 1. การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วเพื่อรักษาแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 และงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี ไม่ให้ต่ำกว่า 70% และ 90% ของกรอบงบลงทุนรวม
2.การดำเนินการเพื่อรองรับการยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศสำคัญ ประกอบด้วย (1) การเจรจาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับสหรัฐฯ และหาแนวทางในการลดการเกินดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ โดยควรพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าที่ไทยยังต้องพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และไทยไม่สามารถผลิตได้เพียงพอเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศ รวมทั้งการพิจารณาลดอัตราภาษีนำเข้าและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีโดยคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน และการหาแนวทางการเพิ่มการลงทุนโดยตรงของไทยในสหรัฐฯให้มากขึ้น
(2) การเร่งรัดการส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ไทยยังมีศักยภาพในการผลิตและสอดคล้องไปกับความต้องการของโลก ควบคู่ไปกับการขยายตลาดใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีน ควบคู่ไปกับการเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ
(3) การส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มโอกาสของสินค้าไทยในตลาดโลก โดยการทบทวนสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนผ่านรูปแบบการร่วมลงทุน (Joint Venture) และส่งเสริมการสร้างธุรกิจเกี่ยวเนื่องในไทยเพื่อทำให้เกิดการถ่ายโอนองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทย และลดความเสี่ยงจากการใช้ไทยเป็นทางผ่านในการส่งออกสินค้า (Rerouting) และสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศต่ำ พร้อมทั้งการทบทวนสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยกำหนดเงื่อนไขการใช้วัตถุดิบและการจ้างแรงงานภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น
(4) การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และ (5) การเตรียมมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก
3.การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยมุ่งเน้น (1) การปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าให้มีความเข้มงวดรัดกุมมากขึ้นโดยเฉพาะตามแนวชายแดน และเร่งออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมสินค้านำเข้า รวมทั้งการเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ที่นำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน (2) การดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย หลบเลี่ยงภาษี หรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจ รวมทั้งการเพิ่มความเข้มงวดและประสิทธิภาพในการตรวจสอบและป้องกันการลักลอบการนำเข้าสินค้าตามแนวชายแดน
และ (3) การตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุ่มตลาด รวมทั้งการใช้มาตรการและวิธีการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศผู้ส่งออกสำคัญ และการสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยื่นคำขอและไต่สวนการใช้มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด การอุดหนุน และมาตรการปกป้องจากการนำเข้า (AD/CVD/AC) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย โดยการยกระดับการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าแบบเข้มข้น และเร่งปรับปรุงบัญชีสินค้าที่อยู่ภายใต้การเฝ้าระวัง เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้าส่งออกจากไทยว่าเป็นไปตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่ได้ทำข้อตกลงไว้กับประเทศคู่ค้า
4.การให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ประสบปัญหาด้านการเข้าถึงสภาพคล่องเนื่องจากคุณภาพสินเชื่อปรับลดลงต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ SMEs และการยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้ถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เพื่อให้ลูกหนี้โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ SMEs ได้รับความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้และสามารถชำระหนี้ได้อย่างเหมาะสมตามศักยภาพ
5.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูเพาะปลูก 2568/2569 ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการลงทุนด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเพิ่มศักยภาพการเก็บน้ำต้นทุน รวมไปถึงบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนโดยการปรับแผนระบายน้ำและเตรียมพื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบของอุทกภัยและเพื่อจัดสรรน้ำให้เกษตรกรและประชาชนใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมในช่วงฤดูแล้ง และการสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อยกระดับผลิตภาพทางการผลิต
6.การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อช่วยขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง รวมถึงการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิ สนามบิน/เที่ยวบิน กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก การบริหารจัดการพื้นที่ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
“แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 1/2568 จะขยายตัวได้ดี เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะช่วงเวลา ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศ Reciprocal tariffs ออกมา ทำให้ผู้นำเข้าสินค้าในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐที่มีการเร่งนำ ฉะนั้น ในช่วงถัดไป สถานการณ์จะมีความผันผวนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้า การลงทุน และอัตราแลกเปลี่ยน ฉะนั้น เศรษฐกิจไทยในช่วงถัดไปมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง
ดังนั้น จึงอยากขอให้ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจต่างๆ ต้องเตรียมการ เพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของการค้า และเศรษฐกิจโลกในช่วงถัดไป ส่วนประชาชนก็อยากจะขอให้ทุกท่านเตรียมความพร้อม การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันต้องมีความรอบคอบมากขึ้น เพื่อให้ผ่านช่วงเวลานี้ให้ได้ ขณะที่รัฐบาลจะมีมาตรการรองรับออกมา” นายดนุชา กล่าว
อ่านประกอบ :
‘สภาพัฒน์’เผยไตรมาส 4/67 ว่างงาน 3.6 แสนคน-หนี้ครัวเรือนขยายตัวชะลอลง
‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 4/67 ขยายตัว 3.2% ทั้งปี 2.5%-คงคาดการณ์เศรษฐกิจ 68 โต 2.3-3.3%
‘สภาพัฒน์’เผยไตรมาส 3/67 ว่างงาน 4.1 แสนคน-‘หนี้เสีย’แตะ 1.16 ล้านล้าน ขยายตัว 12.2%
‘สภาพัฒน์’เผยจีดีพีไตรมาส 3/67 โต 3%-คาดทั้งปี 2.6% จับตาผลกระทบสหรัฐฯกีดกันทางการค้า
สศช.เผย‘ว่างงาน’ไตรมาส 2/67 แตะ1.07% เพิ่มขึ้นครั้งแรกหลังโควิด-NPLs หนี้ครัวเรือน 2.99%
‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/67 โต 2.3% คาดทั้งปี 2.3-2.8%-หนุน‘รัฐบาลใหม่’กระตุ้นเศรษฐกิจ
‘สศช.’ห่วงNPLสินเชื่อบ้านโต 12.4%-เผย'หนี้เสีย' 3 ใน 4 เป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย
‘สศช.’เผยเศรษฐกิจไตรมาส 1/67 ขยายตัว 1.5% หั่นคาดการณ์ GDP ทั้งปีเหลือ 2-3%
‘สภาพัฒน์’เผยจ้างงานไตรมาส 4/66 โต 1.7%-‘หนี้เสีย’ครัวเรือน’แตะ 1.52 แสนล้าน เพิ่ม 7.9%
‘สศช.’เผยเศรษฐกิจไตรมาส 4/66 โตแค่ 1.7% ทั้งปีขยายตัว 1.9%-หั่นเป้าปี 67 เหลือ 2.2-3.2%
'สศช.'เผยไตรมาส 3/66 ค่าจ้างโต 9%-ว่างงาน 0.99% ห่วงลูกหนี้'รหัส 21'พุ่ง 4.9 ล้านบัญชี
สศช.เผยGDPไตรมาส 3/66 โต 1.5% คาดทั้งปี 2.5%-ปีหน้า 2.7-3.7% ยังไม่รวมแจก'หมื่นดิจิทัล'
‘สศช.’เผยคนอายุน้อยกว่า 30 ปี‘หนี้เสีย’พุ่ง-ไตรมาส 2/66 ‘จ้างงานโต-ค่าจ้างแท้จริงเพิ่ม’
เศรษฐกิจไทยโตต่ำคาด! สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 2/66 ขยายตัวแค่ 1.8%-หั่นเป้าทั้งปีเหลือ 2.5-3%
จ้างงานโต-ว่างงานลด! ‘เลขาฯสศช.’ห่วงขึ้น‘ค่าจ้าง’เท่ากันทั้งปท.-ระเบิดเวลาหนี้ครัวเรือน
สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 1/66 โต 2.7% คาดทั้งปี 2.7-3.7%-แนะ‘รบ.ใหม่’รักษาวินัยการเงินการคลัง
'สศช.'ห่วงคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มี'หนี้เสีย'บัญชีละ 7.7 หมื่น-ไตรมาส 4/65 ว่างงาน 4.6 แสนคน
เศรษฐกิจโตต่ำคาด! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 4/65 ขยายตัว 1.4%-หั่นจีดีพีปี 66 เหลือ 2.7-3.7%
‘สศช.’หวั่นขึ้นค่าจ้าง 600 บ. กดดันอุตฯปลดคนงาน-รัฐปรับฐานเงินเดือน‘ขรก.’ทำภาระงบเพิ่ม
เงินเฟ้อฉุด‘ค่าจ้างที่แท้จริง’ไตรมาส 3 หด 3.1%-สศช.ห่วงกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไปหนี้เสียพุ่ง
‘สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% คาดทั้งปี 3.2%-มองปี 66 เศรษฐกิจโต 3-4%
‘สศช.’เผย ‘ผู้ว่างงาน’ ไตรมาส 2/65 ลดเหลือ 5.5 แสนคน-หนี้ครัวเรือน 89.2% ต่อจีดีพี
บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยวเร่งตัว! ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 2/65 โต 2.5% มองทั้งปี 2.7-3.2%
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%